โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดประวัติ “ชาตรี โสภณพนิช” เจ้าสัวแห่งธนาคารกรุงเทพ

PPTV HD 36

อัพเดต 25 มิ.ย. 2561 เวลา 04.23 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2561 เวลา 04.10 น.
เปิดประวัติ “ชาตรี โสภณพนิช” เจ้าสัวแห่งธนาคารกรุงเทพ
เมื่อคืนวันที่ 24 มิถุนายน 2561 เวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชราในวัย 85 ปี

นายชาตรี โสภณพนิช เกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 ที่ประเทศไทย เป็นบุตรคนที่สองของ นายชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ กับ นางชาง ไว เลาอิง สมรสกับ คุณหญิงสุมณี โสภณพนิช มีบุตรและธิดารวม 4 คนคือ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ, นางสาวิตรี รมยะรูป, นายชาลี โสภณพนิช และนางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล

เนื่องจากครอบครัวทำธุรกิจการเงินและธนาคาร นายชาตรีจึงเลือกศึกษาด้านบัญชีและการธนาคาร โดยสำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาชั้นสูงสาขาบัญชี จากวิทยาลัย Kwang Tai High Accountancy College ประเทศ Hong Kong จากนั้นเดินทางไปศึกษาวิชาการธนาคารระดับอุดมศึกษาที่ London Regent Street Poly-Technic ประเทศอังกฤษ และได้รับประกาศนียบัตรวิชาการธนาคารจาก Institute of Bankers ประเทศอังกฤษ

เมื่อกลับมาจากการศึกษาต่อ นายชาตรีได้เริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการบัญชีที่ บริษัท เอเชียทรัสต์ จำกัด เมื่อปี 2501 แล้วมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี ของธนาคารกรุงเทพในเดือนตุลาคม 2502 เป็นผู้จัดการฝ่ายการบัญชีในเดือนมกราคม 2505

นายชาตรีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปี 2523 กลายเป็นผู้นำที่พาธนาคารกรุงเทพเข้าสู่ยุคทอง โดยในข่วง 12 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง ผลประกอบการของธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า และเป็นครั้งแรกที่ธนาคารพาณิชย์ไทยทำกำไรสุทธิได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ ณ ขณะนั้น ธนาคารกรุงเทพกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็น 1 ใน 200 ธนาคารชั้นนำของโลก และก้าวขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในปี 2535 จวบจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2526 ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นายชาตรีได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก Pepperdine University ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นในเดือนมกราคม 2529 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก De La Salle University ประเทศฟิลิปปินส์ และในวันที่ 6 มกราคม 2551 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ และได้รับรางวัลเกียรติยศ "Lifetime Achievement Award" จาก Asia Pacific Bankers Congress (APBC) ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์โดยอุทิศตนเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงภาคธุรกิจการธนาคาร ทำให้ธนาคารกรุงเทพเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย

ด้วยความสามารถและความสำเร็จด้านการธนาคารและการประกอบธุรกิจที่เป็นที่ประจักษ์ ทำให้นายชาตรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ประธานสมาคมธนาคารไทย 3 สมัย ประธานสภาธนาคารอาเซียน กรรมการกลางสภาที่ปรึกษาผู้นำทางธุรกิจระหว่างประเทศของผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้และเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นอกจากตำแหน่งทางด้านธุรกิจแล้ว นายชาตรียังเคยได้รับตำแหน่งทางการเมืองด้วย เช่น มิถุนายน 2531 เป็นสมาชิกวุฒิสภา, กรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน-วุฒิสภา, กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาและแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชนไปสู่การเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพของรัฐสภา, ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง ประจำรัฐสภา ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2531 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฝ่ายวิชาการและการประชาสัมพันธ์, ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนเมษายน 2539 ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการการเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นต้น

ปัจจุบันนายชาตรีดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 3.06 ล้านล้านบาท และตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท. และยังเป็น ประธานกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กรรมการ และผู้ถือหุ้น ในองค์กรชั้นนำเกือบ 30 แห่ง ทำให้ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาเศรษฐี อันดับที่ 26 ของไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส ในปี 2561 มีสินทรัพย์ 45,570 ล้านบาท จนหลายคนทั้งในและนอกวงการธุรกิจต่างพากันเรียกนายชาตรีว่าเป็น “เจ้าสัวชาตรี”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0