โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดเส้นทาง 'ยักยอก' ลูกจ้างจังหวัดโกง 40 ล้าน

MATICHON ONLINE

อัพเดต 02 ก.ค. 2563 เวลา 06.55 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 06.55 น.
สกู๊ป-ยักยอก40ล

เปิดเส้นทาง ‘ยักยอก’ ลูกจ้างจังหวัดโกง 40 ล้าน

กลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต กรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการตำแหน่งพนักงานการเงินและบัญชี สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สารภาพว่ากระทำความผิดยักยอกงบประมาณแผ่นดินกว่า 39.2 ล้านบาท ไปเล่นการพนันออนไลน์ โดยนับกระทำความผิดรวม 166 ครั้ง ด้วยการเบิกจ่ายงบประมาณในระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS พร้อมปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงไทย สาขาประจวบคีรีขันธ์

การทุจริตเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เมษายน 2562 ก่อนจะพบพิรุธการโกงในวันที่ 17 มิถุนายน 2563 หลังจากสำนักงานจังหวัดได้รับแจ้งจากธนาคารกรุงไทยว่าเจอเช็คเด้งจากการสั่งจ่ายเงินจำนวน 1.2 แสนบาท ให้กับ สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความปลอดภัยในงานกาชาดจังหวัด

ต่อมามีการขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาในวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางราชการได้อายัดเงินคืนได้เพียง 7 แสนกว่าบาท พร้อมสั่งให้ออกจากราชการ

ล่าสุด น.ส.ขนิษฐา ถูกควบคุมตัวในเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ผัดแรก 12 วัน

เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินจากระบบออนไลน์พบว่ามีการโอนเงิน 33.9 ล้านบาท เข้าบัญชีมารดาที่ ธ.ก.ส.สาขาประจวบฯ เพื่อให้เป็นตัวแทนในระบบหลักผู้ขาย จากนั้นมีการกรอกข้อมูลผ่านแบบขออนุมัติข้อมูลหลักผู้ขาย ปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจ เพื่อนำไปสร้างข้อมูลหลักผู้ขายและสั่งจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีที่กรอกไว้ตามแบบอนุมัติข้อมูลหลักผู้ขาย

นอกจากนั้น มีการโอนเงินเข้าบัญชีญาติอีกหลายรายและกระจายเงินไปมากกว่า 100 บัญชี เพื่อฟอกเงินในเว็บพนันออนไลน์

เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดสมุดบัญชีธนาคารจำนวน 18 เล่ม บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม รวม 22 ใบ สมุดเช็คงบประมาณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ธนาคารกรุงไทยหลายฉบับ ลงลายมือของผู้มีอำนาจสั่งจ่าย โดยไม่กรอกตัวเลขจำนวนเงินและชื่อบุคคลที่สั่งจ่าย รวมมีเช็คสั่งจ่ายหัวหน้าการเงิน จำนวนเงิน 3 แสนบาท จากเช็คงบประมาณจังหวัด

ยังพบว่าสมุดบัญชีบางเล่มการบันทึกรายการเบิกจ่ายผ่านระบบในวันที่ 30 เมษายน 2563 มีเงินถูกโอนเข้าบัญชี 20 รายการ วงเงิน 5.9 ล้านบาท ผู้ต้องหาใช้บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพในการโอนเงินเข้าและถอนไปบัญชีอื่นโดยใช้ระบบอี-แบงก์

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่พบการโอนเงินไปให้เว็บพนันออนไลน์ครั้งเดียว 26 ล้านบาท ลักษณะการฟอกเงิน โดยผู้โอนที่ได้เงินจากการฉ้อโกง ไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้การพนัน แต่สามารถโอนเงินไปฝากไว้เพื่อถอนเงินสดจากบัญชีอื่นในภายหลัง จากนั้นเว็บพนันมีเงื่อนไขหักหัวคิวจากจำนวนเงินฝาก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อว่าเงินที่ได้จากการยักยอกจะมีการโอนไปใช้หนี้พนันออนไลน์ทั้งหมด และยอมรับว่าการติดตามเงินสดกลับคืนทำได้ยาก เนื่องจากการโอนเงินให้เว็บพนัน จะมีการว่าจ้างบุคคลอื่นเปิดบัญชีเงินฝากต่อเนื่องอีกหลายทอด

