โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดเวทีดีเบต เบื่องานประจำทำไงดี?

HealthyLiving

อัพเดต 22 เม.ย. 2562 เวลา 11.53 น. • เผยแพร่ 17 เม.ย. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
Debate_OPT3.jpg

เมื่อใจหนึ่งก็อยากลาออกไปตามหาความฝัน แต่อีกใจกลับโดนฉุดรั้งด้วยงานประจำว่าออกแล้วจะเอาอะไรกิน ถกประเด็นร้อนกับ บลอกเกอร์หน้าใหม่ “แมน เที่ยวไง” และ อดีตเกมเมอร์รุ่นเก๋า “ไกด์ ก็อดแฮนด์”
อยากจะเปิดเพจท่องเที่ยว เป็นบลอกเกอร์ที่เที่ยวเก่งจนทำเงินได้เป็นถุงเป็นถัง อยากจะเป็นเกมเมอร์ที่ได้เล่นเกมโต้รุ่งจนประสบความสำเร็จ หากมีคนพูดประโยคเหล่านี้ให้ฟังเมื่อสิบปีก่อน เราคงทำหน้าแหยใส่แล้วตอบกลับไปว่า เพ้อฝันน่าดู แต่ในยุคที่เงินลอยอยู่ในอากาศ หยิบจับอะไรก็เป็นเงินทอง ทำให้คนมากมายเลือกบอกลางานประจำและออกเดินทางตามฝัน 
โดยเฉพาะบรรดามนุษย์ออฟฟิศที่อยากลาออกไปทำในสิ่งที่ชอบ อยากจะชอบในสิ่งที่ทำ แต่ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิตก็ทำให้เกิดอาการสองจิตสองใจ ถ้าลาออกไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จล่ะจะเอาอะไรกิน แต่ก็ไม่อยากทำงานประจำแล้ว เกิดเป็นคำถามล้านแปดที่ลอยฟุ้งอยู่ในหัว
“งานฟรีแลนซ์ดินแดนของคนมีฝัน หรืองานประจำต้องทำเพื่อความมั่นคง?” ในเมื่อสับสนจนตัดสินใจเองไม่ได้ เราขอเปิดเวทีถกประเด็นร้อน ระหว่าง 2 หนุ่ม “แมน เที่ยวไง” บลอกเกอร์ท่องเที่ยวหน้าใหม่หัวใจเต็มไปด้วยแพสชั่น และ “ไกด์ ก็อดแฮนด์” อดีตเกมเมอร์รุ่นเก๋าที่ผันตัวกลับมาเป็นพนักงานประจำ ชีวิตแบบไหนจะดีกว่า  มาลองหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
“แมน เที่ยวไง” หรือนายกิติพัฒน์ อุ่นเมือง อายุ 24 ปีบลอกเกอร์หน้าใหม่ที่จุดไฟให้คนอยากเที่ยวอยากไปต้องได้ไป อยากทำอะไรต้องได้ทำ
VS
“ไกด์ ก็อดแฮนด์” หรือนายนริศ สกุลธนกฤช อายุ 27 ปี อดีตเกมเมอร์รุ่นเก๋าดีกรีตัวแทนประเทศไทยไปแข่งเกมฮอนไกลถึงสวีเดน ปัจจุปันเป็นพนักงานประจำตำแหน่งนักตัดต่อวีดีโอ

ตอนที่ 1 : จุดเริ่มต้นสเต็ปแรกของการเข้าสู่วงการฟรีแลนซ์ต้องเริ่มต้นจากอะไร

