โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปิดแนวคิด 'ฐากร' จัดการ OTT (Cyber Weekend)

Manager Online

อัพเดต 20 เม.ย. 2562 เวลา 01.42 น. • เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 01.42 น. • MGR Online

หากยังจำได้ เมื่อช่วงปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความพยายามในการจับ OTT (Over The Top) หรือผู้ให้บริการโซเชียล มีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป มาลงทะเบียนเข้าระบบเป็นผู้ให้บริการ OTT ในประเทศไทย

เนื่องจาก OTT เป็นปัญหาของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ทั่วโลก ปัญหาเกิดเมื่อโครงข่ายที่ลงทุนพัฒนาขึ้นกลับไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เพราะผู้บริโภคนิยมบริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่ผู้ให้บริการ OTT ต่างประเทศกลับสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการได้ เช่น ค่าโฆษณา จ่ายตรงไปในประเทศของตนเองโดยไม่มีเงินผ่านเข้ามาในประเทศเจ้าของโครงข่ายเลยแม้แต่น้อย หาก OTT ไม่ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศนั้นๆ ก็เท่ากับว่ามาใช้โครงข่ายฟรี มีรายได้กลับไปสบายๆ

แต่กสทช.ภายใต้การทำงานของ 'พ.อ.นที ศุกลรัตน์ 'ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในขณะนั้น ก็ทำได้เพียงการเรียกให้ผู้ผลิตคอนเท็นต์ในประเทศที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่มาลงทะเบียนยืนยันตัวตนเท่านั้น และทำให้ประชาชนสับสนว่าอาจจะเป็นการคุมเนื้อหาเสียมากกว่าการแก้ปัญหาเรื่องการใช้โครงข่ายฟรีของ OTT ซึ่งก็ไม่สามารถมีกฎหมายไหนมาบังคับให้ OTT ต่างชาติมาลงทะเบียนได้ จนในที่สุด คณะกรรมการกสทช.ก็ต้องล้มเลิกความคิดและกำหนดให้หาทางออกใหม่ร่วมกันอีกครั้ง

*** ไม่ใช่การเก็บภาษี

กระทั่งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แนวคิดในการเก็บค่าบริการ OTT ที่ใช้โครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศก็ผุดขึ้นมาอีกครั้งโดย 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการกสทช. ซึ่งเขายืนยันว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่การเก็บภาษี เพราะไทยไม่สามารถเก็บภาษีกับ OTT ต่างชาติได้หากไม่ได้จัดตั้งบริษัทในประเทศไทย หรือ หากมีบริษัทที่ตั้งในประเทศไทย บริษัทนั้นย่อมมีการเสียภาษีแบบถูกกฎหมายอยู่แล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

แต่แนวคิดนี้สำหรับ OTT ที่ไม่มีบริษัทจัดตั้งในประเทศไทย การเก็บค่าบริการจึงเป็นเพียงการเก็บค่าบริการในฐานะที่เข้ามาใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ สำหรับกรณีที่มีการใช้งานจำนวนมากเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ ขณะที่การให้บริการในปริมาณที่น้อยสำหรับประชาชนที่ใช้งาน OTT ฟรี จะไม่มีการเก็บค่าบริการ และรับประกันว่าประชาชนผู้ใช้งานจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือแนวคิดนี้จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ให้บริการโทรคมนาคมอาเซียนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ส.ค.นี้ด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกันถึงปัญหาดังกล่าว และอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันในระดับอาเซียน

*** IIG เป็นผู้เก็บรายได้ส่งกสทช.

ด้วยปริมาณการบริโภคข้อมูลที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลปีที่แล้วพบว่าคนไทยใช้ข้อมูลเฉลี่ย 5 เทราไบต์ต่อคนต่อปี ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการใช้ข้อมูลจะเพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนใช้โซเชียลมีเดีย ผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป และทั้ง 3 บริการนี้ก็มีการทำรายได้เชิงธุรกิจในประเทศไทยด้วย แต่การจ่ายเงินกลับเป็นการจ่ายให้โดยตรงไปยังต่างประเทศ ขณะที่โอเปอเรเตอร์ไทยเองก็เริ่มบ่นถึงผลกระทบที่จะก้าวไปสู่ 5G ที่เขาจะต้องลงทุนมหาศาล แต่ผู้ได้ประโยชน์จากเน็ตเวิร์กและทำรายได้ออกนอกประเทศ คือ OTT

ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้บริการ OTT ต่างประเทศ 3 รายใหญ่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์ โดยจากสถิติปี 2561 พบว่า เฟซบุ๊ก มีจำนวนผู้ใช้งาน 61 ล้านบัญชี มียอดใช้ 655 ล้านครั้งต่อเดือน, ยูทูป มีจำนวน 60 ล้านบัญชี ยอดใช้ 409 ล้านครั้งต่อเดือน และ ไลน์มีจำนวน 55 ล้านบัญชี ยอดใช้ 126 ล้านครั้งต่อเดือน ส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ในไทย ต้องขยายโครงข่ายเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้น ขณะที่ ผู้ให้บริการ OTT ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการหามาตรการเก็บค่าบริการในการใช้โครงข่ายกับ OTT เหล่านี้

