โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เผยแนวโน้มเด็กไทยยุคดิจิทัลไม่อยากเป็นลูกจ้าง อยากเป็นนายตัวเอง

BLT BANGKOK

อัพเดต 23 ม.ค. 2562 เวลา 05.43 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2562 เวลา 04.02 น.
505827ecf7f604be67b87ae345fe7acc.jpg

ไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ประเทศ 4.0 อีกทั้งยังเริ่มเข้าสู่ระบบการเงินแบบ Cashless Society ในยุคที่ Digital Disturb ซึ่งพบว่าเยาวชนไทย กว่าร้อยละ 94 ชอบดูยูทูปและกว่าร้อยละ 28 ชอบเล่นเกมส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กๆ นำกิจกรรมความชอบในยุคดิจิทัลเหล่านี้มาเป็นตัวตั้งในการประกอบอาชีพในอนาคต
สถานการณ์การศึกษาของเยาวชนไทย 
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่อายุระหว่าง 10-24 ปี ประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งกำลังจะเติบโตขึ้นเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต ขณะที่ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2558-2559 ชี้ให้เห็นว่า ยังมีเด็กวัยมัธยมศึกษาร้อยละ 14 ไม่ได้เข้าเรียน
นอกจากนี้ สถิติแรงงานปี 2560 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศยังระบุว่า ประมาณร้อยละ 15 ของเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปี ในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลประชาคมระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลก ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน และกว่า 617 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 60 ทั่วโลก มีชีวิตไม่มั่นคง ไม่รู้หนังสือและการคำนวณขั้นพื้นฐาน มีเด็กยากจน ด้อยโอกาส และอาศัยในพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งมีความเสี่ยงขาดการศึกษา 

ข้อมูลเหล่านี้อาจจะกำลังบอกว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี ยังมีกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าไม่ถึงการศึกษาอยู่มาก ซึ่งหากกำลังแรงงานของประเทศในอนาคตเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงแหล่งการเรียนรู้ นั่นย่อมแสดงถึงศักยภาพของประเทศและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ล่าสุด องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับผู้แทนระดับสูงกว่า 150 คนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานระหว่างประเทศ ร่วมลงนามเพื่อผนึกความร่วมมือในการพัฒนาเด็กในประเทศไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงพลังแห่งความมุ่งมั่นในการสนับสนุนให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้รับโอกาสที่เท่าเทียมและสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาและสร้างทางออกอันสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่สดใสแก่เด็กทุกคน
คุณโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย เปิดเผยว่า เราจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงานเพื่อตอบสนองกับความท้าทายใหม่ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กและเยาวชนมีความพร้อมสำหรับอนาคต การร่วมมือกันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการวางแผนและการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีความรู้และทักษะที่จำเป็นในอนาคต

เด็กไทยยุคใหม่ต้องการเป็นนายตัวเอง
โดยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” จากประชาชนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป พบว่า เมื่อถามถึงอาชีพในฝันที่เด็กและเยาวชนไทยอยากเป็น ในยุคดิจิทัล 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 15.83 อันดับ 2 อาชีพครู/อาจารย์ ร้อยละ 12.40 อันดับ 3 อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) ร้อยละ 11.87 อันดับ 4 อาชีพแพทย์/พยาบาล ร้อยละ 11.61 และอันดับ 5 อาชีพวิศวะ/สถาปนิก/นักออกแบบดีไซน์ ร้อยละ 6.86
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับอาชีพที่ผู้ปกครองอยากให้บุตรหลานเป็น ในยุคดิจิทัล 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1  ร้อยละ 30.08 ระบุว่า เป็นอาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 15.82 อาชีพแพทย์/พยาบาล อันดับ 3 ร้อยละ 13.36 ประกอบธุรกิจส่วนตัว อันดับ 4 ร้อยละ 7.30 อาชีพครู/อาจารย์ และอันดับ 5 ร้อยละ 7.18 อาชีพนักธุรกิจ  
ขณะที่พบข้อมูลน่าสนใจจากผลสำรวจของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ซึ่งสำรวจเด็กไทยที่มีอายุ 7-14 ปี จำนวน 2,684 คนทั่วกรุง พบว่า อาชีพที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ เช่น ยูทูบเบอร์ และ โปรแกรมเมอร์ เด็กไทยให้ความสนใจมากขึ้นในปีนี้
นอกจากนี้ นักกีฬาอีสปอร์ต เกมเมอร์ และนักแคสเกม คืออาชีพใหม่ที่เด็กไทยให้ความสนใจ เพราะเด็กไทยชอบเล่นเกมส์จึงคิดว่าเป็นอาชีพที่สนุก สามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่ชอบและสร้างชื่อเสียงได้ สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าเด็กไทย ร้อยละ 94 ชอบดูยูทูบ และกว่าร้อยละ 28 ชอบเล่นเกมส์และคอมพิวเตอร์ และมีไอดอลในดวงใจเป็นคนดังที่ประกอบอาชีพเหล่านี้