 แมนเล่าให้เราฟังว่า เขาเริ่มเปิดเพจครั้งแรกสมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยตอนนั้นทำโปรเจคจบอยู่และมันยากมาก ไม่รู้จะทำยังไงดี ความเครียดทำให้แมนตัดสินใจไปเที่ยวน่าน พอผมไปถึง สิ่งแรกที่นึกขึ้นมาในหัวคือมันสวยมาก คือสวยแบบคนอื่นควรเห็น ไม่ใช่แค่เขาที่ได้เห็น คนอื่นควรรู้จักที่นี่มากกว่านี้ พอจบทริปเขาก็เลยกลับมาตั้งกระทู้พันทิป ชื่อหัวกระทู้ว่า “น่านไง อยากไปต้องได้ไป” ซึ่งกระทู้นี้มีคนแชร์ไปมากกว่าหกหมื่นแชร์
“มันเยอะจนผมก็รู้สึกว่า เห้ย หรือเราควรสร้างอะไรสักอย่าง เพราะตอนนี้มันหยุดแค่นี้ไม่ได้ ผมก็เลยสร้างเพจเที่ยวไงขึ้นมา” แมนเล่าด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข
แมนอธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงตอนนั้นเพจเฟซบุ๊กจะไม่ได้ดังเท่าตอนนี้ แต่เขาคิดว่าถ้ามีอะไรให้คนเข้ามามีส่วนร่วมอาจจะมีประโยชน์ในอนาคต โดยตอนนั้นเขายังไม่เข้าใจเลยว่าพวกเพจเฟซบุ๊กมันจะทำเงินได้ยังไง
จากนั้นแมนก็ได้ส่งกระทู้รีวิวเที่ยวน่านไปที่ A day magazine Online ด้วย ทำให้คนรู้เริ่มจักเที่ยวไงมากขึ้น มีคนมากดไลค์ประมาณพันกว่าคนในเวลาไม่นาน เพจใหญ่ ๆ ก็แชร์กันเยอะ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่บลอกเกอร์อาชีพของเขา 

 ส่วนเส้นทางวิถีเกมเมอร์ของไกด์ก็มีจุดเริ่มต้นไม่แตกต่างกันนัก คือ เริ่มต้นด้วยความชอบ ไกด์เล่าว่า เขาเริ่มเล่นเกมฮอนตั้งแต่มัธยมปลาย (ประมาณ 10 ปีที่แล้ว) ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เกมดอทเอบูมในไทยมาก แต่ฮอนยังไม่เข้าไทย เขาก็ต้องเล่นเซิร์ฟของต่างประเทศ จนฮอนเข้าไทย ไกด์ที่เริ่มเล่นมาก่อนคนอื่น ๆ ก็เหมือนมีพื้นฐานที่มากกว่า
“ผมก็เล่นมาเรื่อย ๆ เล่นเอามัน ไม่เคยคิดว่าจะดังจะเป็นเกมเมอร์อะไรเลย เรียกว่าเล่นแบบเด็กเกรียนติดเกมเลยดีกว่า เหมือนเกรียนไร้ค่าไปวัน ๆ ผมเคยดรอปเรียนปีนึงด้วยนะ เพื่อเล่นเกมฮอนอย่างเดียวเลย แถมติดเงินร้านเกมเป็นหมื่นอีก” ไกด์เล่าอย่างอารมณ์ดีเราถามไกด์เพิ่มเติมว่า ทำไมไม่เล่นดอทเอแล้วเป็นเซียนดอทเอไปเลย ไกด์ตอบว่า ตอนที่ดอทเอบูม เขาก็เล่นนะ ไม่ใช่ว่าไม่เล่น แต่เขารู้สึกว่าดอทเอมีทีมอันดับหนึ่งอยู่แล้ว แล้วเขาล้มไม่ได้ เขาเลยคิดว่าไปเล่นฮอนดีกว่า เพราะมันมีโอกาสจะเป็นที่หนึ่งมากกว่า
ตอนที่ 2 : จุดเปลี่ยน
ยอมรับความเสี่ยงเพราะความสุขต้องมาก่อน ด้วยการบอกลางานประจำที่ทำแล้วเครียดสู่เส้นทางบลอกเกอร์ท่องเที่ยวที่รายได้ไม่แน่นอน
แมนเล่าว่า หลังจากเรียนจบก็มาสมัครงานเป็นนักเขียนคอนเท้นต์ที่ดิจิทัลเอเจนซี่ที่นึง แต่ทำไปได้เพียงประมาณ 3-4 เดือน ก็รู้สึกว่ายอมรับกับความเครียดและความกดดันแบบงานเอเจนซี่ไม่ไหว
