โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เป็นสังคมสูงวัย และเด็กก็ไร้โอกาสเติบโต เมื่อความยากจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเด็กญี่ปุ่น

The MATTER

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 10.19 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 03.19 น. • Thinkers

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมก็เห็นคนแชร์เรื่องที่ว่าญี่ปุ่นกำลังจะเป็นประเทศที่ล้มละลาย ยิ่งก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีพูดในสภาว่า หลังเกษียณควรมีเงินเก็บประมาณ 20 ล้านเยน เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างไม่ลำบาก (แม้จะมีเงินบำนาญของรัฐด้วย) ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะแม้เราจะมีภาพว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศหัวแถวของโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสาม แต่ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็มีปัญหารุมเร้ามานานตั้งแต่ฟองสบู่แตก กลายเป็น Lost Decades (ที่ต้องเติม s เพราะเกินสองทศวรรษแล้ว) ต่อให้พยายามดัน Abenomics แค่ไหน คนก็ยังคงกลัวอนาคตข้างหน้าของประเทศ เพราะประชากรสูงอายุเยอะมาก เด็กเกิดน้อยลง จนกลายเป็นพีรามิดหัวกลับ ยิ่งทำให้ห่วงว่า อนาคตจะมีแรงงานเข้ามาทำในส่วนการผลิตสร้างรายได้ให้กับสังคมเพียงพอหรือไม่

ซึ่งปัญหาพีรามิดหัวกลับ และเด็กเกิดน้อย กลายเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น ที่ใหญ่จนหลายๆ คนมองข้ามปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ 'คุณภาพชีวิตของเด็ก' เพราะในปัจจุบัน ญี่ปุ่นประสบปัญหา ประชากรเด็ก 1 ใน 7 คน ตกอยู่ในสภาวะยากไร้ ฟังดูอาจจะไม่น่าเชื่อ แต่ในหมู่ประเทศ OECD ญี่ปุ่นจัดว่าเป็นประเทศที่มีปัญหานี้ระดับต้นๆ เลยทีเดียว

ที่บอกว่าตกอยู่ในภาวะยากไร้ ในความหมายจริงๆ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นจน แต่ต้องไปมองที่ตัวผู้ปกครองนั่นเองว่ามีศักยภาพในการหาเงินมาเลี้ยงดูเด็กแค่ไหน ซึ่งเขาก็แบ่งเป็นระดับรุนแรงคือ ไม่สามารถซื้อปัจจัยที่จำเป็นได้ กับภาวะยากไร้เมื่อเทียบกับรายรับเฉลี่ยของสังคม ถ้าหากผู้ปกครองหนึ่งคนและเด็กหนึ่งคน มีรายรับไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายรับเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่น (อาจจะวัดจากค่าเฉลี่ยของจังหวัดหรือเขตแทนก็ได้ แต่ในบทความขอใช้ค่าเฉลี่ยระดับประเทศเพื่อสะดวกต่อการทำความเข้าใจ)

ซึ่งในปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยก็คือ 2.45 ล้านเยนต่อปี ดังนั้น คนที่อยู่ในภาวะยากไร้เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยคือ มีรายรับต่อปีต่ำกว่า 1.22 ล้านเยน หรือประมาณ แสนเยนต่อเดือน ต่อผู้ปกครองหนึ่งคนและเด็กหนึ่งคน ซึ่งถ้าเป็นครอบครัวแบบมาตรฐาน มีพ่อแม่และลูกสองคน ก็รวมกันได้เป็น รายรับตกเดือนละประมาณสองแสนเยน

รายรับรวมสี่คน สองแสนเยนต่อเดือน ถามว่า พอกินพออยู่ได้มั้ย ถ้าทำกิจกรรมท้าท้ายเหมือนรายการโกโกริโกะเกมกึ๋ย ก็คงจะอยู่ได้นั่นล่ะครับ แต่ในชีวิตจริง การใช้ชีวิตด้วยรายรับเท่านี้ กับครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย และไม่แปลกอะไรที่ครอบครัวที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้ต้องตัดสินใจ ตัดอะไรบางอย่างออกจากชีวิตพวกเขา บางคนถึงขนาดตอบว่าไม่กล้าพาลูกไปรักษาที่โรงพยาบาล

