โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดตัวทุเรียนฟอสซิล ต่อยอดท่องเที่ยว ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

สำนักข่าวไทย Online

เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 14.30 น.

สงขลา 7 ก.ค. - ช่วงนี้นับเป็นนาทีทองของผู้ชื่นชอบทุเรียน เพราะมีทุเรียนนานาชนิดออกสู่ตลาดจำนวนมาก เช่นเดียวกับ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ล่าสุดมีการค้นพบทุเรียนพื้นบ้านชนิดใหม่ที่มีรสชาติก้ำกึ่ง ระหว่างทุเรียนพื้นบ้านและทุเรียนพันธุ์ที่นิยม ทุเรียนพันธุ์นี้ถูกตั้งชื่อว่า “ทุเรียนฟอสซิล”     

ที่เห็นอยู่นี้คือต้นทุเรียนพื้นบ้าน  1 ในจำนวน 1,042 ต้น ที่ อบต.คูหา และสภาเยาวชนบ้านห้วยเต่า ม.7 อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้ทำการสำรวจแล้วพบว่ามีความแตกต่างจากทุเรียนพื้นบ้านทั่วไป มีลักษณะคล้ายคลึงกับทุเรียนพันธุ์หมอนทองและก้านยาวร่วมด้วย คือมีเนื้อหนา แห้ง ไม่หวานจัด กลิ่นไม่ฉุน ผลดก กลมโต ขั้วใหญ่เหนียว เม็ดเล็กเมื่อเทียบกับทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผลมาจากคุณภาพดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ โดยเฉพาะที่นี่เคยมีการสำรวจพบเป็นแหล่งถ่านหินคุณภาพดี จึงเป็นมาของการตั้งชื่อทุเรียนชนิดนี้ว่า ทุเรียนฟอสซิล

ทุเรียนพื้นบ้านในพื้นที่บ้านห้วยเต่ามีทั้งหมดกว่า 5,000 ต้น แต่ที่พบลักษณะเด่นแบบทุเรียนฟอสซิล มีเพียง 1 ใน 5 และมักเป็นต้นที่มีอายุกว่า 30 ปี มีลำต้นขนาดใหญ่ หยั่งรากลึก ซึ่งจะส่งผลให้ทุเรียนได้รับแร่ธาตุจากฟอสซิลหรือถ่านหินใต้พื้นดิน ทำให้ต้นพืชแข็งแรง โรคและแมลงมีน้อย และมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยในปีนี้เป็นครั้งแรกที่สภาเยาวชนบ้านห้วยเต่าได้เปิดตัวทุเรียนฟอสซิล และทำการตลาดออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กเยาวชนบ้านห้วยเต่า ส่งผลให้ราคาทุเรียนในพื้นที่ปรับสูงขึ้นจาก 10-15 บาท เป็น 60-100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผลผลิตจะมีไปจนถึงปลายเดือนนี้

การค้นพบทุเรียนคุณภาพดี ทำให้ อบต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา คิดต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งในพื้นที่ยังมีการปลูกกาแฟโรบัสตาปลอสารพิษ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดต้นแม่พันธุ์ต้นแรกของประเทศไทย ที่ทำให้มีการปลูกแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในพื้นที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ อาทิ มัสยิดทับยาง มัสยิดแห่งความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ที่ทยอยสมทบเงินบริจาคนาน 4 ปี มูลค่ากว่า 12 ล้านบาท ฝีมือช่างชาวไทยพุทธ ชมโบราณสถานถ้ำครก ไหว้พระพุทธรูปองค์ใหญ่อายุกว่า 200 ปี  พิสูจน์บ่อหินขนาดเล็กที่มาของชื่อถ้ำครก ซึ่งความร่วมมือของคนในพื้นที่ และทรัพยกรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นในอนาคต.-สำนักข่าวไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0