“ผมยอมได้เดือนละหมื่นก็ได้ แต่ขอไม่ทำแล้วได้ไหม ขอแค่เครียดน้อยกว่านี้ ผมยอมเสียเงินไปเพื่อซื้อความสุขกลับคืนมาดีกว่า ตอนทำงานประจำคือช่วงที่ดาวน์ที่สุดในชีวิตแล้วครับ กลัวตัวเองเป็นโรคซึมเศร้ามาก ยิ่งผมเป็นคนที่ยึดติดกับความสุขตัวเองด้วย ถ้าอะไรที่ทำแล้วไม่มีความสุข หยุด อย่า ผมเลยตัดสินใจลาออกครับ” แมนกล่าว แต่ทั้งนี้แมนก็ไม่ได้ลาออกเพื่อมาเที่ยวเพียงอย่างเดียว แรกเริ่มเขาแค่อยากจะออกมาพัก เพราะตอนนั้นเพจเที่ยวไงก็ยังเป็นแค่เพจเล็ก ๆ มีแฟนแค่ไม่กี่พัน มันยังไม่สามารถทำเงินได้
เมื่อเราถามถึงรายได้ แมนเล่าว่า ช่วงแรกเขาก็ใช้เงินเก็บก่อน พยายามทำทุกอย่างที่สามารถทำเงินให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำกราฟฟิก หรือว่าจะเป็นการทำอะไรก็ได้ที่มันให้เงิน เขาทำหมด รับทำแม้กระทั่งการสกรีนเสื้อ ยอมทำทุกอย่างที่ได้เงินไปเที่ยวและถ่ายรูปมาลงเพจต่อหลังจากนั้นไม่นาน แมนได้การติดต่อจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เขาไปร่วมทริปด้วยกัน และจุดนั้นเองที่ทำให้เขาได้รู้จักบลอกเกอร์ท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ที่มารวมตัวกันเป็นสังคมขนาดย่อม ๆ และเปิดโลกให้เขาเข้าสู่วงการบลอกเกอร์อย่างแท้จริง
ก้าวชีวิตในฝันกับจุดเปลี่ยนที่ทำให้งานอดิเรกกลายเป็นงานทำเงิน
สำหรับไกด์ในหมู่สายเกม หากพูดชื่อ God Hand คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเขาเป็นเกมเมอร์ท็อป 3 ระดับตำนานเซียนฮอนของประเทศไทย ไกด์เล่าว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กเกรียนเกมมาเป็นเกมเมอร์ เริ่มต้นตอนที่ฮอนเข้ามาเปิดในไทย ทำให้คนจากดอทเอก็เริ่มมาเล่นฮอน ส่วนเขาที่อยู่ฮอนตั้งแต่ต้นก็เริ่มดัง
“ตอนนั้นมีทัวร์แข่งฮอน 7 จังหวัด (ประมาณปี 2554) ที่หนึ่งได้หนึ่งแสนบาท ผมว้าวมากเลย ซึ่งผมได้ที่หนึ่ง รู้สึกเหมือนคนถูกลอตเตอรี่ แต่มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง” ไกด์เล่าอย่างภาคภูมิใจ
หลังจากนั้นไม่นานก็มีบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ติดต่อไกด์ ให้เล่นฮอนโชว์ โดยสตรีมผ่านแอปพลิเคชันหนึ่ง นั่นเป็นจุดที่ทำให้เขาเข้าสู่สายเกมเมอร์เต็มตัว เขาเริ่มมีแฟนคลับ อย่างในการสตรีมเกมแต่ละครั้งก็จะมีคนกดส่งของขวัญให้ 
