โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิบค้างคาว? ผลสำรวจเผยคนจีนส่วนใหญ่ ‘ร้องยี้’ ไม่ต่างจากทั่วโลก

Xinhua

เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 05.20 น.
เปิบค้างคาว? ผลสำรวจเผยคนจีนส่วนใหญ่ ‘ร้องยี้’ ไม่ต่างจากทั่วโลก

(บทความคิดเห็นโดย กัวเฉิง)

ปักกิ่ง, 25 ก.พ. (ซินหัว) -- ความเข้าใจผิดๆ ระบาดเร็วเสียยิ่งกว่าไวรัสสายพันธุ์ไหน เนื่องจากหลายคนอาจคิดว่าคนจีนส่วนใหญ่ชอบกิน "สัตว์ป่า" ทว่าความจริงแล้วคนจีนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ส่วนซุปค้างคาวที่ปรากฏในคลิปวิดีโอที่ระบาดไปทั่วโลกออนไลน์นั้นก็ไม่ได้ "เมดอินไชน่า" แต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าแหล่งกำเนิดไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจสืบเสาะต้นตอได้ถึงสัตว์ป่านานาชนิดที่วางจำหน่ายในตลาดแห่งหนึ่งในนครอู่ฮั่น ทันทีที่ได้ยินข่าวนี้ ปฏิกิริยาและความรู้สึกของคนจีนก็ไม่ต่างจากใครๆ ในโลก นั่นคือความรู้สึก "โกรธ" "หวาดกลัว" และ "ขยะแขยง"

ตามที่เคยมีการรายงาน คลิปวิดีโอที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์เป็นคลิปของหญิงชาวจีนที่กำลังกินค้างคาวในซุปซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในอู่ฮั่น บางความคิดเห็นที่พ่วงตามมาเต็มไปด้วยข้อความเหยียดเชื้อชาติ ตำหนิพฤติกรรมการกินของคนจีนว่าเป็นต้นตอของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือแม้แต่บางรายงานยังระบุว่า "ซุปค้างคาวเป็นที่เลื่องลือในฐานะอาหารยอดนิยมในอู่ฮั่น"

อย่างไรก็ดี คลิปวิดีโอดังกล่าวไม่ได้ถ่ายในอู่ฮั่น แต่เป็นประเทศปาเลา เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ห่างจากจีนราว 2,100 กิโลเมตร และคลิปวิดีโอนี้ก็ถ่ายทำในปี 2016 เพื่อแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นของปาเลา

หญิงคนดังกล่าวซึ่งเรียกตัวเองเป็นวีล็อกเกอร์ (Vlogger) อธิบายผ่านบัญชีเวยโป๋ (Weibo) ของเธอว่าค้างคาวในถ้วยซุปนั้นไม่ได้ถูกจับจากป่า แต่เป็นค้างคาวเลี้ยงที่กินผลไม้เป็นอาหารและถูกนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารเฉพาะถิ่นในปาเลา

ปฏิกิริยาความกลัว โกรธ และขยะแขยงต่อคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นสิ่งที่ชี้ไปในแนวทางเดียวว่าคนจีนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้เรื่อง "ซุปค้างคาว" หรือเมนูค้างคาวมาก่อน มิเช่นนั้น วิดีโอนี้ก็คงไม่สร้างความโกรธเคืองไปทั่วประเทศเช่นนี้

จากที่ได้กล่าวไป ค้างคาวเป็นสิ่งที่คนจีนแทบไม่นึกถึงเลยว่าจะเป็นของกินได้ ในทางกลับกัน หากให้คิดถึงการลองกินมันเข้าไป ก็ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างขนลุกขนพองสำหรับคนจีนส่วนใหญ่

ตามที่แนชันแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) เคยระบุในรายงานออนไลน์ว่า สำหรับคนจีนแล้วการบริโภคสัตว์ป่าเป็น "การแหกคอกทางวัฒนธรรม"

"ตัวอย่างเช่นในนครกว่างโจว เมืองที่มีประชากร 14 ล้านคนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ การกินสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่พบเห็นได้เป็นปกติทั่วไป ทว่าสำหรับกรุงปักกิ่ง กลับเป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่ง" รายงานระบุ พร้อมเสริมว่าแม้แต่ในนครกว่างโจวด้วยกันเอง ทัศนคติของคนที่มีต่อสัตว์ป่ายังค่อนข้างแตกต่างกัน

ผลสำรวจมติมหาชนนั้นค่อนข้างชัด เนื่องจากผลสำรวจโดยศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University Center for Nature Society) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ชี้ว่าจากกลุ่มสำรวจเกือบ 100,000 คน มีผู้ที่ต่อต้านการกินสัตว์ป่าเกือบร้อยละ 97 ขณะที่ราวร้อยละ 79 ต่อต้านการนำชิ้นส่วนของสัตว์ป่าไปใช้ อาทิ ขนและกระดูก

ด้านรัฐบาลจีนเองก็มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้โดยไม่นิ่งนอนใจ จากการที่เมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุดของจีนรับพิจารณามติว่าด้วยการห้ามค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายและขจัดการบริโภคสัตว์ป่าอย่างครอบคลุม

นอกจากนี้ ก่อนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุด จีนยังได้บังคับใช้ข้อห้ามชั่วคราวว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าทุกประเภทเพียงไม่นานหลังไวรัสแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ทั้งยังได้เร่งรัดขั้นตอนการออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ปี 1989 และได้รับการปรับปรุงเมื่อปี 2016

สถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2020 นี้ อาจเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะได้สร้างความคืบหน้าแก่ระบบอนุรักษ์สัตว์ป่า ปรับความสัมพันธ์ของคนที่มีต่อสัตว์ป่าเสียใหม่ และผลักดันการศึกษาเรื่องนี้ให้ทั่วถึง

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0