โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปิดแนวคิด สมาร์ท ซิตี้ แบบยั่งยืน ผ่าน 'แคมปัส โมเดล' (Cyber Weekend)

Manager Online

เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 01.18 น. • MGR Online

ย้อนไปเมื่อ3ปีที่แล้วหนึ่งในนโยบายไทยแลนด์ 4.0คือการสร้าง 'สมาร์ท ซิตี้' ซึ่งประเทศไทยเลือกภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่อง เพราะมีขนาดของพื้นที่เหมาะสม และเป็นเมืองยอดนิยมของชาวต่างชาติรวมถึงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจดี ทำให้เทคโนโลยีเกือบทุกด้านที่จะทำให้ 'ภูเก็ต' เป็นเมืองอัจฉริยะถูกกระหน่ำลงในพื้นที่ รวมถึงมีการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในภูเก็ต ทว่า เมื่อหมดโครงการนำร่อง ทุกฝ่ายต่างก็เรียกร้องแต่งบประมาณเพื่อจ่ายให้เทคโนโลยีที่ลงทุนไปแล้ว ไปต่อได้

ความยั่งยืนและอยู่ได้เองจึงเป็นโจทย์ของสมาร์ท ซิตี้ ทำให้สุดท้าย 'เมือง'จำเป็นต้องเลือกจำกัดความเด่นของพื้นที่ในการทำสมาร์ท ซิตี้ แทนที่จะปูพรมทำให้ครบทุกด้าน (สมาร์ท ซิตี้ มีทั้งหมด7 ด้าน ประกอบด้วย 1.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ 2.เศรษฐกิจอัจฉริยะ 3.ขนส่งอัจฉริยะ 4.พลังงานอัจฉริยะ 5.พลเมืองอัจฉริยะ 6.การดำรงชีวิตอัจฉริยะ และ7.การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ) และ 'ภูเก็ต โมเดล' กลายเป็นบทเรียนให้จังหวัดอื่นๆต้องเลือกทำเฉพาะสิ่งที่ตนเองมีปัญหา หรือ มีจุดเด่น ในการสร้างสมาร์ท ซิตี้ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้าช่วยเมืองของตนเองแบบอยู่ได้เองแบบยั่งยืน โดยไม่หวังเพียงแค่รองบประมาณนำไปซื้อเทคโนโลยีแพงๆเพียงอย่างเดียว

***สมาร์ท ซิตี้ อยู่ที่คน

'วีรนันทน์ เพ็งจันทร์' ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้คำนิยาม สมาร์ท ซิตี้ ว่า ความสมาร์ทต้องเริ่มที่คน หากคนไม่มีจิตสำนึก ไม่มีระเบียบ ต่อให้ซื้อเทคโนโลยีมาใช้มากแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีต้องใช้เพื่อมาแก้ปัญหาในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องลงทุนทุกด้าน ที่สำคัญคือ ภาคการศึกษาต้องเป็นฟันเฟืองในการเป็นศูนย์กลางความรู้และทำงานร่วมกับเมือง จังหวัดสงขลา จึงเลือกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการพัฒนาโซลูชั่นสมาร์ท ซิตี้ ด้านต่างๆ

เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างและมีบุคลากรกว่า 20,000 คน ทำให้สามารถเป็นสถานที่ในการจำลองเมืองได้ พื้นที่ต่างๆใน 14 จังหวัดภาคใต้สามารถเข้ามาศึกษาดูงานและยกโมเดลต้นแบบที่ม.อ.สร้างขึ้นไปปรับใช้ในพื้นที่ได้ทันที เพราะ ม.อ.ได้ลองผิด ลองถูกให้แล้ว อีกทั้งยังมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยในการให้คำปรึกษาและสร้างแอปพลิเคชันเพื่อให้เมืองเป็นสมาร์ท ซิตี้ แบบยั่งยืน ซึ่งปัจจุบัน ม.อ.ก็ได้ทำโซลูชันให้กับจังหวัดอยู่แล้ว เช่น การวัดระดับน้ำเพื่อแจ้งเตือนน้ำท่วม เป็นต้น

