โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เปิดรายงาน "ซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย" คุณภาพ-ความใส่ใจต่อสังคมมีมากแค่ไหน?

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2561 เวลา 10.52 น.
IMG_0026

“ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ถือเป็นรูปแบบการกระจายสินค้าและบริการที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมในยุคเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับผู้บริโภคได้เข้าใช้บริการในการแลกเปลี่ยน จับจ่ายเพื่อบริโภค บรรดาบริษัทด้านค้าปลีกที่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นกลไกสำคัญ จึงมีส่วนในฐานะผู้ร่วมเกมส์การตลาดสินค้าและบริการจนเวลาต่อมาเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น และกลายเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคจนต้องหันมาพึ่งพา และบริษัทค้าปลีกเหล่านี้ทำรายได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างมหาศาล ซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงเป็นตัวแทนของระบบการค้าปลีกแบบใหม่หรือโมเดิร์นเทรด ที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาหาร กุมอุปสงค์-อุปทานของตลาดในปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตมากที่สุด

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ออกซ์แฟม ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ได้ร่วมกันเปิดแคมเปญ “ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” เพื่อเปิดตัวรายงานผลการศึกษาและประเมินนโยบายด้านสังคมของบรรดาซุปเปอร์มาร์เก็ตของบริษัทค้าปลีกในประเทศไทย ในรูปแบบ Scorecard ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ หลังจากที่ ออกซ์แฟม องค์กรระหว่างประเทศด้านการพัฒนาและแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้เปิดตัวรายงานRipe for Change เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประเมินนโยบายด้านสังคมของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ทั่วโลก

ผลการศึกษาจากรายงานดังกล่าว ออกซ์แฟมระบุว่า กว่า 30 ปีที่ผ่านมา วิกฤตความเหลื่อมล้ำทั่วโลกทำให้เห็นถึงอำนาจและเงินรางวัลของธุรกิจขนาดใหญ่และเจ้าของรายอื่นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจับจ่ายของประชาชน รวมถึงผุ้ที่ปลูกและผลิตอาหาร

ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา มีเพียงยักษ์ใหญ่ซุปเปอร์มาร์เก็ตส่วนน้อยที่ยึดครองตลาดซื้อขายอาหาร บ่อยครั้งที่ค่าใช้จ่ายมาจากร้านค้าและตลาดท้องถิ่น หลังจากสถาปนาอิทธิพลลงในประเทศรายได้สูงแล้ว แนวคิดซุปเปอร์มาร์เก็ตได้เติบโตไปในประเทศรายได้ปานกลาง จากละตินอเมริกา ก่อนแพร่หลายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนทางเหนือและแถบซับ-ซาฮาร่าของทวีปแอฟริกา

ออกซ์แฟมได้ระบุในรายงานอีกว่าบริษัทค้าปลีกอาหารรายใหญ่อย่างวอลมาร์ท ทำรายได้สุทธิในปี 2016 อยู่ที่ 4.86 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่ารายได้มวลรวมประชาชาติของนอร์เวย์หรือไนจีเรีย และยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ตอีก 8 แห่ง ทำรายได้ทั่วโลกบางครั้งมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2016 ทำกำไรเกือบ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และทำเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เครือข่ายกินเปลี่ยนโลกกล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.2ล้านล้านบาท(2559) ราว 15%ของจีดีพีในประเทศ อันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม และพบว่ามีผู้เล่นในระบบตลาดค้าปลีกอยู่ 7-8 บริษัท มีการจ้างงาน 15%ของการจ้างงานในประเทศ หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต

“ช่องทางในการขายมีความหลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากจำนวนสาขาที่ยังขยายตัวแล้ว ยังพบช่องทางการขายเช่น ออนไลน์ เปิดแอพลิเคชั่น ส่งตรงถึงบ้าน ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง และยังขยับมาทำ House-Brand มากขึ้น ซึ่งมีข้อดีคือ ค้าปลีกสามารถควบคุมห่วงโซ่อุปทานได้” น.ส.กิ่งกร กล่าว

น.ส.กิ่งกรกล่าวอีกว่า งานศึกษาล่าสุดของอ็อกแฟมสากลจะเห็นว่าห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยเป็นคอขวด มีเกษตรกรมากถึง 23 ล้านคน แต่ผู้ผลิตสินค้าการเกษตรรายใหญ่ ผู้ค้า ผู้ผลิตและค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่มีไม่มาก เทียบสินค้าราคา 100 บาท ส่วนแบ่งมูลค่าการตลาดอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต 30 บาท โรงงานแปรรูป 22.8 บาท พ่อค้าคนกลาง 8.1 บาท เกษตรกร 13.9 บริษัทเมล็ดพันธุ์ 25.1 บาท

“ยังมีรายงานศึกษาอีกชิ้นระบุว่า ผู้ผลิตและแรงงานของเรา งานศึกษาของออกซ์แฟม ประเทศไทย ซึ่งศึกษา 60 ตัวอย่าง โดยใช้หลัก Household Food Insecurity Access Scale ศึกษาจาก 14 ราย พบว่า อยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหารค่อนข้างสูง และประเทศอื่นเมื่อศึกษาในกรอบเดียวกันจะพบว่า บรรดาผู้ผลิตขนาดเล็กในอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหารหรือ อาหารไม่พอกิน รายงานพบว่า เพียงปรับสัดส่วนการค้าไม่เกิน 5% จะทำให้รายได้ของผู้ผลิตและแรงงานเพิ่มขึ้น จะเปลี่ยนแปลงชีวิตชาวประมงและเกษตรกรอย่างมหาศาล” น.ส.กิ่งกร กล่าวอีกและว่า เราอยากทำงานร่วมกับผู้ประกอบการค้าขนาดใหญ่หาทางสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมร่วมกัน เราคิดว่าผู้บริโภคมีอำนาจและพลังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าซูเปอร์มีกระบวนการจัดการที่เป็นธรรมขึ้นเราจะสร้างความเป็นแปลงมหาศาลในสังคม เราไม่ได้หาคนผิด แต่จะหาแนวทางที่จะพัฒนาต่อไปด้วยกันได้

