โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เป็นนายตัวเองสบายจริงไหม? คุยกับสองหนุ่มสาวรุ่นใหม่หลังทิ้งงานประจำ ออกมาทำกิจการของตัวเอง

HealthyLiving

อัพเดต 27 มิ.ย. 2562 เวลา 10.47 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
เป็นนายตัวเอง-สบายจริงไหม_01 (1).jpg

 เพราะชีวิตมนุษย์ออฟฟิศในปัจจุบันเพียงแค่เริ่มต้นวันก็เหนื่อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่แสนเร่งรีบและเบียดเสียดในทุกเช้า การต้องไปสู้รบปรบมือกับคนที่ไม่อยากเจอ ปัญหาร้อยแปดในที่ทำงาน ทั้งจากลูกน้อง ลูกค้า เจ้านาย ความเหนื่อยสะสมจากภาระการงานที่ล้นมือจนไม่มีเวลาพักผ่อน หรืออาจจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนที่หลายคนมองว่า ไม่คุ้มเหนื่อย มีก็แค่พอใช้แต่ไม่เหลือเก็บ 

ไม่แปลกที่หลายคนอยากจะออกจากวงจร และมีความฝันที่อยากจะเป็นนายตัวเองด้วยการทำธุรกิจส่วนตัว  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลในเรื่องรายได้ ที่ดูเหมือนจะ “รวยเร็ว” เหตุผลทางด้านอิสรภาพ ที่ดูเหมือนจะ “มีเวลา” มากขึ้น เหตุผลทางด้านสุขภาพ ทั้งกายและใจ ที่ดูเหมือนจะ “เหนื่อยน้อยลง” เพราะไม่ต้องสู้รบปรบมือหรือแบกรับความเครียดความกดดันจากเจ้านาย 

แต่ชีวิตผู้ประกอบการที่แท้จริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ? ลองมาฟังเรื่องเล่าจากสองอดีตมนุษย์เงินเดือนที่ปัจจุบันได้ฝันตัวเองมาเป็นเจ้าของกิจการเต็มตัวกันดีกว่า กับ คุณหน่อง  ขวัญฤทัย อดีตนักโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของบริษัทโฆษณาเอง และคุณบี อดีตนักวางแผนสื่อ ที่กลายร่างมาเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น ควบตำแหน่งคุณพ่อลูกหนึ่ง

จุดเริ่มต้น : เพราะเวลาคือสิ่งที่ทั้งสองอยากได้กลับมามากที่สุด

“พี่ไม่ได้คิดเลยนะว่าอยากออกมาเปิดบริษัทหรืออะไร แค่อยากลาออกมาพักแปบนึง ตอนนั้นทำงานไม่ได้ใช้เงินเลย”คุณหน่องเล่าเมื่อเราถามถึงเหตุผลในการออกมาเปิดกิจการของเธอ เหตุผลหลักในตอนแรกคือเพียงแค่อยากออกมาพักเพราะทำงานเยอะมาตลอดหลายปี เหนื่อย เครียด เงินที่ได้มาก็แทบไม่ได้ใช้ แต่พอลาออกได้สักพักก็เริ่มมีคนมาชวนไปทำเป็นฟรีแลนซ์ ทำไปทำมางานเยอะขึ้น เลยต้องเปิดบริษัทขึ้นมาเพื่อจัดการเรื่องการเงินและภาษีให้เป็นเรื่องเป็นราว เรียกได้ว่าชีวิตไหลไปตามจังหวะ ไม่ได้มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ ตรงข้ามกับคุณบี ที่เริ่มต้นที่การทำงานประจำควบคู่ไปการทำธุรกิจร้านชาบูกับกลุ่มเพื่อน เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แต่พอธุรกิจชาบูล้นตลาด จึงผันตัวมาทำร้านอาหารกึ่งนั่งดื่มแบบญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าอิซากายะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบและใฝ่ฝันมานานแล้ว