หลังพบการทุจริต พัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีปลัดจังหวัดทำหน้าที่ประธาน มีกรรมการ 5 ราย แต่พบว่ามีการตั้งบุคคล 3 ราย จากสำนักงานจังหวัดทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงถูกทักท้วงเรื่องความเหมาะสม และล่าสุดได้สั่งให้หัวหน้างานการเงินหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวแต่รับเงินเดือนตามปกติ ภายหลังพบว่าเช็คงบประมาณจังหวัดที่สูญหาย 6 ฉบับ ไม่มีการแจ้งความเช็คหาย

ผู้ว่าฯประจวบฯกล่าวว่า การมอบอำนาจให้ลูกจ้างเบิกจ่ายเงินและมอบรหัสผ่านให้เข้าถึงระบบการเบิกจ่ายออนไลน์ เกิดจากผู้มีอำนาจสั่งจ่าย 2 ราย มอบงานให้ปฏิบัติด้วยความไว้วางใจ ปัญหาจึงเกิดจากผู้มีอำนาจในหน่วยงานปล่อยปละละเลย ปล่อยให้ลูกจ้างทำงานโดยพลการ เนื่องจากเห็นว่าเชี่ยวชาญในระบบไอที

“หากผลการสอบสวนพบความบกพร่องของข้าราชการรายใด ก็จะต้องรับผิดทั้งทางวินัยและชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิด” ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์กล่าว

ขณะที่ระเบียบกระทรวงการคลัง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเก็บเงินสด สมุดบัญชีธนาคาร และเช็คธนาคาร ไว้ในตู้นิรภัยเก็บเงินในห้องมั่นคงสำหรับระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณ มีผู้รับผิดชอบตามลำดับชั้น ขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน ที่สำคัญสำนักงานจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมงบประมาณแทบทุกหน่วยงานในจังหวัด

จึงมีคำถามว่า เหตุใดผู้มีอำนาจจึงไม่ควบคุมหรือตรวจสอบเงินงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้

และยังมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน ที่มีสายงานขึ้นตรงในการตรวจสอบการใช้จ่ายทุกประเภท แต่ภายในหน่วยงานไม่พบความผิดปกติในระบบการเงินการคลังภาครัฐ

นางสาวอภิสร์ญา พัดเกร็ด ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.ให้ความสนใจ เนื่องจากการทุจริตดังกล่าวยอมรับว่าไม่เคยพบเจอที่จังหวัดไหนมาก่อน ป.ป.ช.พร้อมสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะเส้นทางการโอนเงินที่เชื่อมโยงถึงบุคคลอื่น ผลการสอบสวนทางวินัย หากพบว่ามีข้าราชการรายใดมีความผิดต้องชดใช้ความเสียหายในทางละเมิด

ประดิษฐ์ ยมานันท์ ข้าราชการบำนาญ ชาว อ.บางสะพาน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณด้วยระบบ GFMIS หลายปีที่ผ่านมา มีความเสี่ยงกับปัญหาการทุจริต

หัวหน้าสำนักงานจังหวัดจึงควรตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของจังหวัด มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่นในระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค แต่ตรวจไม่พบปัญหาการทุจริตในสำนักงาน ต้องชี้แจงว่าทำหน้าที่อย่างไร ปล่อยให้ลูกจ้างทุจริตนานมาก

ขณะที่ปกติผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณเข้ามาตรวจสอบตัวเลขอย่างต่อเนื่อง

หลังมีการเสนอข้อมูลการทุจริตงบ 39.2 ล้านบาท ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนส่วนใหญ่

ไม่เชื่อว่าลูกจ้างจะกระทำความผิดยักยอกเงินได้เพียงรายเดียว และอาจเข้าข่ายการจัดฉากให้เป็นแพะ ส่วนความบกพร่องจากการทุจริตงบ 39.2 ล้านบาท มีผลกระทบกับการพัฒนาจังหวัดหลายด้าน

ทำให้มีข้อสงสัยว่าแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ที่มีตัวชี้วัดในการป้องกันการทุจริต การใช้หลักธรรมาภิบาล และการบริหารความโปร่งใสขององค์กร มีการปฏิบัติจริงตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่

วันนี้ประชาชนต้องการทราบว่า หลังจากนี้บรรดาผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ ควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมด จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

หากไม่ได้เงินสด 39.2 ล้านบาท จากการโกงของลูกจ้างรายนี้กลับคืนมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0