สำหรับแนวคิด จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมกสทช.ก่อน จากนั้น กสทช.จึงจัดทำเป็นร่างประกาศหลักเกณฑ์ในการเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้โครงข่ายจากผู้ให้บริการเนื้อหาที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (Over The Top : OTT ) นำไปประชาพิจารณ์ และประกาศใช้โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ (IIG) ทั้ง 17 ราย ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกสทช.เป็นผู้ดูปริมาณการใช้งานของ OTT ต่างประเทศ

จากนั้นส่งข้อมูลให้กสทช.เพื่อทำงานร่วมกันในการกำหนดอัตราการเก็บค่าบริการการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม หากมีปริมาณการใช้งานที่มากเพื่อใช้ในเชิงธุรกิจ OTT ต้องจ่ายค่าบริการตามอัตราที่กสทช.กำหนด โดย IIG ต้องเป็นผู้เรียกเก็บและส่งเงินให้กสทช.นำไปพัฒนาโครงข่ายของประเทศและส่งเงินเข้ารัฐต่อไป

'เงินที่ได้มานอกจากจะหักส่วนหนึ่งในการใช้บำรุงรักษาโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศแล้ว ที่เหลือก็สามารถส่งเข้ารัฐ และสามารถนำตัวเลขนี้เพื่อมาอ้างอิงและมาหักลบกับค่าเริ่มต้นการประมูลเพื่อจูงใจโอเปอเรเตอร์ให้มาประมูลได้ง่ายขึ้นด้วย ขณะที่ IIG เอง ก็สามารถของบประมาณจากกสทช.ได้ หากต้องมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษเพื่อทำงานในการเก็บรายได้จาก OTT ให้กสทช.' ฐากร กล่าว

***เตรียมเสนอทางออกระดับอาเซียน

แน่นอนว่าแนวคิดนี้ต้องมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจนำประชาชนมาเป็นตัวประกัน โดยเข้าใจว่าการใช้งานโซเชียล มีเดีย อาจได้รับผลกระทบ เพราะคนไทยจัดเป็นประเทศที่มีการใช้โซเชียลมีเดียสูง ทำให้ฐากรต้องออกมาชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ของตนเอง @TakornNBTC วันที่ 8 เม.ย. 2562 ว่า 'แนวคิดเรื่องการจัดเก็บรายได้จากผู้ให้บริการ OTT เป็นข้อหารือในหลายๆ ประเทศมาไม่น้อยกว่า 2-3 ปีแล้ว ซึ่งสำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเองก็ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย

เนื่องจากผู้ให้บริการ OTT เหล่านั้น ให้บริการโดยใช้โครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคมของแต่ละประเทศจำนวนมาก แต่ไม่มีการเสียภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ และปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมที่ต้องมีการสร้าง และมีการปรับปรุง บำรุงรักษาอยู่ทุกปี

"แนวคิดในการจัดเก็บค่าใช้บริการโครงข่ายจาก OTT ที่มีการใช้งานโครงข่ายโทรคมนาคมในปริมาณมาก และมีทราฟิกในการใช้งานสูง มีการนำเสนอขึ้นมาครั้งแรกบนเวทีในงาน 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการเปิดประเด็นทางความคิดและกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการดำเนินการเรื่องจัดเก็บรายได้จากการทำธุรกิจ OTT โดยแนวคิดนี้ ผมในฐานะประธานอาเซียนด้านโทรคมนาคมในปีนี้ จะนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในเดือน ส.ค. 2562 เพื่อหาข้อยุติ"

'สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ OTT หลายประเทศก็อยากดำเนินการ ประเทศไทยเองก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีความพยายามเช่นกัน โดยเสนอให้ OTT เหล่านั้นลงทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวหลายฝ่ายรวมทั้งผม ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเราไม่สามารถบังคับ OTT ให้เข้ามาลงทะเบียนในประเทศไทยได้ นอกจากนี้หลายประเทศในอาเซียนก็ได้มีความพยายามให้ OTT ไปลงทะเบียนในประเทศของตนเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ'

นายฐากร กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแค่แนวคิดยังไม่ได้ข้อสรุป และมีผลบังคับใช้แต่อย่างใด ซึ่งหากที่ประชุมอาเซียนให้ความเห็นชอบ สำนักงาน กสทช. จึงจะทำการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งหากแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอ หลายๆ ฝ่ายเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ มีแนวทางที่ดีกว่า สำนักงาน กสทช. ก็พร้อมน้อมรับ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทั้งประเทศชาติ ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการโทรคมนาคม ผู้ประกอบการ OTT ด้วย

ทั้งหมดเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่างานนี้ไม่ได้มีแค่พี่ไทยคนเดียวเท่านั้นที่กำลังคิดจะเก็บค่าบริการการใช้งานโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศกับ OTT ต่างชาติที่ไม่มีบริษัทในประเทศของตน แต่มันคือปัญหาระดับภูมิภาคที่ทุกประเทศกำลังหาทางออกร่วมกัน มันควรจบสักทีกับการเสวยสุขจากรายได้โฆษณามหาศาล ทำลายอุตสาหกรรมอื่น โดยที่ไม่ต้องลงทุนโครงข่ายแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำของเหล่าโอเปอเรเตอร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0