โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปิดปูม!! จีเอ็ม-เชฟโรเลต ก่อนยกธงขาวเลิกขายในไทย-ภูมิภาคอาเซียน

Businesstoday

เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 05.45 น. • Businesstoday
เปิดปูม!! จีเอ็ม-เชฟโรเลต ก่อนยกธงขาวเลิกขายในไทย-ภูมิภาคอาเซียน

ย้อนกลับไปในช่วงปี2539 ที่ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์(ประเทศไทย) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย โดยมีบทบาทเป็นเสมือนหัวหอกสำคัญอันหนึ่งในการขยายธุรกิจของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก

ในปี2539 ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจากจีเอ็มให้เป็นฐานการผลิตประจำภูมิภาค หลังจากนั้นการก่อสร้างศูนย์การผลิตรถยนต์ ได้เริ่มขึ้นในปลายปี2539 ด้วยเงินลงทุนกว่า30,000 ล้านบาท บนพื้นที่440 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง ศูนย์การผลิตรถยนต์แห่งนี้ได้รับการออกแบบตามศูนย์การผลิตรถยนต์ต้นแบบของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่เมืองไอเซนนาค ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ได้รับการติดตั้งภายในศูนย์การผลิตรถยนต์ จีเอ็ม ประเทศไทย ทำให้ศูนย์ฯ แห่งนี้กลายเป็นศูนย์การผลิตที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก

ในปี2543 ศูนย์การผลิตจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยองเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคที่ดำเนินการผลิตรถกระบะและรถอเนกประสงค์สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์เชฟโรเลตและโฮลเด้น

ในปี2549 ศูนย์การผลิตฯ ได้ประกาศเพิ่มการลงทุนกว่า2,000 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานสีแห่งที่สอง และจากแผนการขยายธุรกิจของจีเอ็มในภูมิภาคนี้ รวมถึงความเชื่อมั่นในความต้องการของตลาดเกิดใหม่ทั่วทั้งภูมิภาค

ในปี2553 จีเอ็ม ประเทศไทย ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า15,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มเติมที่สำคัญอีก3 โครงการ โดยต่อยอดจากโรงงานที่มีอยู่เดิมในจังหวัดระยอง ซึ่งรวมไปถึงการสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซล การผลิตรถกระบะรุ่นใหม่ และรถอเนกประสงค์กระบะดัดแปลง

ในปี2558  จีเอ็ม ประกาศปรับโมเดลการทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส(ประเทศไทย) ต้องปรับตัวครั้งใหญ่โดยเหตุผลทางด้านภาวะซบเซาของตลาดที่ทำให้ต้องปรับโฟกัสธุรกิจกันใหม่

ในปี2562 จีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศเลิกจ้างทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวกะทันหัน ทำให้ทั้งพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวตกงานแบบฟ้าผ่ากว่า300 คน

จากไทม์ไลน์ดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วง5 ปีที่ผ่านมา(นับตั้งแต่ปี2558) จึงเริ่มมีกระแสข่าวการปิดตัวลงของโรงงานผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์มาโดยตลอด ด้วยเหตุผลและปัจจัยด้านการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยของ เชฟโรเลต ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปี ประกอบกับ การลดรุ่นรถยนต์ที่วางจำหน่ายสู่ตลาดในประเทศไทยเหลือเพียงไม่กี่โมเดล ได้แก่ เชฟโรเลต โคโรลาโด, เชฟโรเลต เทรลเบเซอร์ และ เชฟโรเลต แคปติวา

กระแสข่าวนั้นก็เป็นจริงในช่วงเช้าของวันที่17 ก.พ. 2563 จีเอ็ม ได้ประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ เชฟโรเลต ในประเทศไทย พร้อมการตัดสินใจขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยองให้แก่ เกรท วอล มอเตอร์ส ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน

