โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปิดสถิติหุ้นไทยช่วง ‘โรคระบาด’ พบดัชนีพุ่งแรง หลังปัญหาจบ

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 23 ม.ค. 2563 เวลา 01.00 น.

ประเด็นดังกล่าวเริ่มทำให้ตลาดทวีความกังวลมากขึ้น หลังจากที่มีการเปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโรคสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้แล้ว ส่งผลให้ยอดของผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นทะลุ 400 ราย กระจายใน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ และไทย

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัจจุบันเทียบกับสถิติในอดีตว่า ไวรัสโคโรน่าที่แพร่ระบาดในขณะนี้ มีลักษณะคล้ายกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ในปี 2546 ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในอดีต มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 8,000 ราย และมีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตราว 10%

ส่วนโรคเมอร์สที่เคยแพร่ระบาดเมื่อปี 2555 - 2558 มีผู้ติดเชื้อ 2,400 ราย แต่มีอัตราผู้เสียชีวิตถึง 35%หากเทียบสถิติในช่วงแรกของการแพร่ระบาด พบว่า การแพร่กระจายของโรคในครั้งนี้ดูเหมือนจะรวดเร็วมากขึ้น เพราะในกรณีของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 ช่วง 20 วันแรก มีผู้ติดเชื้อเพียง 95 ราย เทียบกับปัจจุบันที่ 219 ราย

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นในอดีตที่ผ่านมา มักจะใช้เวลาประมาณ 3 - 6 เดือน สำหรับการควบคุมโรค ซึ่งในปี 2546 หุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวลงประมาณ 7-15% ส่วนปี 2558 ที่โรคเมอร์สเริ่มระบาดเข้ามาในไทย ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวลงประมาณ 5 - 11%

ส่วนในครั้งนี้หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม และการบิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ติดลบไปแล้วประมาณ 7-20%

ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคจะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อจึงมีความเป็นไปได้ที่การเดินทางท่องเที่ยวต่างๆ น่าจะลดลงคล้ายกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ในช่วงปี2546 โดย 3เดือนแรกของการแพร่ระบาด พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในเมืองไทยลดลง40 - 50%

อย่างไรก็ตาม จากสถิติของดัชนีหุ้นไทย ในช่วงที่เคยเกิดโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 ในช่วงแรกดัชนี SET ลดลงประมาณ 4% ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโรคซาร์ อาทิ สายการบิน โรงแรม โรงภาพยนตร์ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ร่วงลงราว10 - 19% นับจากจุดสูงสุดในเดือน มี.ค.ถึงจุดต่ำสุดในเดือน เม.ย. 2546

แต่หลังจากนั้น ดัชนีตลาดสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างร้อนแรงตามการเติบโตของเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยดัชนีSETซึ่งวิ่งขึ้นจากประมาณ 350 จุด ในช่วงเกิดโรค และปิดปี 2546 ที่ระดับ 772.15 จุด เพิ่มขึ้นถึง 120% ส่วนหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เมื่อสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ราคาหุ้นก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้

ส่วนปี 2558 ที่โรคเมอร์สเริ่มระบาดเข้ามาในไทยและคลี่คลายในช่วงกลางปี ตลอดทั้งปีดัชนีปิดลบไป 13.9% โดยปัจจัยที่นอกเหนือจากเรื่องโรคในขณะนั้น คือปัญหาหนี้สินของกรีซและประเทศในกลุ่มยุโรป

สำหรับภาพของการลงทุนในระยะสั้น บล.เอเซียพลัส มองว่า การแพร่ระบาดของโรคถือเป็นความเสี่ยงกระทบต่อยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในอนาคต แม้ตัวเลขผู้ใช้บริการสนามบินของ AOT ระหว่างวันที่ 1 - 18 ม.ค. ที่ผ่านมา จะขยายตัว1.7% จากปีก่อน แต่เชื่อว่ามีโอกาสชะลอลงในอนาคต ซึ่งต้องติดตามต่อการควบคุมการแพร่กระจายของโรคว่าจะทำได้รวดเร็วเพียงใด ในเบื้องต้นน่าจะกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางไปทั่วโลกซึ่งมีกว่า 180 ล้านคนต่อปี

ในรอบนี้คาดเหตุการณ์จะคล้ายในอดีต คือ เป็นลบต่อหุ้นในกลุ่มการบิน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าจะกระทบต่อผู้ที่มีรายได้จากลูกค้าจีนโดยปัจจุบัน บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.การบินไทย (THAI) และบมจ.การบินกรุงเทพ (BA) มีสัดส่วนรายได้จากจีนราว 30%, 15%, 8% และ 2% ตามลำดับ โดยรวมจึงยังคงให้น้ำหนักการลงทุน "น้อยกว่าตลาด" ระยะสั้นแนะนำให้ชะลอการลงทุนในกลุ่มนี้

ส่วนหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนเช่นกัน เพราะกระทบต่อหุ้นในกลุ่มทุกตัว โดยเฉพาะ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ที่มีสัดส่วนรายได้มาจากโรงแรมในประเทศมากสุดราว90% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และบมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL)ถูกกระทบเช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0