โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดไทม์ไลน์ใหม่ เลือกตั้ง 24 มีนา

สยามรัฐ

อัพเดต 19 ม.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
เปิดไทม์ไลน์ใหม่ เลือกตั้ง 24 มีนา

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนระอุ ไปทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงบนเวทีปราศรัย ในต่างจังหวัด เหตุที่ทั้งความไม่ชัดเจน “วันเลือกตั้ง” จะเคาะกันในวันที่เท่าใด ยิ่งเมื่อผสมปนเปไปกับ “วิวาทะ” ของบรรดานักการเมืองต่างพรรค ต่างขั้วที่สาดเข้าใส่กันไม่เว้นแต่ละวัน ได้กลายเป็น “ปัจจัย” ที่ปลุกเร้า ให้สถานการณ์การเมืองถูกจับจ้อง ไม่คลาดสายตาจากทุกๆฝ่าย ว่าที่สุดแล้ว จากประเด็นเรื่อง วันเลือกตั้ง ที่กำลังคลุมเครืออยู่ในยามนี้ จะนำไปสู่ ความวุ่นวายให้เกิดขึ้นก่อนถึงวันหย่อนบัตรหรือไม่ ! นอกจากความไม่ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งที่กำลังขยับจากกรอบเดิม คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ล่าสุดยังเกิดความสับสนตามมาว่า ทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเลือกวันไหน ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวผุดถึงวันที่ ที่คาดการณ์กันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น หลังวันที่24 ก.พ. โดยอาจจะเป็นวันที่10 มี.ค. หรือวันที่ 24 มี.ค.ในเดือนเดียวกัน หรือแม้กระทั่งการจอดป้ายสุดท้ายในวันที่ 9 พ.ค. เมื่อไทม์ไลน์วันเลือกตั้งขยับห่างออกไป จากวันที่ 24 ก.พ.2562 มากเท่าใด ยิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนที่นำไปสู่ “ชนวนเหตุ” ให้เกิดปฏิกริยา จากพรรค และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ที่ต้องการให้การเลือกตั้งเดินไปตามกรอบเวลาเดิม ต่างพากันออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ โจมตีรัฐบาล -คสช.ตลอดจนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างดุเดือด เพราะเริ่มไม่เชื่อมั่นแล้วว่า การเลื่อนวันเลือกตั้ง พ้นไปจากวันที่ 24 ก.พ.นั้นจะกลายเป็นว่า “ไม่มีเลือกตั้ง” ไปด้วยหรือไม่ พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาแสดงความชัดเจน พร้อมกันนี้ ยังพุ่งเป้าไปยังคสช.และกองทัพไม่ให้ใช้วิธีการกดดันไปยัง“กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่เวลานี้ได้กลายเป็นจิ๊กซอร์ตัวเก่า ที่พลิกบท อาศัยจังหวะกลับมาชุมนุมในทุกวันหยุดเพื่อกดดันรัฐบาล คสช. และกกต. ไม่ให้เลื่อนเลือกตั้ง ภายใต้ “คำถาม” และการตั้งข้อสังเกตจากบางฝ่ายว่า แท้จริงแล้ว จังหวะการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้น สอดคล้องกันโดยความบังเอิญ ด้วยมีอุดมการณ์เดียวกัน หรือเป็นเพราะต่าง “รับภารกิจ”เพื่อ กดดัน คสช. ควบคู่ไปกับการประจันหน้ากับ“กองทัพ” โดยมี“บิ๊กทหาร” ต่างออกมาส่งสัญญาณแข็งกร้าวเพื่อตอบโต้ โดยเฉพาะท่าทีจาก “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ดูเหมือนว่า ไม่ยอมเป็นฝ่าย“ตั้งรับ” กับกลุ่มผู้ชุมนุม ในนามคนอยากเลือกตั้ง ว่า “อย่าล้ำเส้น ! ” เช่นเดียวกับการที่ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งสั่งห้ามไฟเขียว ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมลากยาวออกไป จนกระทบต่อบรรยากาศความสงบในบ้านเมืองอย่างแน่นอน