บางครอบครัวก็ไม่มีเงินพอจะซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้ลูก

แน่นอนว่าเงินที่ใช้กับการลงทุนเพื่อการศึกษาก็ไม่มี

ฟังดูก็น่าเหนื่อยแล้ว แต่นั่นคือครอบครัวแบบมาตรฐาน ยังมีครอบครัวที่เจอปัญหาหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิมคือ ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือ Single Mother ที่มีจำนวนไม่น้อยในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่า เป็นคนกลุ่มน้อย (minority) ของสังคมญี่ปุ่นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้าถูกนำเสนอในรายการทีวีก็มักจะถูกบิดให้เป็นเนื้อหาชวนซึ้ง (เคยเขียนถึงไปในบทความ Inspiration Porn ก่อนหน้านี้) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมญี่ปุ่นคือหนักหนาสาหัสมาก นอกจากจะต้องดูแลลูกเพียงคนเดียวแล้ว สภาพระบบการจ้างงานของสังคมญี่ปุ่นก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้พวกเธอได้ทำงานในสังคมได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเจอในสังคมญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่การเลี้ยงดูลูกตัวเองก็หนักหนาสาหัสแล้ว แถมระบบการจ้างงานของญี่ปุ่นมักจะให้ความสำคัญกับพนักงานชายมากกว่า รวมถึงพนักงานหญิงก็ไม่ค่อยมีโอกาสก้าวหน้าในสายงานมากนัก เพราะมักจะถูกมองว่า สุดท้ายก็แต่งงานไปมีครอบครัว มีลูกแล้วก็ลาออกจากงาน กลายเป็นอคติที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่

นี่ขนาดแค่พนักงานหญิงที่ไม่มีครอบครัวยังถูกมองอย่างนี้ พอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องหางานยิ่งทำให้ยากเข้าไปใหญ่ จะสมัครงานที่ไหนก็แทบไม่มีโอกาส สุดท้ายก็มักจะได้ทำงานในลักษณะพนักงานไม่ประจำเสียมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่ารายรับก็น้อยกว่าพนักงานประจำ แต่ยังมีปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้นไปอีกทั้งเรื่องสวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะโดนเลิกจ้างโดยไม่มีเงินชดเชย

นอกจากเรื่องงานแล้วยังมีเรื่องการดูแลลูก

ที่เป็นเรื่องที่แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องขบคิดหนักมาก

เพราะปัญหาหนึ่งคือ จะฝากลูกกับใครเวลาไปทำงาน เพราะญี่ปุ่นเองก็ประสบปัญหาสถานดูแลเด็กอ่อนไม่เพียงพอต่อเด็ก ถึงขนาดที่ต้องลงชื่อรอคิวกันยาวๆ และรัฐบาลก็แก้ไม่ตก ฝากลูกไม่ได้ ก็ไปทำงานไม่ได้ บางคนกลางวันดูแลลูกเอง แล้วลูกนอนค่อยออกไปทำงาน กลายเป็นว่าก็โดนแจ้งเจ้าหน้าที่อีกว่าไม่ดูแลลูก เรียกได้ว่าไม่รู้จะไปทางไหนเลยทีเดียว

และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อดูตัวเลขแล้ว รายรับเฉลี่ยต่อหัวต่อปี ตกอยู่ที่ปีละ 2.45 ล้านเยนก็จริง แต่ในปี ค.ศ. 1997 ค่าเฉลี่ยรายรับเคยตกอยู่ที่ปีละ 2.97 ล้านเยนนะครับ ลองคิดดูว่า เดือนนึงหายไปประมาณสี่หมื่นกว่าเยน แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเงินเฟ้อ ยิ่งคิดก็ยิ่งเหนื่อยไปใหญ่ ว่าเด็กที่โตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้จะเป็นอย่างไร