หลังจากนี้ เป็นที่น่าจับตา เกรท วอล มอเตอร์ ที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันสำหรับส่วนของประเทศไทยภายในสิ้นปี2563 โดย นาย หลิว เซียงชาง รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลกของ เกรท วอล มอเตอร์ส กล่าวว่า โครงการระดับโลกของเกรท วอล มอเตอร์ส เริ่มเป็นรูปธรรมหลังจากการเริ่มพัฒนามากว่า10 ปี ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงและการอัพเกรดรูปแบบการส่งออกของ เกรท วอล มอเตอร์ส ส่งผลให้แผนกลยุทธ์ระดับโลกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในปี2562 โรงงานของเกรท วอล มอเตอร์ส ในเมืองตูลา(Tula) ประเทศรัสเซีย ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นสายการผลิต และเมื่อต้นปี2563 บริษัทยังบรรลุข้อตกลงกับจีเอ็มในการซื้อโรงงานทาเลกอน(Talegaon) ประเทศอินเดีย

การเข้าซื้อศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยองจะช่วยพัฒนาธุรกิจของเกรท วอล มอเตอร์ส ในตลาดประเทศไทยและอาเซียน เกรท วอล มอเตอร์ส จะขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยมีประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิอาเซียนรวมถึงประเทศออสเตรเลียด้วย

“ตลาดรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่กำลังพัฒนา มีโอกาสและศักยภาพสูงมาก การเข้าสู่ตลาดประเทศไทยเป็นก้าวแรกของ เกรท วอล มอเตอร์ส ในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและเป็นก้าวสำคัญในกลยุทธ์ระดับโลกของเรา การลงทุนของเกรท วอล มอเตอร์ส จะสร้างงานในท้องถิ่นรวมถึงการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะในอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนี้เรายังจะส่งเสริมการพัฒนาระบบซัพพลายเชน การวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมรายได้ทางการคลังให้กับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ในจังหวัดระยองและในประเทศไทย” นายหลิว เซียงชาง กล่าว

นอกจากนี้ ในวันและเวลาเดียวกันแบรนด์ โฮลเด้น(Holden) ได้มีการประกาศได้ประกาศยุติการจำหน่ายแบรนด์ดังกล่าวในประเทศ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่ง โฮลเด้น ได้เริ่มมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้แทนจำหน่ายเพื่อรองรับการดำเนินการในความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งยืนยันว่าการรับประกันและการบริการหลังการขายของแบรนด์ดังกล่าวในด้านอะไหล่และการให้บริการ จะมีอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย10 ปี

“หากเมื่อคำนวนสัดส่วนตลาดประเทศพวงมาลัยขวาและแบรนด์ดังกล่าวใน2 ตลาด มีสัดส่วนน้อยกว่า1% ของอุตสาหกรรมทั่วโลก ประกอบกับปัญหาของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกทำให้ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจดังกล่าว”

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นในการยุติการกดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็น ไทย, ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ รวมถึงการขายโรงงานใน อินเดีย เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการทำตลาดพวงมาลัยขวาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศอย่างReuters รายงานว่าการยุติการขายรถในประเทศไทยยังบ่งชี้ว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส ยกธงขาวการขยายธุรกิจและการทำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการถาวร สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมุ่งเน้นตลาดอเมริกา จีน อเมริกาใต้ และเกาหลีใต้มากขึ้น

“เจนเนอรัล มอเตอร์ส กำลังมุ่งเน้นที่ตลาดที่เราจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนรายได้และผลกำไร ซึ่งจะทำให้เรามีการเติบโตในอนาคต” แมรี่ บาร์ร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ระบุในแถลงการณ์

สำหรับ การยุติการดำเนินธุรกิจดังกล่าวนำไปสู่การปลดพนักงานประมาณ1,500 คนในประเทศไทย รวมถึงพนักงานอีก828 คนในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เชฟโรเลต ประกาศยุติจำหน่ายรถยนต์ในไทย

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0