“ตอนนั้นที่เริ่มลองทำร้านชาบู คือคิดว่าตัวเองทำได้และเป็นสิ่งที่อยากลอง แต่ตอนนั้นตัวเองก็ยังสนุกกับงานประจำอยู่เลยไม่คิดว่าต้องลาออก” คุณบีเล่าด้วยรอยยิ้ม “แต่พอชาบูมันเริ่มบูม คู่แข่งเริ่มเยอะเราเริ่มไม่สนุกแล้ว ต้องขยายธุรกิจไปทำอย่างอื่น ตอนนั้นพอดีมีร้านที่เราไปนั่งประจำเขาจะเซ้งต่อ เราเลยรวบรวมกำไรที่ได้มาจากร้านชาบูมาลงกับที่นี่ ซึ่งทุกอย่างตกแต่งด้วยตัวเองหมด ประกอบกับตอนนั้นภรรยาท้องพอดี เลยคิดว่าถ้าทั้งสองคนยังคงทำงานหนักอยู่อย่างนี้คงเลี้ยงลูกได้ไม่ดีแน่ เลยปรึกษากับภรรยาแล้วก็เป็นเราดีกว่าที่ออกมา มาดูลูกและมาดูร้านเต็มตัว” 

คุณบีกล่าวถึงช่วงเริ่มต้นของ ร้านอะบุริยะไท อิซากายะบาร์ ที่เปิดมาปีนี้เข้าปีที่ 5 แล้ว

จุดเปลี่ยน : สิ่งที่คิด VS สิ่งที่เป็น

“ตอนนั้นเราคิดว่ามันคือความฝัน คิดด้วยแพสชั่น คิดว่ามันจะดี คนจะต้องสนุกไปกับร้านเรา”“แต่พอวันที่จะเริ่มเปิดร้าน ดันตรงกับช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสียพอดี เสียใจก็เสียใจเรื่องในหลวง คือตอนนั้นบ้านเราก็โศกเศร้า แต่เรานี่โศกหนัก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือร้านเงียบ ในช่วงสองสามเดือนแรกไม่มีกำไรเลย” คุณบีกล่าวถึงช่วงเปิดร้าน ที่เป็นช่วงที่ดาวน์ที่สุดในชีวิต

“ตอนนั้นคิดอยากกลับไปทำงานประจำไหม” เราถาม“คิดสิ คิดทุกวัน แต่สิ่งที่ทำให้เราไม่กลับคือ เอาวะ ลองสู้ให้สุดดูก่อน เดี๋ยวสุดทางแล้วไม่ได้ยังไงค่อยว่ากัน ตอนนั้นก็พยายามตั้งสติ และประคองร้านไป จนสถานการณ์ค่อย ๆ กลับมาดีขึ้น”

สำหรับคุณหน่อง  โชคดีที่ในช่วงแรกธุรกิจของเธอดำเนินไปได้สวย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะสบายอย่างที่คิด

“ตอนนั้นดิจิทัลเอเจนซี่ ขนาดเล็กยังไม่บูมมาก มันพึ่งเริ่ม ๆ มี และด้วยความคล่องตัวในการทำงาน งบประมาณที่ควบคุมได้ งานมันเลยมีมาเรื่อย ๆ แต่ชีวิตก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดนะ”

“ก่อนลาออกพี่คิดว่า มาทำธุรกิจเองเนี่ยน่าจะชิลล์ดี ช่วงไหนไม่มีงานเราก็น่าจะไปเที่ยววันธรรมดาก็ได้ นาน ๆ ก็ได้ ประหยัดเงิน ไม่ต้องไปเบียดเสียดแย่งใครด้วย แต่จริง ๆ แล้วการมีบริษัทขนาดเล็กที่มีลูกน้องแค่ 2-3 คนเนี่ย เราต้องทำเกือบทุกอย่างด้วยตัวเองตลอดเวลา ไปเที่ยววันธรรมดาได้ก็จริง แต่ต้องเอาคอมไปด้วย ที่ ๆ ไปต้องมีสัญญาณเน็ต สัญญาณโทรศัพท์ ต้องเปิดมือถือตลอด เพราะเราหยุด แต่ลูกค้าไม่หยุดเหมือนเรานะ” คุณหน่องกล่าวเมื่อเราถามถึงชีวิตผู้ประกอบการมือใหม่ ที่เธอออกมาทำในช่วงแรก ๆ

