โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดใจ "บิ๊กอิตาเลียนไทย" ฝ่าวงล้อมสนามประมูลเดือด ปักหมุดเมกะโปรเจ็กต์ 3 แสนล้าน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 22 ส.ค. 2562 เวลา 02.44 น. • เผยแพร่ 22 ส.ค. 2562 เวลา 02.44 น.
เปรมชัย

สัมภาษณ์พิเศษ

ด้วยอายุ 66 ปี มีปัญหาสุขภาพ และเจอมรสุมคดีเสือดำ ทำให้ “เปรมชัย กรรณสูต” นายใหญ่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จะผันตัวเองจากเบื้องหน้าไปอยู่เบื้องหลังในปีหน้า

ดันลูกชายคนเล็ก “ธรณิศ กรรณสูต” มารับไม้ต่อธุรกิจ ปัจจุบันอยู่ระหว่างผ่องถ่ายงานให้กับทายาทอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้บริหารที่เป็นลูกหม้อที่ทำงานกันมานานเป็นพี่เลี้ยง

ปัจจุบัน “อิตาเลียนไทย” ยังคงสถานะเป็นรับเหมาเบอร์หนึ่งของประเทศ สร้างผลงานผ่านการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทั้งรัฐและเอกชนจนถึงปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เปรมชัย” ถึงทิศทางของบริษัทท่ามกลางสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่ผันแปร

Q : ทิศทางการประมูลงานรัฐหลังมีรัฐบาลใหม่

โครงการก่อสร้างต่าง ๆ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภาครัฐก็มีแผนงานโครงการไว้หมดแล้ว ทางหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบโครงการก็ทำแผนจะต้องลงทุนอะไร เหลือแค่ว่าจะเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อไหร่ และได้รับอนุมัติหรือไม่ ซึ่งโครงการที่จะประมูลมีเยอะมาก เช่น รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ เพียงแต่ว่ารัฐจะทำโครงการไหนก่อนหรือหลังเท่านั้นเอง ในส่วนของอิตาเลียนไทยก็พร้อมเข้าประมูลทุกโครงการ

ผลประกอบการในปี 2561 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 61,703 ล้านบาท โดยกว่า 70% มาจากโครงการรัฐ และนับว่าเป็นรายได้ที่สูงสุดอีกปีหนึ่ง และยังเป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งในตลาดสูงสุด 31.04%

ขณะที่โครงการต่างประเทศคิดเป็น 27.8% ของรายได้รวมบริษัท และคิดเป็น 38.7% ของมูลค่างานในมือ มีโครงการใน สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย โมซัมบิก และไต้หวัน

ในปี 2562 ผลการดำเนินการ 6 เดือนแรก บริษัทมีรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง การขายและให้บริการ 30,957 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว 1,920 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้น 3,004 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่คืบหน้าไปมาก เช่น รถไฟฟ้านครธากา รถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ โครงการวันแบงค็อกมิกซ์ยูส เป็นต้น

Q : งานก่อสร้างอยู่ในมือ

งานในมือในปัจจุบันยังสามารถที่จะรับงานใหม่เข้ามาได้อีก แม้ว่าจะได้งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เราร่วมลงทุน 5% กับ ซี.พี.ด้วย แต่ก็ไม่ทำให้งานล้นมือหรอก เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างคนเดียว ยังมี ช.การช่าง และ CRCC ผู้รับเหมาจากจีนอีกที่จะช่วยกันตามความถนัดของแต่ละคน จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น

ตอนนี้เรามีงานในมือประมาณ 3 แสนล้านบาท ยังไม่รวมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะมีงานก่อสร้างอยู่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งงานในมือ 3 แสนล้านบาทนี้จะทยอยรับรู้รายได้อีกอย่างน้อย 3 ปี เฉลี่ยปีละเกือบ 1 แสนล้านบาท เช่น งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีทอง รถไฟทางคู่

ส่วนงานใหม่ที่รอเซ็นสัญญามีเยอะมาก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท เช่น ก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 วงเงิน 2,398 ล้านบาท คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมก็เร่งให้กรมทางหลวงเคลียร์การจราจรบนถนนพระราม 2 ที่ติดขัดให้บรรเทาก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างทางยกระดับ

สำหรับงานใหญ่ที่สุด คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกำลังทำแผนส่งมอบพื้นที่ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถ้ารวมด้วยเราจะมีงานรอเซ็นสัญญาอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และมีที่ต่างประเทศอีก 1 แสนล้านบาท โดยสรุปมีงานในประเทศรอเซ็นสัญญาประมาณ 2 แสนล้าน และต่างประเทศ 1 แสนล้านบาท และยังมีรอลุ้นผลประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา มูลค่า 2.9 แสนล้าน ที่เราร่วมกับ ซี.พี.ยื่นประมูลโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอ

Q : สถานการณ์ธุรกิจรับเหมา

ปัจจุบันการแข่งขันสูง มีรับเหมาต่างชาติโดยเฉพาะจากจีนเข้ามาประมูลงานโครงการขนาดใหญ่มาก และมีการดัมพ์ราคาต่ำกว่าราคากลางเยอะ ที่เห็นชัดมีรถไฟไทย-จีน ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก เราก็ต้องสู้ต่อไป เพราะเป็นอาชีพและธุรกิจของบริษัท

ขณะเดียวกันก็หาช่องทางสร้างรายได้ให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยการเข้าไปรับสัมปทานโครงการที่มีรายได้ออกมาและเป็นรายได้ที่ดี ทำให้ที่ผ่านมาเราเข้าไปทำสัมปทานเหมืองโปแตช เพราะคิดว่าจะทำให้มีรายได้มาจุนเจือบริษัทในอนาคตได้ ตอนนี้มีความคืบหน้าไปด้วยดี

Q : ความคืบหน้าโครงการทวาย

รอประมูลงานถนนขนาด 2 ช่องจราจรเชื่อมชายแดนไทย (บ้านพุน้ำร้อน) กับทวาย วงเงิน 4,500 ล้านบาท ที่รัฐบาลพม่าจะเปิดประมูลภายในเดือน พ.ย.นี้ เราจะยื่นประมูลด้วย ส่วนการอนุมัติกรอบสัญญาเช่าที่ดินก็กำลังรอรัฐบาลพม่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทราบว่ารองประธานาธิบดีที่รับผิดชอบโดยตรงได้อนุมัติแล้ว คาดว่าปีนี้น่าจะจบ จากนั้นเราก็จะนำโครงการไปขอไฟแนนซ์โครงการจากแบงก์และพัฒนาโครงการ ดำเนินการเปิดขายพื้นที่นิคมได้

ถึงขณะนี้โครงการก็ยังเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หยุด ยังไงโครงการนี้ก็ต้องเกิด ที่ผ่านมาเราลงทุนไปแล้ว 7,000 ล้านบาท สร้างอินฟราสตรักเจอร์ 400-500 ไร่ เช่น ถนน 2 เลนที่ให้รถสามารถวิ่งไปได้ ยังเหลือถนนลาดยาง โรงไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ท่าเรือ ซึ่งเราจะลงทุนเองทั้งหมด ส่วนการพัฒนานิคมร่วมกับบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0