ด้านนายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการประเมินนโยบายด้านสังคมของซุปเปอร์มาร์เก็ตไทยนั้น ประยุกต์มาจากการประเมินแบบเดียวกันใน 4 ประเทศของยุโรปและอเมริกา ในกรอบประเมินดังกล่าว ไม่ได้ประเมินไปถึงคุณภาพอาหารปลอดภัย แต่ดูที่มิติทางสังคมใน 4 เสาหลัก ได้แก่ 1.ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม 2.แรงงาน เราดูในนโยบายที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน เช่นแรงงานในโรงงานแปรรูป ชาวประมง เพื่อดูว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตมีนโบายแรงงานที่ปรับใช้กับซัพพลายเออร์มากแค่ไหน3.ผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงเกษตรกรรายย่อยและชาวประมง และ 4.สตรี ซึ่งเป็นวาระกระแสระดับโลกว่าบริษัทมีนโยบายต่อเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้ ใช้ข้อมูลจากนโบายสาธารณะและข้อมูลสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้ จากเว็บไซต์ รายงานประจำปี รายงานความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงข่าวแจกและแถลงการณ์ต่างๆ เน้นที่การมีส่วนร่วมกันระหว่างองค์กรประชาสังคมกับบริษัทค้าปลีก จากนั้นได้มีการส่งรายงานเบื้องต้นไปยังบริษัทเอกชนด้วยสมมติฐานที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่ สิ่งที่เห็นในสื่อสาธารณะอาจไม่ครบถ้วน หรือเอกชนมีนโยบายเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกเผยแพร่ในสาธารณะ จึงเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทนำเสนอ พร้อมกับให้เวลากับบริษัทที่ได้ชี้แจงนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรับนโยบายได้

“ผลการประเมินซุปเปอร์มาร์เก็ต 8 ราย (ยกเว้น 1 รายที่ขอสงวนสิทธิ์ไม่ร่วมการประเมิน) ซึ่งไม่ได้มุ่งประเมินเปรียบเทียบดีหรือด้อยหรือส่งผลเชิงพาณิชย์ แต่มองให้เป็นการ Benchmark ตัวเอง แม้บางแห่งไม่ได้คะแนน แต่เชื่อว่าบริษัทได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแค่เรามองเหนือไปกว่านั้น โดยหมวดแรก มี 3 ราย ที่ได้แต้มคือ ซีพีเฟรชมาร์ท แม็คโครและเทสโก้โลตัส หมวดที่ 2 ยังคงเป็น 3 รายเดิม โดยดูจากนโยบายแรงงานที่ปรับใช้กับผู้ผลิตรายย่อยและจะเป็นหลักปฏิบัติต่อผู้ค้าและนำเสนอต่อสาธารณชน หมวดที่ 3 มีเพิ่มมา 1 รายคือ บิ๊กซี ซึ่งเป็นหมวดที่มีความโดดเด่นเพราะจะเห็นข้อมูลรวมของห้าง ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายห้างร่วมมือกับรัฐบาลหรือเกษตรกรรายย่อย เป็นหมวดที่มีข้อมูลมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในหมวดสุดท้าย พบว่า มีเพียง เทสโก้โลตัส ที่ได้แต้ม มีบางแห่งที่จริงจังในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากภาพรวมจะเห็นว่า มิติที่มีมากที่สุดคือ มิติผู้ผลิตรายย่อย ส่วนมิติอื่นที่ถูกหยิบยกได้อีกคือ ด้านสตรี” นายธีรวิทย์ กล่าว

นายธีรวิทย์ยังกล่าวอีกว่า ในปีหน้าเราจะเพิ่มหมวดชี้วัดอีก 2 ตัว คือ สิ่งแวดล้อม และสิทธิผู้บริโภค ถ้าดูดีๆ จะเป็นเครื่องมือที่ครบถ้วนในตัว

ขณะที่ น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสาร ฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่เราใช้ตัวประเมินจากต่างประเทศเพราะออกซ์แฟมทำการสำรวจกับต่างประเทศมาแล้ว แต่กับประเทศไทยยังไม่เคยมาก่อน บริษัทค้าปลีกบางแห่งยังไม่รู้สึกทำไมต้องลงเว็บไซต์ประกาศ นั้นเพราะเราต้องการคำมั่นสัญญาว่าบริษัทเอกชนค้าปลีกมีแนวโน้มว่าต้องทำ เราจึงข้อดูตรงนั้นก่อน แล้วค่อยขยับไปอีกระดับ การเปิดผลประเมินครั้งนี้ จึงเป็นการบอกให้บริษัทแสงดความจริงใจว่า จะมีการจ้างแรงงานที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าหรือบางห้างมีผู้บริหารบางคนรับผิดชอบด้านนี้

“ประชาชนไม่ได้ตระหนักน้อย แต่ว่าเวลาพวกเขามองตอนจ่ายเงินเพื่อได้ของดี แต่ไม่ได้มองว่าของดีนี้บีบมาจากใครหรือเปล่าถึงได้ของดี เราจึงอยากให้ถูกเปิดเผยออกมา ว่าต้องดีกับทุกคนไม่ใช่เฉพาะกับผู้บริโภคอย่างเราๆ” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0