ไกด์เสริมทั้งรอยยิ้มว่า ตอนนั้นแฮปปี้มาก ได้ทั้งเงินและชื่อเสียง มีคนรู้จักเขาเยอะมาก ซึ่งเขาไม่เคยเจออะไรอย่างนี้มาก่อน แบบว่ามีคนมาติดตาม มีคนมาคุย มีคนมาชอบ ยิ่งตอนแข่งทัวร์ใหญ่ ๆ ก็จะมีคนเข้ามารุมล้อมว่า พี่ God Hand ปะครับ ขอถ่ายรูปหน่อยครับพี่ ผมชอบพี่ เหตุการณ์แบบนี้ทำให้เขารู้สึกเหมือนตัวเองดารา
มีขึ้นก็ย่อมมีลง เมื่อกระแสหายไปรายได้ที่ก็ลดลง ทำให้เซียนฮอนระดับประเทศสละบัลลังก์มาเป็นพนักงานออฟฟิศ
ไกด์คุยอย่างเปิดใจว่า เขาต่างกับแมนตรงที่แมนเริ่มจากการเป็นพนักงานประจำแล้วลาออกมาทำเพจ แต่เขาเป็นเกมเมอร์ที่ได้เงินและชื่อเสียงมากมายมาตั้งแต่สมัยเรียน พวกเขาทั้งสองคนจะกลับกัน เขาเข้าใจน้องทุกอย่างว่าการได้ออกมาทำตามความฝันมันหอมหวานมาก แต่พอเรียนจบ เขากลับโดนความเป็นจริงตอกเข้ามาที่หน้า
“ตอนนั้นเกมฮอนเริ่มดรอปพอดี เพราะมีเกมใหม่อย่าง ROV เข้ามาแทนที่ ซึ่งเกมนี้มาแรงมาก มันใช้เวลาแค่สองเดือนโยกคนจากฮอนไป ROV หมดเลย เนื่องจากมันสามารถเล่นในมือถือ เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา ต่างกับฮอนที่ต้องเล่นกับคอมเสมอ”
“เชื่อไหมว่าช่วงพีค ๆ ผมสามารถทำเงินจากการเล่นฮอนได้ประมาณเดือนละ 6-7 หมื่นบาท แต่พอ ROV มารายได้ผมลดเหลือแค่หมื่นเดียว เคยมีคนมาชวนผมไปเล่น ROV เหมือนกันนะ แต่ผมก็ไม่เคยคิดจะไปเล่นจริงจังเหมือนฮอน เพราะผมไม่อยากเริ่มนับศูนย์ใหม่” ไกด์เล่าอย่างออกรส
ไกด์ยังตอกย้ำความมาไวไปไวของกระแสเกมออนไลน์ให้เราฟังว่า กระแสเกมมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จะให้เขาเปลี่ยนเกมตามทุกครั้ง กว่าจะฝึกจนเซียนในเกมนั้น ๆ ก็คงตามไม่ทัน ที่สำคัญเขามีครอบครัวที่ต้องดูแลด้วย แล้วอาชีพฟรีแลนซ์รายได้มันไม่มั่นคง เขาเลยเลือกที่จะมาทำงานประจำงานฟรีแลนซ์ดินแดนของคนมีฝัน VS งานประจำต้องทำเพื่อความมั่นคงตัวช่วยในการตัดสินใจง่าย ๆ ให้ดูที่ความพร้อมของชีวิต
นอกจากแพสชั่นที่แรงกล้าที่ทำให้พวกเขาเริ่มต้นเดินทางบนถนนแห่งความฝัน มันก็ยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ต้องพิจารณาควบคู่กันก่อนออกตัวจากจุดสตาร์ท โดยทั้งสองได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
“ผมคิดว่าก่อนจะลาออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบเต็มตัวก็ต้องมั่นใจระดับหนึ่ง ต้องดูความพร้อมของตัวเองด้วย แล้วที่สำคัญต้องคิดถึงคนข้างหลังด้วยว่าไหวหรือเปล่า พวกเขาโอเคไหมกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น”