ในส่วนของอำนาจการตัดสินใจ ที่ใคร ๆ อาจคิดว่าการเป็นเจ้านายคงมีอิสระ มีสิทธิในการควบคุมอะไรหลาย ๆ อย่างได้ตามใจ ไม่ต้องมาฟังคำสั่งเจ้านาย  คุณหน่องเล่าว่า“เรื่องอำนาจการตัดสินใจ สิ่งที่คิดก็เหมือนสิ่งที่เป็นนะ คือเราตัดสินใจเองได้ 100% จริง แต่การตัดสินใจนั้นส่งผลต่อคนเยอะมาก จะรุ่งก็เรา จะพังก็เรา ทำให้เราต้องคิดมากกว่าเดิมเยอะ”

สำหรับเรื่องรายได้ เธอกล่าวว่ายิ่งเสี่ยงมากโอกาสได้กลับมาก็สูงกว่า แต่โอกาสเสียก็สูงเช่นกัน 

“คนชอบคิดว่าเป็นพนักงานกินเงินเดือนไม่มีวันจะรวยได้หรอก แต่ถ้าคุณพัฒนาความสามารถของตัวเองเรื่อย ๆ หมั่นศึกษาหาความรู้เสมอ พี่ว่ามันก็ไม่มีวันจนนะ แต่ผู้ประกอบการเนี่ย รวยเร็วได้ แต่ก็จนเร็วก็เยอะเหมือนกัน เพราะนอกจากจะขึ้นกับความสามารถแล้ว ยังมีเรื่องจังหวะ โอกาสและโชคอีกนะ”
ปัญหาเดิม ๆ จบไป ความท้าทายใหม่ ๆ มาแทน

ในส่วนของปัญหาเดิม ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนต้องเจอไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง เรื่องรายได้ไม่พอใช้ เรื่องความไม่มีอิสรภาพทางด้านเวลา ทั้งสองให้คำตอบว่า ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงจริง แต่ก็กลับเจอปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาแทน

ทั้งคุณบีและคุณหน่องต่างบอกเหมือนกันว่าปัญหาใหญ่ ๆ จริง ๆ ไม่มี ส่วนใหญ่มีแต่ปัญหาจุกจิกรายวัน แต่ความท้าทายที่สำคัญคือ เรื่องความรับผิดชอบที่มากขึ้นมากกว่าทั้งคู่เล่าว่า ตอนทำงานประจำ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับงาน อย่างน้อยก็ไปบอกเจ้านายได้ มีคนช่วยคิด ช่วยจัดการ ช่วยรับผิดชอบ แต่พอวันนี้เราเป็นเจ้านายสูงสุดแล้วจะให้เดินไปบอกใคร  

“เมื่อก่อนลูกน้องทำงานไม่ดี ไปบอกฝ่ายบุคคลเลย ทีมพี่ขอเปลี่ยนคนใหม่นะ แต่ตอนนี้จะใจร้อนเหมือนเดิมไม่ได้ ถ้าลูกน้องทำงานไม่ดี เกิดเราไล่ออกแล้วใครจะทำงานให้เรา ก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ มีตรงไหนที่เราจะปรับปรุงและพัฒนาเขาได้บ้าง จะย้ายให้เขาไปอยู่งานที่เหมาะสมตรงไหนได้บ้าง จะคิดอย่างนี้มากกว่า” คุณหน่องกล่าว

“อย่างที่ร้านพี่เนี่ย ลูกน้องตีกันเราก็ต้องไปประกันตัว คนนั้นทำคนนี้ท้องเราก็ต้องช่วยไกล่เกลี่ย นั่นเรื่องลูกน้องนะ ไหนจะเรื่องการดูแลลูกค้า การดูแลคุณภาพอาหาร การทำความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ระบบบัญชี ทำการตลาด อะไรอย่างนี้อีกนะ ทุกอย่างมันคือความรับผิดชอบของเราทั้งหมด” คุณบีกล่าว

นอกจากปัญหาใหม่ ๆ ที่ประดังประเดเข้ามา ในช่วงที่แผนธุรกิจไม่เป็นดังหวัง ปัญหาเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะความเครียด ก็ยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องเจอ

“สำหรับพี่มันไม่มีเครียดที่สุด มันเครียดเป็นช่วง ๆ มากกว่า เมื่อก่อนเรากดดันตัวเองมาก มันต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องได้ แก้แล้วต้องจบ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าใจว่าเราอยู่ในธุรกิจแบบนี้ ตำแหน่งตรงนี้ มันก็จะมีปัญหามีความท้าทายเข้ามาเรื่อย ๆ ในทุกวันแหละ ไม่จบหรอก เพราะฉะนั้นการอยู่กับปัจจุบันคือดีที่สุด” 