*** ม.อ.โชว์ผลงานสมาร์ท ซิตี้ ใช้ได้จริง

'ผ.ศ.นิวัติ แก้วประดับ' อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้แต่ละเมืองได้เห็นโมเดลรูปแบบการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองและนำไปปรับใช้กับพื้นที่เขตความรับผิดชอบของตน ซึ่งม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ มีบุคลากรกว่า 20,000 คน และมีประตูเข้าออกชัดเจน 3 ประตู ทำให้สามารถกำหนดพื้นที่ในการเป็นต้นแบบของสมาร์ท ซิตี้ ได้ง่าย ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 มหาวิทยาลัยได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ จำนวน 130 ล้านบาท ในการทำสมาร์ท ซิตี้ ด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีสมาร์ท ซิตี้ อยู่ในพื้นที่ 7 รูปแบบ ประกอบด้วย

1.Smart People มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการจัดสร้าง Learning Space เพื่อรวบรวมเครื่องมือเรียนรู้ที่ทันสมัย ได้แก่ 3D Printer, 3D Scanner, Robot และแหล่งเรียนรู้ระดับโลกร่วมกับผู้นำด้านเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระดับโลก เช่น Cisco Academy, DevNet เป็นต้น คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

2.Smart Environment มีการติดตั้งระบบเฝ้าระวังคุณภาพของอากาศ เช่น PM2.5 ตรวจวัดความชื้น ทิศทางลม และสภาพแวดล้อมทางน้ำ รวมทั้งได้ขยายพื้นที่ดำเนินการ โดยร่วมมือกับเทศบาลนครหาดใหญ่ติดตั้งระบบเฝ้าระวังลุ่มน้ำ และแก้มลิงโดยรอบเมืองและภายในเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อใช้เตือนภัยในฤดูฝน

3.Smart Energy ได้แก่ Smart Lighting หลอดไฟ LED ที่มาพร้อมกับเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ตรวจวัดระดับความเข้มแสง และควบคุมอัตโนมัติ สามารถ dim ไฟลง เมื่อไม่มีการใช้งาน ทำให้ประหยัดไฟ รวมถึงทราบการใช้พลังงาน (energy usage monitoring) และ การใช้งานรถโดยสารสาธารณะ EV และให้บริการจุดจอดรถ พร้อมที่ชาร์จแบบไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานรถพลังงานสะอาด

4.Smart Mobility มีระบบ smart transportation ที่สามารถแสดงตำแหน่งของรถโดยสาร EV ทำให้นักศึกษาสามารถทราบเวลาของรถที่จะมาถึงจุดจอดได้แบบเรียลไทม์

5.Smart Living มีระบบรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรและนักศึกษาภายในวิทยาเขต ผ่านระบบ ไม้กั้น ที่ตรวจสอบ RFID long range ที่ถูกใช้เป็นบัตรของบุคลากร เพื่อตรวจสอบการเข้าออกมหาวิทยาลัย ร่วมกับระบบกล้อง จับป้ายทะเบียน และการติดตาม เฝ้าระวังรถต้องสงสัยแบบ Real-time analytic and warning system และ Smart pole เสาไฟอัจฉริยะที่ประกอบด้วยสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นโครงสร้างพื้นฐานบนท้องถนนในอนาคตประกอบด้วย WiFi, Signage, Camera, Weather sensors, Dust sensors, EV Charger and Emergency button

รวมถึง Smart Parking ติดตั้งเซนเซอร์และระบบเพื่อแสดงจุดจอดรถที่ยังว่างในพื้นที่วิทยาเขต ทำให้ผู้มาติดต่อหรือบุคลากรสะดวกในการหาที่จอดรถ ลดพลังงานเชื้อเพลิงที่สิ้นเปลืองจากการขับรถวนหาที่จอด และระบบกระจายข้อมูลสื่อสารผ่าน Digital content ไปยังตู้ Digital signage ที่สามารถควบคุมและสั่งการได้แบบเรียลไทม์ จัดแบ่งกลุ่มการบริหารจัดการ เชื่อมโยงเข้าสู่ IoT Platform

6.Smart Economy มีการจัดทำฟาร์มต้นแบบ smart farm ร่วมกับคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรแบบปราณีต เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร โดยให้สามารถเพาะเลี้ยงผลไม้ ผลผลิตการเกษตรได้อย่างแม่นยำ ในที่นี้มีการเพาะเลี้ยงเมล่อนที่สามารถรองรับการสั่งตัดความหวาน และขนาดของผล ทราบระยะเวลาของการเลี้ยง การตัดผลผลิต และขนส่งให้พอดีกับความอร่อยที่ลูกค้าต้องการ ปัจจุบัน ขยายผลไปยังแปลงสาธิตของคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คลองหอยโข่ง เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประชาชน

อีกทั้งยังมีการทำ Research Market Platform ร่วมกับสตาร์ทอัปในพื้นที่ในการสร้าง Platform online ที่สามารถช่วยให้เกิดการ Matching ระหว่างนักประดิษฐ์กับเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมที่แสวงหานวัตกรรมในประเทศ

7.Smart Utility ประกอบด้วย Intelligent Operating Centre (IoC) เป็นศูนย์บัญชาการและควบคุมกลาง โดยเชื่อมระบบทั้งหมดของ Smart เข้าสู่การติดตาม สั่งการ โดยปกติระบบคอมพิวเตอร์จะทำงานโดยอัตโนมัติ และมีห้องเพื่อให้ผู้ดูแลได้เห็นสภาพการทำงานโดยรวมของระบบทั้งหมด และ City Data Platform เป็นการสร้าง Data Adapter เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากหน่วยงานและฝ่ายต่างๆ เข้าสู่ City Data Platform ทำให้สามารถเชื่อมข้อมูลในระบบเดิม และระบบใหม่เข้าด้วยกัน และรองรับการวิเคราะห์ ประมวลผลสำหรับเมืองในอนาคต ได้แก่ นำไปใช้ในการวางผังเมือง การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของเมืองเป็นต้น

***จับมือซิสโก้สร้างคอร์เน็ตเวิร์กแข็งแรง

อธิการบดี ม.อ.อธิบายต่อว่า มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับ ซิสโก้ ในการสร้างต้นแบบเมืองอัจฉริยะร่วมกัน ซึ่งโซลูชันของซิสโก้ ไม่ว่าจะเป็นเน็ตเวิร์กหลัก (core network) แพลตฟอร์มไอโอที (IoT) ที่ใช้เทคโนโลยีซิสโก้เป็นฐาน ทำให้การเชื่อมต่อแบบเอนด์ทูเอนด์มีความปลอดภัย และความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อสร้างโมเดลเมืองอัจฉริยะที่เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตในทุกมิติ

ขณะที่ 'วัตสัน ถิรภัทรพงศ์' กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย ซิสโก้ กล่าวว่า ซิสโก้ ได้ลงนามความร่วมมือเป็นระยะเวลา 1 ปี กับ ม.อ.โดยนำร่องพัฒนาพื้นที่ในเขตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ภายใต้แนวคิด 'PSU Smart and Green Campus 2022 เพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ Happy Workplace' ให้เป็นโมเดลการพัฒนาสู่เมืองยุคใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีรวมถึงพัฒนาบุคลากรดิจิทัลเพื่อสร้างสรรค์เมืองอัจฉริยะให้สมบูรณ์แบบในทุกมิติ และเพิ่มโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้พัฒนาชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืนโดยการสร้างรายได้กลับมาให้ชุมชนจากทรัพยากรที่มีอยู่

'ซิสโก้มีความเชื่อมั่นในการนำเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานหรือ Core Network และดาต้าเซ็นเตอร์ที่ออกแบบเพื่อการใช้งาน AI ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาต่อยอดสมาร์ท โซลูชั่นและแอปพลิเคชันต่างๆพร้อมระบบรักษาความปลอดภัยแบบเอนด์ทูเอนด์มาช่วยในการตอบโจทย์การสร้างสมาร์ท ซิตี้ได้อย่างสมบูรณ์'

ทั้งนี้ สมาร์ท ซิตี้จะขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วไม่ได้ถ้าขาดบุคลากรที่เข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซิสโก้มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรของม.อ.อย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการ Cisco Network Academy ที่ให้ความรู้เบื้องต้นทางด้าน IoT และ DevNet ซึ่งให้ความรู้เฉพาะทางด้านเน็ตเวิร์กจากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความสามารถทางด้านเน็ตเวิร์กด้วยเทคโนโลยีของซิสโก้ โดยซิสโก้ได้จัดการอบรม แบ่งปันความรู้และทักษะให้กับบุคลากรของ ม.อ. เพื่อรองรับความต้องการของโลกดิจิทัลในอนาคต

ดังนั้นแนวทางในการสร้างสมาร์ท ซิตี้ ของแต่ละเมืองก็จะชัดเจนขึ้น ทำง่ายขึ้น และอยู่อย่างยั่งยืน หากทำงานร่วมกับภาคการศึกษาที่มีบุคลากรพร้อม และ 'แคมปัส โมเดล' นี้ ก็จะไม่หยุดแค่จังหวัดภาคใต้ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าเวิร์กก็มีโอกาสที่จะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0