ทั้งนี้การเลื่อนวันเลือกตั้ง ที่เกิดเป็นประเด็นจนนำไปสู่ ปัญหาใหม่ ปลุกความขัดแย้งรอบใหม่ โดยมีเรื่องของความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เข้ามาเกี่ยวกับ กับการจัดงานสำคัญของประเทศ คือการจัดงานพระราชพิธี บรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 4-6พ.ค.นี้ โดยฝ่ายรัฐบาลและคสช.เองได้เน้นย้ำและขอให้ประชาชน ตลอดจนทุกฝ่าย ยึดเอาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ในห้วงเวลาอันสำคัญ นั่นหมายความว่า ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ที่จะไปคาบเกี่ยวกับเรื่องราวและความเคลื่อนไหวทางการเมืองเองก็ต้องตระหนักในเรื่องนี้กันให้มาก เช่นกัน ขณะเดียวกันแม้จะมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างวิษณุ รองนายกฯ กับ “7 เสือ กกต.” มาแล้วก็ตาม แต่กลับยังไม่มีข้อสรุปว่า วันเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อใด โดยรองนายกฯวิษณุ ยืนยันว่าทุกอย่างจะชัดเจนภายในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ เองได้ใช้โอกาสในการเป็นประธานพิธีไหว้ครู ที่หอประชุมคุรุสภา เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ย้ำว่าการเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นก่อนวันที่ 9 พ.ค.นี้อย่างแน่นอน เนื่องจากขึ้นอยู่กับกรอบของกฎหมายได้กำหนดเอาไว้แล้ว “ ถึงอย่างไรก็จะมีการเลือกตั้งแน่นอน ไม่สามารถที่จะดึงอะไรต่อไปได้ การเลือกตั้งจะขยับไปมาก็แล้วแต่เหตุผล ซึ่งจะยังอยู่ภายในวันที่ 9 พ.ค.เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้ว ไม่อย่างนั้นก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งทำไม่ได้ เพียงแต่จะขยับไปมาอยู่ภายในกรอบ ถึงอย่างไรก็เลือกตั้งก่อน 9 พ.ค. และช่วงนี้จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ” และในวันเดียวกันมีสัญญาณที่น่าจับตาจาก กกต. เมื่อ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการกกต.ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยการโยนโจทย์วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค.กกต.ก็สามารถประกาศรับรองได้ทันภายในกรอบระยะเวลา 45วัน แต่ทั้งนั้นทั้งนี้กกต.ต้องรอการประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อใด เนื่องจากรัฐบาลเองยังไม่ได้ประสานมา มีเพียงการชี้แจง ทำความเข้าใจถึงเรื่องงานพระราชพิธีเท่านั้น อย่างไรก็ดี การระบุถึงวันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มี.ค.นั้นถือได้ว่านี่คือ “ไทม์ไลน์ใหม่” ของการเลือกตั้ง ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้น มากกว่าสูตรไหนๆ เนื่องจากการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง จะสัมพันธ์กับวันที่จะประกาศวันเลือกตั้งโดยให้ห่างกันประมาณ 50 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับห้วงเวลาของการหาเสียง เพราะเมื่อประกาศวันเลือกตั้ง จะเริ่มการหาเสียง เริ่มคิดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง ดังนั้นหากประกาศวันเลือกตั้งเร็ว ก็จะใช้เวลาในการหาเสียงนาน จะส่งผลต่อเรื่องค่าใช้จ่ายของพรรคที่มากขึ้น ทั้งนี้หากการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. การประกาศวันเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ส่วนก่อนวันที่ 2 ก.พ.จะมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ออกมา

สอดคล้องกับการที่พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่าการจัดการเลือกตั้งและประกาศผลภายใน150วัน นับตั้งแต่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คือภายในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.ระยะเวลาในการพิจารณาประกาศผลจะมีขึ้นก่อนวันที่ 9 พ.ค. รวมทั้งสิ้น45 วัน ก็ไม่ใช่เรื่องที่กกต.จะทำไม่ได้ !! ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจ และต้องโฟกัสไม่น้อยไปกว่าการสรุปวันเลือกตั้ง ก็คือการที่แต่ละพรรคการเมืองจะประกาศชื่อ “3 แคนดิเดต” ที่จะเข้าชิงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ว่าพรรคใดจะเสนอชื่อใครบ้าง โดยในห้วงนี้คือ “ของจริง” ที่จะทำให้มองเห็นภาพการต่อสู้ได้ชัดเจน เข้มข้น และดุเดือดมากที่สุด ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว พรรคจะเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ต่อกกต.ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้งและ กกต.ต้องประกาศรายชื่อให้ประชาชนได้รับทราบ นั่นหมายความว่า เมื่อถึงห้วงเวลาของการเปิดหน้า เปิดตัว ว่าที่นายกฯของแต่ละพรรคเกิดขึ้น ย่อมไม่เพียงแต่การกำหนดเกมการเล่นในบทสุดท้ายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการวางโมเดล เปิดสูตรรัฐบาลใหม่ที่จะปรากฎหลังจากการเลือกตั้ง ว่า ใครจะอยู่ในปีกอำนาจไหน และใครจะสู้เพื่อเป็น “ฝ่ายค้าน” หรือใครจะสู้เพื่อร่วมขบวน “รถไฟสายรัฐบาล” ขบวนใหม่ จะยิ่งแจ่มชัดมากขึ้น การกำหนดวันเลือกตั้งภายใต้ไทม์ไลน์ใหม่ เคาะกันในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการขมวดแผนการเล่นในสนามการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังถือเป็นการ “ปิดเกม” ทุกความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนไม่ให้ฉวยจังหวะ ลากเกมโจมตียืดเยื้อ บานปลาย ยั่วยุ “กองทัพ” ให้ลงมาเป็น “คู่ขัดแย้ง” จนเสียงานใหญ่ ไปในคราวเดียวกัน !

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0