Youtube โรงเรียนของเด็กยุคใหม่
สำหรับในส่วนของภาคเอกชนเอง ก็ได้มองเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนในโลกเทคโนโลยี โดยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิ-เคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จับมือกับนักสร้างคอนเทนต์ช่อง YouTube เกี่ยวกับเด็กที่มียอด Subscribers สูง อาทิ ครูนกเล็ก, Lovely Kids Thailand, Pororo และ Madame TV ร่วมกันสนับสนุนเนื้อหาเพื่อเด็ก ทั้งสาระและบันเทิง
นายปานเทพย์ นิลสินธพ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริการและการขายดิจิทัล กล่าวว่า ดีแทค ได้มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับเด็กและเยาวชนโดยออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึงร้อยละ 82
“YouTube เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เด็กใช้เวลาดูทุกวัน ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของเด็กที่จะเข้าถึงคอนเทนต์ ที่เกิดจากเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมกับเด็ก เราจึงได้ร่วมมือกับ  YouTube Kids แอปพลิเคชัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม Online Ecosystem ที่ดีต่อเด็กและ เยาวชนไทย เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนเสริมสร้างจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน”
นอกจากนี้ YouTube Kids ยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองสร้างการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับครอบครัว มีวินัยในการใช้อินเทอร์เน็ต โดยสามารถจำกัดเวลาในการใช้ของบุตรหลาน ทำให้มีช่วงเวลาแห่งครอบครัวที่มีความสุขและความบันเทิงไปด้วยกันอย่างมั่นใจ
การจะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในยุคที่แวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ผู้ปกครองต้องปกป้องภัยจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้เทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งการที่ผลสำรวจชี้ว่า เด็กไทยให้ความสนใจอาชีพอย่าง ยูทูบเบอร์ หรือแม้แต่นักกีฬาอีสปอร์ต ก็เป็นสัญญาณชี้ว่า เยาวชนไทยได้นำกิจกรรมความชอบในยุคดิจิทัลมาเป็นตัวตั้งในการเลือกประกอบอาชีพสู่อนาคต 
___
คุณโธมัส ดาวิน - ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย
“เด็กและเยาวชนต้องมีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อสามารถใช้ชีวิตและทำงานในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ การร่วมมือกันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการวางแผนและการหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพ”

คุณจีรภัทร์ สุกางโฮง - ผู้ผลิตคอนเทนต์ ใน YouTube ช่องครูนกเล็ก
“เด็กไทยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  YouTube เปรียบเสมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีชั่วโมงเรียนมากกว่า ชั่วโมงเรียนในโรงเรียน คนที่ทำคอนเทนต์จึงเปรียบเสมือนครู ที่ต้องรับผิดชอบ สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีสาระบันเทิง และที่สำคัญพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องคอยสอดส่องดูแล ควบคุม การเข้าถึงคอนเทนต์ของเด็กด้วย”

New Generation of Thais Eye to Be Self-Employed, Not Employed
At present, Thais aged 10-24 years total around 12 million but it was found that 14% of young Thais, who should be attending middle schools, are not actually in class.
In addition, statistics collected by the International Labor Organization (ILO) suggested that, in 2017, 15% of Thais aged 15-24 years were actually not in school and did not receive any skill training.
Such information indicated that a considerable number of young Thais could be uneducated at times of ever-changing global circumstances — a situation that could hinder the country’s development.
Recently, UNICEF Thailand joined the Ministry of Foreign Affairs and several government agencies, representatives of the civil society, the private sector and international organizations in signing a pact to push for more child development in Thailand in order to help provide all children equal opportunities.
Meanwhile, a survey by NIDA Poll showed most children and youth in Thailand are wishing to be business owners, compared with 13.36% of parents, who want their children to achieve such a career goal.
Another study by Adecco, which asked 2,684 respondents aged 7-14 years in Bangkok, found more young Thais are interested in technology-related careers, such as YouTubers and programmers as well as online gamers because of the possibility to earn income from what they like and to make their names known.
Total Access Communication Public Company Limited (DTAC) is among local businesses that have has recognized this interest of Thai children and youth and the company has collaborated with successful online content creators on YouTube in producing children-friendly content to provide them with a more appropriate online ecosystem and more inspiration. 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0