“ถ้าผมตัวคนเดียวก็คงไปเป็นเกมเมอร์อย่างเก่าแล้ว แต่ผมก็อายุเยอะและมีครอบครัวที่ต้องดูแล ต้องคิดวางแผนเรื่องวางแผนอนาคตจริง ๆ จัง ๆ จะมาใช้ชีวิตคนเดียวไม่ได้ ไม่ใช่ว่าออกมาทำแล้วเดือดร้อนคนข้างหลัง นี่คือนอกจากล้มเหลวแล้ว ยังเป็นภาระคนอื่นอีกนะครับ” ไกด์แนะนำอย่างจริงใจ แต่ทั้งนี้ไกด์ไม่ได้บอกว่าให้ทำแต่งานประจำแล้วหยุดทำสิ่งที่ชอบนะ ทุกวันนี้ถึงเขาจะไม่ได้เป็นคนลงสนามเล่นโดยตรง แต่ด้วยประสบการณ์ที่เยอะพอสมควรก็เลยผันตัวมาเป็นโค้ชให้พวกรุ่นน้องที่สนิทกัน ซึ่งเขาก็ไม่ได้เสียเวลา เรื่องการงานก็ไม่ได้กระทบ ถ้าโชคดีน้อง ๆ ไปได้ไกล เขาก็ได้ชื่อเสียง ได้เงิน ได้สปอนเซอร์ ได้ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนพวกคนแข่งเลยด้วย
ส่วนแมนที่เพิ่งเรียนจบหมาด ๆ ยังไม่มีภาระทางการเงินหรือทางครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบมากนักกล่าวว่า บางทีการเป็นบลอกเกอร์มันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนที่เราคิดเสมอไป ถ้าคุณรู้ตัวว่าคุณมีภาระหนักขนาดนั้น แล้วคุณยอมก้าวออกมาทำมันก็คือการวางแผนที่ผิดพลาด ถ้าไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งมาเป็นบลอกเกอร์เต็มตัว
แต่คุณอาจไม่ต้องรอวันที่พร้อม 100% ก็ได้ ถ้าอยากทำก็ทำเลย โดยเริ่มจากการทำบลอกควบคู่ไปกับงานประจำก่อนก็ได้  เพราะถ้าเราไม่ทำ มันก็ไม่ได้เริ่มสักที เวลาเพื่อนของเขาถามว่า อยากเป็นแบบแมน  ทำไงถึงได้ไปเที่ยวแบบแมนบ้าง เขาก็มักจะบอกว่า ทำเลย ทำไปก่อน มีแค่รูปเดียวก็ต้องทำ“ผมแค่มีความรู้สึกว่า ทุกวันนี้แค่กินเครื่องดื่มใต้ตึกที่ทำงานก็รีวิวได้แล้ว ทุกอย่างในชีวิตรอบตัวมันทำได้หมด อยู่แค่ว่าเราจะทำอะไรกับมันแค่นั้นเองครับ แค่ลงมือทำครับ” แมนกล่าวอย่างมุ่งมั่น
ได้อ่านเรื่องราวเส้นทางสายอาชีพของแมน เที่ยวไง และไกด์ ก็อดแฮนด์ กันไปแล้ว หลายคนคงได้คำตอบในใจว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อดี สักครั้งหนึ่งในชีวิตไม่เสียหายที่จะทำตามความฝันให้เป็นจริง แต่อย่าลืมคำนึงถึงภาระหน้าที่และความเป็นจริงที่ต้องรับผิดชอบกันด้วยนะ วางแผนอนาคตให้ดีแล้วลุยเลย!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0