โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดปัจจัย 'โตเกียว' เสี่ยงวิกฤติโควิดเหมือนนิวยอร์ก

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 05 เม.ย. 2563 เวลา 00.00 น.

ดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นสองเท่าตัวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 10 คนเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ขยับมาเป็นติดเชื้อเพิ่ม 97 คน และพอถึงวันศุกร์ (3 เม.ย.) ยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 89 คน รวมอยู่ที่ 3,329 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 74 ราย

“หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงโตเกียวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่กรุงโตเกียวจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่เหมือนกับนิวยอร์กในขณะนี้” เคนทาโร อิวาตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมการแพร่ระบาดจากมหาวิทยาลัยโกเบ ซึ่งกล่าวย้ำหลายครั้งว่าทางการญี่ปุ่นยังดำเนินการไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าว

อิวาตะ บอกด้วยว่า ทางการญี่ปุ่นต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในสังคม เมื่อผู้คนในสังคมรู้ดีว่าเดินมาผิดทาง มิฉะนั้น ญี่ปุ่นจะมีสภาพเหมือนนิวยอร์กในตอนนี้

นิวยอร์ก ถือเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ โดยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวในทุก ๆ 5 วัน และนับถึงวันเสาร์ (4 เม.ย.) มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วกว่า 3,500 ราย ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ในสหรัฐรวมกว่า 293,000 ราย และผู้เสียชีวิตอยู่ที่กว่า 7,800 ราย

ด้านกระทรวงสุขภาพแรงงานและสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่น ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่น่าจะทำให้กรุงโตเกียวกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เหมือนนิวยอร์กคือ ทางการหย่อนยานในตรวจสอบสุขภาพประชาชน

นับจนถึงวันศุกร์ ทางการโตเกียวตรวจสอบร่างกายประชาชนในเมืองหลวงของญี่ปุ่นไปเพียง 4,000 คนเท่านั้นจากทั้งหมดที่มีอยู่ 13.5 ล้านคนและหากเป็นทั่วประเทศ ก็มีการตรวจสอบร่างกายไปแค่ 39,466 คนจากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ 125 ล้านคน

การตรวจสอบสุขภาพประชากรของญี่ปุ่นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคและทั่วโลก ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าญี่ปุ่น ได้ตรวจสอบสุขภาพประชากรเมื่อวันศุกร์ไปจำนวนกว่า 440,000 คน

158601855483
158601855483

ด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศว่า โรคโควิด-19 ยังไม่ได้ระบาดไปทั่วประเทศญี่ปุ่นจนถึงขั้นที่จะต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ญี่ปุ่นก็ยังต้องระมัดระวังไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ถ้าปรับลดมาตรการป้องกันลง การติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา จะเห็นว่าขณะนี้ยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติอยู่” อาเบะ กล่าว

แต่มีรายงานว่า อาเบะ ระมัดระวังเกี่ยวกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะการทำเช่นนั้นอาจเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน และที่สำคัญ เรื่องนี้จำเป็นต้องขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จำนวนมาก เรียกร้องให้อาเบะประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายของระบบสาธารณสุข เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซีเอ็นเอ็น บิสสิเนส รายงานว่า แม้ขณะนี้การระบาดของโรคโควิด-19 จะทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกรวมกันมากกว่า 1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกอีกอย่างน้อย 46,800 ราย แต่สถานการณ์ในญี่ปุ่นกลับดำเนินไปอย่างค่อนข้างจะเป็นปกติ โดยประชาชนจำนวนมากยังคงเดินทางออกจากบ้านมาทำงานที่ออฟฟิศ และโดยสารรถไฟสาธารณะกันอย่างหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน

การใช้ชีวิตของชาวโตเกียวดำเนินไปตามปกติแม้ “ยูริโกะ โคอิเกะ” ผู้ว่าการกรุงโตเกียวจะพยายามผลักดันให้ประชาชนราว 13.5 ล้านคนในเมืองหลวงของญี่ปุ่นแห่งนี้ ทำงานจากที่บ้านไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 12 เม.ย. เพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัส แต่ยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นเริ่มออกนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ทั้ง ฮอนด้า นิสสัน และโตโยต้า แต่บรรดาพนักงานในบริษัทเหล่านี้ก็เลือกที่จะเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศใจกลางเมืองหลวง

ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2562 ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ กว่า 80% ไม่สามารถทำให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ขณะที่คำประกาศล่าสุดของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ว่าจะไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ทุกบริษัทไม่เห็นความจำเป็นในการให้พนักงานสร้างระยะห่างทางสังคม ประกอบกับการออกจากบ้านมาทำงานที่ออฟฟิศไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายสำหรับประเทศญี่ปุ่น

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเกียวโดและหนังสือพิมพ์ไมนิชิรายงานว่า รัฐบาลกลางในกรุงโตเกียว มีคำสั่งไปยังรัฐบาลท้องถิ่นที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับวิกฤติ ให้จัดสรรเตียงในโรงพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยวิกฤติเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือไม่แสดงอาการ ให้กักตัวที่โรงแรม ซึ่งทางการจัดเตรียมไว้ หรือกักตัวภายในบ้านนพักของตัวเอง โดยอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอของบุคลากรการแพทย์

การทำแบบนี้ของรัฐบาลยิ่งเพิ่มประเด็นถกเถียงในสังคมมากขึ้น เกี่ยวกับศักยภาพของบุคลากรการแพทย์ และความพร้อมของระบบสาธารณสุขในประเทศ ว่าสามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

แต่ก็มีข่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในขั้นตอนจัดตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหากจำเป็นได้ ภายใต้กฎหมายที่เพิ่งมีการทบทวนเนื้อหาเมื่อไม่นานมานี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0