โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เปิดต้นแบบชุมชน “บ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง” พัฒนาแหล่งน้ำ สู่การสร้างอาชีพแบบยั่งยืน

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 15 ก.พ. 2562 เวลา 10.17 น. • เผยแพร่ 15 ก.พ. 2562 เวลา 08.46 น.
ชุมชนต้นแบบ

เปิดต้นแบบชุมชน “บ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง” พัฒนาแหล่งน้ำ สู่การสร้างอาชีพแบบยั่งยืน

เดินทางขึ้นเหนือ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่แห่งนี้ห้อมล้อมไปด้วยภูเขา มีชาวบ้านอาศัยอยู่หลายร้อยหลังคาเรือน แบ่งเป็นหลายชนเผ่า ยึดอาชีพหลักคือทำเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวมานานนับสิบปี ย้อนหลังไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน อำเภอแม่แจ่มประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า สาเหตุเกิดจากการเผาซังข้าวโพดที่ชาวบ้านนิยมปลูกไว้เลี้ยงสัตว์ พื้นที่ป่าหายไปมาก ดินแห้งแล้ง ชาวบ้านขาดรายได้

เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน และลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดบนภูเขาในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม (บ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ปาน-สันเกี๋ยง พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวภายใต้โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล

ด้วยการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือจุดกำเนิดของทุกสิ่งในวิสาหกิจชุมชน ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริ จนวันนี้เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จแบบยั่งยืน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติปลอดภัยแม่ป่าน-สันเกี๋ยง”

 

คุณบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ลักษณะปัญหาของพื้นที่บ้านแม่ปานและบ้านดอยสันเกี๋ยง เป็นปัญหาร่วมของคนอำเภอแม่แจ่มทุกคน นั่นคือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นปลูกพืชผสมผสานที่มีความยั่งยืนมากกว่า จากการที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง (บ่อพวงสันเขา) ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะน้ำคือจุดกำเนิดของทุกสิ่งในวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

จากเดิมที่ชาวบ้านทำการเกษตรได้ปีละ 1 ครั้ง ตามฤดูกาล หลังจากที่มีการวางระบบน้ำ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม สามารถทำการเกษตรในพื้นที่สูงได้ตลอดทั้งปี ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น มีรายได้ มีอาชีพผสมผสานเกิดขึ้น รวมถึงเกิดการดูแลรักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น ป่าไม้ ภูเขา น้ำ ไม่ได้เป็นสมบัติของคนแม่แจ่มเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติ

ด้าน คุณวิโรจน์ หมอกใหม่ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 17 บ้านดอยสันเกี๋ยง กล่าวว่า ไม่เคยเชื่อมั่นในภาคเอกชนเลย จนกระทั่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ซึ่งก็คือน้ำ หลังจากแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้สำเร็จ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เข้ามาช่วยให้ความรู้ด้านวิชาการ เรื่องการปลูกพืชผสมผสาน แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้แม่แจ่มลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดบนภูเขาได้ สามารถช่วยลดปัญหาหมอกควัน การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากการทำไร่ข้าวโพด และยังเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าอีกด้วย

จากการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และใช้พลังของคนในชุมชน ขับเคลื่อนโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกิดเป็นอาชีพที่หลากหลาย อาทิ ตลาดชุมชน, โรงแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน (เนื้อสุกร), กลุ่มเลี้ยงสุกร, กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่, กลุ่มทอผ้า, กลุ่มไม้ผล, กลุ่มท่องเที่ยว เป็นต้น ทำให้เกิดรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดคนในชุมชนต้องเข้มแข็งและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยตัวเอง จากการพึ่งพาตน

โดยชาวบ้านในพื้นที่อย่าง คุณปัทมา นวลหอม วัย 44 ปี สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หมู่ 10 เผยว่า สมาชิกกลุ่มมีประมาณ 30 คน ส่วนใหญ่แล้วยึดอาชีพทำเกษตร ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว หลังโครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล เกิดผลสำเร็จ ทำให้สมาชิกทุกคนมีรายได้เสริมเฉลี่ยเดือนละพันกว่าบาทจากการผลิตสินค้าต่างๆ จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกกากหมู แคบหมู หมูยอ น้ำอ้อย ฯลฯ

เช่นเดียวกับ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มปลูกผัก คุณสุรี โปธายะ อายุ 42 ปี บอกว่า แต่ก่อนทำพืชเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพด หลังมีโครงการได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกผักสวนครัวหลากหลาย จำหน่ายที่โรงเรียนและตลาดในพื้นที่ สมาชิกประมาณ 15 คน มีรายได้เพิ่มจากแต่ก่อน

“โครงการนี้ช่วยชาวบ้านหลายอย่างเลย มีน้ำใช้ทำเกษตร มีน้ำกิน ปลูกแล้วก็มีตลาดจำหน่าย รายได้เพิ่มขึ้นจากแต่ก่อน ปีละ 20,000-30,000 ปัจจุบันปีละเกือบ 50,000 บาท” คุณสุรี กล่าว

ช่วงท้าย ​คุณสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด กล่าวว่า รู้สึกยินดีกับความสำเร็จของ “โครงการธรรมชาติปลอดภัยแม่แจ่ม : แม่ปาน-สันเกี๋ยง โมเดล” และขอบคุณมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พี่น้องชุมชนบ้านแม่ปาน-สันเกี๋ยง ที่ผสานพลังร่วมกันแก้ไขปัญหา พัฒนาพื้นที่พัฒนาชุมชน สร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนจากการพึ่งพาตนเอง ผลที่ตามมาคือ ช่วยลดพื้นที่ในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือข้าวโพด ตลอดจนสามารถคืนพื้นที่ป่า ทำให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0