อย่างที่บอกไปว่า หลายครอบครัวก็เลือกตัดสิ่งที่ตัดออกไปได้ ขนาดค่ารักษาพยาบาลยังพยายามตัดออกไป แต่กลับกลายเป็นว่า กลุ่มครอบครัวที่มีรายรับจัดอยู่ในเกณฑ์ยากไร้ กลับเป็นกลุ่มที่ตัวเด็กมีสมาร์ตโฟนใช้สูง ซึ่งก็อาจจะทำให้คนดราม่าว่า ซื้อของพวกนี้ให้ใช้ได้ ทำไมจน ก็ต้องเข้าใจว่า สำหรับครอบครัวเหล่านี้ สมาร์ตโฟนกลายเป็นเครื่องมื่อสำคัญในการใช้ชีวิต เพราะว่าช่วยให้เด็กติดต่อกับผู้ปกครองที่ออกไปทำงานได้ตลอด หรือให้เศร้าหน่อยก็ อย่างน้อยก็เป็นเพื่อนกับเด็กเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ บางทีก็ใส่แว่นของเราไปตัดสินเขาไม่ได้หรอกครับ แน่นอนว่าเด็กหลายคนก็ไม่มีโอกาสได้เรียนเสริม ไม่มีโอกาสทำกิจกรรมเสริม หลายคนก็ต้องช่วยทำงานบ้านหรือดูแลพี่น้องตัวเอง

ที่น่าเศร้าขึ้นไปอีกคือ เมื่อสำรวจสอบถามเด็กกลุ่มนี้แล้ว

จำนวนมากมักจะขาดความมั่นใจในตัวเอง

หลายคนก็คิดว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีโอกาสได้เรียน หลายคนก็คิดว่า พยายามไปก็ไม่มีค่าอะไร โลกนี้ไม่ใช่ว่าพยายามแล้วจะได้ผลตอบแทนจากหยาดเหงื่อของตัวเองซะหน่อย หันไปดูผู้ปกครองตัวเองก็เห็นแต่ผู้ใหญ่ที่เหนื่อยหมดสภาพ กลายเป็นว่า กลัวไปอีกว่าอนาคตตัวเองก็คงเป็นแบบนี้เหมือนกัน และแน่นอนว่า สุดท้ายแล้ว หลายต่อหลายคน ก็ได้เรียนจบแค่ระดับมัธยมต้น ที่เป็นการศึกษาภาคบังคับ

มาถึงจุดนี้ เราอาจจะโทษว่า ก็เป็นปัญหาของปัจเจก ไม่รู้จักจัดการเอง ไม่รู้จักทำนั่นนี่ แต่ของแบบนี้ก็ใช่ว่าจะผิดที่เจ้าตัวตลอดหรอกครับ อย่างที่บอกไปว่า บางคนก็ไม่ได้มีโอกาสเหมือนคนอื่นแต่แรก ครอบครัวจนมาก่อน สุดท้ายก็ไม่มีโอกาสพัฒนาตัว พ่อแม่ยากไร้ ลูกก็โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ยากไร้ต่อ เมื่อสังคมไม่ได้มี safety net ไม่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีโอกาสเพียงพอ มันก็ก่อให้เกิดปัญหาอย่างนี้ล่ะครับ

แล้วถ้าจะมองว่า เออ มันก็ปัญหาปัจเจกอยู่ดี ไม่เกี่ยวกับชั้น จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว

ปัญหาเด็กตกอยู่ในภาวะยากไร้ เป็นปัญหาของทุกคนในสังคมญี่ปุ่นครับ ไม่ใช่แค่ปัญหาของครอบครัวเหล่านั้นเท่านั้น เพราะถ้าเรามองในแง่รวมแล้ว ถ้าหากไม่มีการปรับแก้ปัญหานี้แล้ว ก็จะมีปัญหากับเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพราะว่า ถ้าหากลองคำนวณเด็กที่ตกอยู่ในภาวะยากไร้ในปัจจุบันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี เรียนถึงแค่ระดับมัธยมต้นแล้วออกมาหางาน จากการคำนวนรายได้เฉลี่ยตลอดชีพของคนที่จบระดับมัธยมต้น กับจบระดับมหาวิทยาลัย แล้วคำนวณต่อไปถึงจำนวนภาษีเงินได้และเงินบำนาญที่จะจ่ายกลับให้ประเทศแล้ว