“ความเครียดตอนนั้นนอกจากตัวเราแล้ว เราคิดถึงลูกน้อง ถ้าเกิดว่าร้านต้องปิดจริง ๆ เราจะทำยังไง มีลูกน้องตั้ง 40 คนในตอนนั้น ไหนจะครอบครัวอีก ลูกเราก็กำลังโต ค่าเทอมลูกเอยอะไรเอย แต่ทุกปัญหาแก้ได้ด้วยสติ ตอนที่เราเผชิญปัญหาจริง ๆ การตั้งสติเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เข้าใจเลย แต่เมื่อไหร่ที่เราทำได้ ทางออกจะอยู่ไม่ไกล”

เป็นนายตัวเองสบายจริงไหม?

“ฟังมาทั้งหมดนี่แล้วคิดว่าจริงไหมละ” คุณบีให้คำตอบเราด้วยการกลับด้วยเสียงหัวเราะแทนสำหรับคุณหน่องเธอมองว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณมีวินัยกับการใช้ชีวิตตัวเองแค่ไหน

“ในเรื่องการมีวินัยพี่ไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องเริ่มทำงานแปดโมงเลิกงานห้าโมงเหมือนตอนเป็นพนักงานประจำนะ แต่พี่หมายถึงวินัยในเรื่องของเป้าหมายทางธุรกิจมากกว่า อย่างเช่นเราอยากเปิดร้านขายกาแฟ เราต้องรู้ละ เราลงทุนไปกี่บาท เดือนนี้เรามีค่าใช้จ่ายกี่บาท เราต้องขายกี่บาทถึงจะได้ทุนคืนมา เอาทุนก่อนนะ แล้วค่อยไปถึงกำไร ทีนี้เราอยากได้เงินเท่านี้ เราต้องขายเดือนละกี่แก้ว  สมมติเป้าคือเดือนละ 1,000 แก้ว ตกวันละ 30 แก้ว แต่วันนี้เปิดมาแต่เช้าแล้วไม่มีลูกค้าเลย บ่าย ๆ ปิดร้านไปดูหนังดีกว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยว่ากัน พี่ว่าอย่างนี้ไม่น่าใช่ เราต้องทำอะไรซักอย่างให้มันอยู่รอด คิดโปรโมชั่นไหม เอาตัวอย่างไปแจกให้คนเดินผ่านไปมาลองชิมดูไหม พยายามให้มันเข้าเป้า ถ้าที่สุดแล้วไม่ถึงจริง ๆ ก็ต้องมาปรับแผนกัน “ถ้าคุณลาออกมาเพราะขี้เกียจ อยากชิลล์ อยากสบาย อยากนอนตื่นสาย อยากทำงานที่บ้าน อะไรแบบนี้ มันอาจจะสบายในตอนแรก ๆ แต่เมื่อเงินหมด แล้วไม่มีลูกค้า คุณก็ลำบาก”

“ถ้าคุณจะทำธุรกิจจริงจัง คุณต้องแอคทีฟตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นทำเป็นงานอดิเรกดีกว่า สบายใจกว่ากันเยอะ”

ความเสี่ยงอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องเงิน?

“สำหรับพี่ทุกอย่างมันสะท้อนกลับมาเรื่องเงินหมดแหละ เพราะการทำธุรกิจมันคือเงินของเรา ของหุ้นส่วน 100% ตอนเป็นพนักงาน โอ้ยเราวางแผนสื่อใหญ่โตได้อยากทำอะไรทำ อันนั้นมันเงินลูกค้าไง แต่อันนี้มันของจริงละ เงินจริง เจ็บจริง ต้องคิดตลอดว่าที่เราลงทุนไปมันจะคุ้มเสี่ยงไหม”

“อย่างซื้อออนไลน์เนี่ย เมื่อก่อนตอนทำงานออฟฟิศ ความสุขของเราคือการใช้เงินลูกค้าและดูว่ามันเป็นไปตามแผนไหม ซึ่งโอกาสที่มันจะเวิร์คมันเยอะกว่าไม่เวิร์คอยู่แล้ว เพราะเรามากันเป็นทีม ระดับมืออาชีพทั้งนั้น และลูกค้าก็พร้อมที่จะเสี่ยง แต่พอทำงานของตัวเองเนี่ย มีคนเดียวแล้วนะ ตอนนี้จะลงโฆษณาพันนึงเนี่ยคิดแล้วคิดอีก จะคุ้มไหมว้า” คุณบีกล่าวติดตลก

