โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เปิด”สูตรสำเร็จ 6C” วิธีทำให้ธุรกิจครอบครัวไปรอด

Money2Know

เผยแพร่ 24 พ.ค. 2562 เวลา 09.46 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เปิด”สูตรสำเร็จ 6C” วิธีทำให้ธุรกิจครอบครัวไปรอด

ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะล้มเหลวเพราะผู้นำมักชอบควบคุมคนอื่นมากเกินไปและขาดการสื่อสาร ซึ่งการจะดำเนินธุรกิจครอบครัวให้รุ่งนั้นจะต้องมีโครงสร้างการจัดการอย่างเป็นระบบ ผู้เชี่ยวชาญแนะ"สูตร 6C" เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอด

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ”สูตรสำเร็จ 6C” เพื่อธุรกิจครอบครัวไทย ว่า ธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องของการเกี่ยวโยงกัน ส่วนใหญ่แล้วทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 จะได้รับแรงกดดันในการทำธุรกิจมาก เนื่องจากเป็นรุ่นที่จะต้องรักษาธุรกิจเอาไว้ ซึ่งการรักษาธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่าการก่อตั้งธุรกิจมากพอสมควร

“ขณะที่สิ่งต้องระวังในการทำธุรกิจครอบครัวนั้นคือเรื่องของทรัพย์สิน เพราะทรัพย์สมบัติไม่ว่ามากหรือน้อยก็สามารถทำลายครอบครัวได้ ดังนั้นการทำธุรกิจครอบครัวจะต้องมีกฏที่เข้มงวดปล่อยให้ทรัพย์สินมาครอบงำไม่ได้”

นอกจากนี้การทำธุรกิจครอบครัวยังต้องเข้าใจเรื่องโครงสร้างธุรกิจของครอบครัวอย่างถ่องแท้ และการทำเอกสารทางกฏหมายของธุรกิจ ซึ่งปัญหาธุรกิจครอบครัวในทั่วโลกต่างประสบปัญหาคล้ายกันแทบทั้งนั้น คือเกิดการทะเลาะกันภายในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมามักมีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักจากการทะเลาะกันของคนในครอบครัวที่เกิดจากการแย่งชิงความเป็นใหญ่ภายในธุรกิจครอบครัวกันเอง

ความขัดแย้งเหล่านี้เกิดจากปัญหาหลักๆดังนี้ โครงสร้างบริษัท, ผลประโยชน์, การขาดการสื่อสาร, พินัยกรรม, มรดก, ความโลภ และการเลี้ยงดูในครอบครัว ดังนั้นการจะทำให้ธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และมีโครงสร้างธุรกิจอย่างเป็นระบบและมีความเป็นมืออาชีพ

                                         9 ปัญหาธุรกิจครอบครัว

1.ขาดการจัดโครงสร้างการประกอบธุรกิจ ถ้าธุรกิจไม่ได้แบ่งเป็นเซกเมนต์จะทำให้ธุรกิจพังลงง่ายๆ

2.เอกสารทางกฏหมายไม่ครบถ้วน พินัยกรรม ธรรมนูญครอบครัว ซึ่งปัญหาของธุรกิจครอบครัวคือไม่คิดจะทำพินัยกรรม เพราะกลัวญาติทะเลาะกันหรืออาจเป็นการแช่งตัวเอง

3.ขาดกลไกการเป็นจัดสรรผลประโยชน์หรือความเป็นเจ้าของ

4.ขาดการสื่อสารของสมาชิกในครอบครัว ข้อพิพาทเกิดจากการไม่ยอมพูดคุยปรึกษากัน และขาดการสื่อสารของสมาชิก

5.ขาดแนวคิดในการแยกประเด็นทางธุรกิจ และประเด็นทางครอบครัว

6.ขาดการวางแผนสืบทอดธุรกิจและการเลือกผู้นำรุ่นต่อไป

7.ขาดมืออาชีพ หรือกรรมการอิสระ

8.ไม่มีมาตรการลดความเสี่ยง การหย่าร้าง การตาย ความไม่ไว่วางใจ ขาดความสนใจ และความตกต่ำของธุรกิจ

9.ขาดการวางกลยุทธ์

“จากสถิติที่ได้สำรวจพบว่าสมาชิกครอบครัวกลุ่มที่ก่อความขัดแย้งมากที่สุดคือเจ้าของธุรกิจ เนื่องจากจะมีการควบคุมคนกลุ่มอื่นในครอบครัวมากเกินไป และหากขาดการสื่อสารที่ดีก็อาจทำให้ธุรกิจครอบครัวพังได้”

ดังนั้นแล้วทางแก้ไขปัญหาคือ ธุรกิจครอบครัวต้องมีการจัดการโครงสร้างหรือการถือครองหุ้น, มีการจัดเอกสารทางกฏหมายที่สำคัญ, จัดให้มีการบริหารความเสี่ยง, จัดให้มีมืออาชีพวางแผนกลยุทธ์ทางการเงิน, กำหนดนโยบายให้สมาชิกครอบครัวที่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอทำงานจากตำแหน่งเล็กๆไปเสียก่อน โดยต้องหามืออาชีพเข้ามาช่วยในการประกอบธุรกิจด้วย และต้องมีกลไกขจัดความขัดแย้งเมื่อเกิดประเด็นระหว่างธุรกิจครอบครัวขึ้น

ทฤษฎี 6 C ที่โครงสร้างธุรกิจครอบครัวควรมี

1.Corporate structure การจัดโครงสร้างให้ดีลดความเสี่ยงของบริษัท และต้องไม่ก่อหนี้หรือทำพฤติกรรมให้ถูกฟ้อง

2.Compensation ความเป็นเจ้าของแบ่งกันอย่างไรและผลประโยชน์ทำอย่างไรเพื่อดูแลสมาชิกครอบครัวอย่างทั่วถึง และควรมีนโยบายการจัดสรรสิ่งต่างๆอย่างชัดเจนซึ่งควรเป็นเอกสารเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

3.Communication ต้องมีการสื่อสารกันภายในครอบครัวโดยการตั้งกฏเกณฑ์อย่างเป็นระบบขึ้นภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และควรหลีกเลี่ยงการพูดที่ทำให้คนในครอบครัวเสียใจเพราะจะเป็นสิ่งบันทอน

4.Conflict resolution กระบวนการระงับข้อพิพาท หรือข้อขัดแย้งระหว่างครอบครัว

5.Care and compassion ต้องมีความเอื้ออาทรเห็นใจซึ่งกันและกันและรับผิดชอบต่อสังคมรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง

6.Change ต้องรู้จักเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนการทำงาน เพื่อให้ทันเทคโนโลยีรุ่นใหม่อยู่เสมอ และต้องทำทันที

ทั้งนี้กลยุทธ์การกำกับดูแลกิจการจะทำให้การสร้างธุรกิจแข็งแรงอย่างยั่งยืนต้องประกอบด้วยสินทรัพย์ 3 ประการดังนี้ 1.สินทรัพย์บุคลากร 2.สินทรัพย์ทางปัญญา 3.สินทรัพย์ทางการเงิน

"สิ่งสำคัญอีกข้อคือต้องทำให้ทายาทรุ่นหลังเห็นถึงความยากลำบากของบรรพบุรุษในการก่อตั้งธุรกิจเพื่อให้เกิดความรักและหวงแหนในธุรกิจ และสิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจครอบครัวคือการรักษาโครงสร้างที่ดีที่ได้กล่าวไปข้างต้นเอาไว้ให้ได้เพราะจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความยั่งยืนต่อไป"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0