หากปล่อยไว้แบบนี้ แล้วลองรวมรายรับของเด็กกลุ่มนี้ทั้งหมดในอนาคต จากการคำนวณสองรูปแบบแล้ว ถ้าไม่มีการแก้ปัญหา รายรับโดยรวมของเด็กทั้งหมดจะหายไปรวม 43 ล้านล้านเยน (จากการรวมรายรับตลอดชีพ) ซึ่งก็หมายถึงเงินที่จะเข้ารัฐหายไปประมาณ 16 ล้านล้านเยน คิดแบบนี้แล้ว เริ่มเข้าใจหรือยังครับว่า

การยกระดับประชากรโดยรวม ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของปัจเจก

ว่ายังพยายามไม่พอ สำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศแค่ไหน

ยังดีที่มีคนเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรปล่อยไว้ ซึ่งการจะไปช่วยแก้ปัญหารายรับครอบครัวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น จึงมีความพยายามในการที่จะช่วยเรื่องอาหารการกินของเด็กและครอบครัว เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้บ้าง (ตัวอย่างเช่น ปิดเทอม เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ก็ต้องกินอาหารเที่ยงที่บ้านซึ่งก็เป็นรายจ่ายเพิ่มมาอีก) โดยจัดตั้งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ซึ่งก็มีอยู่จำนวนหนึ่งครับ

บางที่ก็มีไอเดียน่าสนใจ เช่น จังหวัดซากะ ที่อาศัยการคืนภาษีให้ท้องถิ่น (เคยเขียนถึงไว้ในบทความ Hometown Tax : Crowdfunding ในรูปแบบภาษี) โดยเปิดให้คนเลือกที่จะแบ่งภาษีเงินได้ที่จะต้องจ่าย เอามาลงที่ NPO ที่จังหวัดนี้โดยตรง เพื่อการช่วยเหลือเรื่องอาหารของเด็ก ซึ่งก็น่าสนใจสำหรับครอบครัวที่ต้องการรับการช่วยเหลือ ก็สามารถทำการสมัครขอรับความช่วยเหลือต่างๆ ผ่าน Line ได้โดยตรง แก้ปัญหาที่พ่อแม่ต้องทำงานจนไม่มีเวลาไปกรอกเอกสารกับหน่วยงานต่างๆ หรือกลัวสายตาคนมองไม่ดีว่าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เท่าที่ไล่ดูก็มีหลายหน่วยงานที่พยายามช่วยกันแก้ปัญหานี้อยู่ครับ (และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วยเหมือนกัน)

อย่างที่บอกไปครับว่า ปัญหาเหล่านี้บางทีมันก็เรื้อรังและมีสาเหตุมากมายกว่าที่คิด การจะชี้นิ้วไปว่าคนอื่นว่าไม่พยายาม ใช้เงินไม่เป็น หรือเอาแต่รอความช่วยเหลือ โดยไม่ได้ดูที่มาที่ไปเลย ก็คงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีนัก หรือการหว่านเงินเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเลือกตั้งก็คงไม่รู้ว่าเป็นการพยายามแก้ปัญหาหรือต้องการคะแนนเสียงกันแน่ ทางที่ดีคือการพยายามช่วยกันเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนอื่นในสังคมด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ก็กลับมาสู่สังคมของเราเองนั่นล่ะครับ (และแน่นอนว่า อย่าลืมจี้รัฐให้ตระหนักถึงปัญหาอย่างจริงจังด้วย เรื่องสถานดูแลเด็กนี่แม่ลูกอ่อนโวยนายกฯ อาเบะมาหลายปีล่ะครับ จนบางเขตไม่รอ จัดการแก้ปัญหาด้วยตัวเองไปก่อนแล้ว)

อ้างอิงข้อมูลจาก

bunshun.jp

www.nhk.or.jp

www.hokenmarket.net

toyokeizai.net

www.sankei.com

npojcsa.com

www.furusato-tax.jp

kodomo-takushoku.jp

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0