นอกจากนั้นสำหรับธุรกิจร้านอาหาร คุณบีกล่าวว่าการไม่รู้กฎหมายก็เป็นความเสี่ยงใหญ่ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาและระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย

“สำหรับพี่คือ เสี่ยงเสียสติ” คำตอบของคุณหน่องทำเอาทีมงานหัวเราะกันยกใหญ่

“คือมันจะมันจะมีความไบโพลาร์ เพราะทุกอย่างจะถาโถมเข้ามา ปัญหามันมีทุกเรื่อง ทุกวัน ต้องคุมสติให้มั่น ถ้าคนที่ล้มดันเป็นเราเอง แล้วบริษัทจะไปต่อได้ยังไง” 

บทส่งท้าย : ความฝันขั้นต่อไปและเป้าหมายในอนาคต 

“ไม่มีเลยนะที่จะแฟนตาซี ฉันมีเป้าหมายฉันจะยิ่งใหญ่ร้อยล้านอะไรแบบนี้”

คุณหน่องพูดถึงชื่อบริษัทเธอ ที่ชื่อว่านาวอิซึ่ม ซึ่งความหมายก็คือการอยู่กับปัจจุบัน เธอบอกว่าเธอไม่ได้มีเป้าหมายอะไรในอนาคตมากมาย แต่คิดเสมอว่าทำวันนี้ให้ดีก่อน ทำยังไงให้ลูกค้าประทับใจ ทำงานยังไงให้ทันเวลา ตอนนี้คิดแค่นี้ก่อน แล้วปล่อยพรุ่งนี้ให้เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ เพราะเดี๋ยวก็จะมีปัญหาใหม่เรื่องใหม่ ๆ เข้ามาให้แก้อีกอยู่ดี

ส่วนตัวคุณบีเขามองภาพอนาคตไว้สองมุม ถ้ามองในมุมร้าน คือร้านมันต้องโตไปด้วยตัวของมันเอง มีโอกาสขยายร้าน ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และถ้ามองในมุมตัวเอง คือเลือกทำงานที่มีความสุขมากขึ้น แบ่งเวลาให้ครอบครัวได้อย่างลงตัว

ฝากไว้สำหรับคนที่อยากเป็นนายตัวเอง

“ทุกคนชอบคิดว่าทำธุรกิจต้องมีแพสชั่น แต่แพสชั่นมันเป็นแค่ตัวที่ทำให้เราเริ่ม สิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้นาน คือวินัยและความรับผิดชอบ”

คุณหน่องพูดถึงเรื่องแพสชั่นซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ต่างคิดว่าเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้ตนเองออกมาทำสิ่งที่ใจรัก เธอเสริมอีกว่า แพสชั่นมันอาจเกิดขึ้นไม่นานแล้วก็จบลง กลายเป็นความรับผิดชอบเข้ามาแทนที่ ในวันนั้นถ้าความหลงใหลมันไม่มีแล้ว เรายังจะทำต่อได้ไหม สิ่งนี้ต่างหากเป็นจุดวัดใจในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการทุกคน

ในส่วนของคุณบีก็พูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน แต่เขาได้เพิ่มมุมมองที่น่าสนใจเข้ามาเพิ่มเติมว่า  

“แพสชั่นต้องมีกันทุกคน แต่อย่าเยอะมาก มีซัก 30% แล้วอีก 30% คือเงิน อีก 40% คือสติ ก่อนจะลงมือทำอะไรควรคิดให้รอบคอบ ซึ่งมักเป็นจุดอ่อนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่คิดไวทำไว อยากประสบความสำเร็จรวดเร็ว 

“จะทำอะไรให้คิดก่อน มองทั้งข้อดีข้อเสียของมันไว้ด้วย ถ้าเห็นแล้ว รับได้แล้ว มั่นใจ แล้วก็ลุยเลย” ทั้งสองกล่าวปิดท้ายพร้อมด้วยรอยยิ้ม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0