โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดจอหนัง สู้ COVID-19 “ระยะห่าง-หนังเลื่อน” ยังท้าทาย

Manager Online

เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 15.45 น. • MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- คลายล็อกเฟส3 โรงหนังยิ้มออก แม้จะเปิดได้ไม่เต็มที่ เหตุมาตรการเข้มงวดจำกัดจำนวนคนดู หนังฟอร์มใหญ่ยังเลื่อน 2 ค่ายยักษ์ “เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ” พร้อมรบ ด้วยมาตรการป้องกันโควิด-19 แบบเข้มงวดขั้นสูงสุดรับนิวนอร์มัล

ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีการประชุมและมีมติให้ผ่อนคลายระยะที่ 3 ด้วยการผ่อนปรนให้กับ กลุ่มกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงความเสี่ยงสูง สามารถกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง โดยจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. สำหรับกลุ่มกิจการและกิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย มี 14 กลุ่มธุรกิจบริการ โดยมีโรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับการผ่อนคลายด้วย ตามกลุ่มที่ 13 คือ โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ จำกัดไม่เกิน 200 คน โดยโรงมหรสพเปิดเฉพาะลิเก ลำตัด การแสดงพื้นบ้าน (งดแสดงดนตรี คอนเสิร์ต) ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์ สามารถนั่งเป็นคู่ได้ แต่ต้องสวมใส่หน้ากาก

ขณะที่ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ในไทย ก็มีเพียง 2 รายใหญ่เท่านั้น นอกนั้นเป็นรายย่อย ก็ออกมาแสดงถึงความพร้อมที่จะกลับมาเปิดอีกครั้งเช่นกัน หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 (COVID - 19) จนต้องปิดบริการยาวเกือบ 2 เดือน

*** “ระยะห่าง-หนังเลื่อน” ยังกระทบ

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้งของโรงภาพยนตร์ ก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการคุมเข้มเหมือนธุรกิจอื่น และสิ่งที่ทำให้การบริการและการสร้างรายได้ไม่เต็มที่ก็คือ เรื่องของ การเว้นระยะห่าง หรือ โซเชียล ดิสแทนซิ่ง (Social Distancing )ที่ยังคงกระทบเหมือนกับธุรกิจร้านอาหาร นั่นเอง

ขณะที่โปรแกรมของหนังนั้น ก็อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีการวางโปรแกรมไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาหนังฟอร์มใหญ่หลายเรื่องโดยเฉพาะของฮอลลีวู้ดก็มีการเลื่อนโปรแกรมไปฉายปลายปีหรือไม่ก็ช่วงปีหน้าแทนแล้วหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่อง GREYHOUND เดิมมีโปรแกรมฉายวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีในปี2563นี้มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากต่างประเทศที่มีแผนจะลงโรงเข้าฉายต่อเนื่องตลอดปีตามโปรแกรมเดิมหากไม่มีเหตุการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นเกือบ 20-30 เรื่อง เช่น BLAVK WIDOW แบล็ควิโดว์, FAST AND FURIOUS ฟาสต์เร็วแรงทะลุนรก 9, MULAN มู่หลาน,WONDER WOMAN วันเดอร์วูแมน และ Cosmoball เป็นต้น แต่เพราะโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป

ส่วนหนังไทยตามโปรแกรมเดิมภายในปีนี้จะมีหลายเรื่องเช่นกันที่จะลงจอฉาย เช่น สุขสันต์วันโสด Love เลยร้อยเอ็ด ผู้บ่าวไทบ้านอีสานจ๊วด มนต์รักดอกผักบุ้งเลิกคุยทั้งอำเภอ และไทบ้าน x BNK 48 จากใจผู้สาวคนนี้ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ต้องติดตามกันต่อว่า จะมีการปรับโปรแกรมหนังใหม่อีกรอบหรือไม่เมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางฮอลลีวู้ดด้วย

ความท้าทายจึงอยู่ที่ว่า ด้วยจำนวนที่นั่งที่ถูกจำกัด อีกทั้ง รายการหนังที่มีอยู่ จะผลักดันให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์สามารถเปิดบริการเพื่อให้คุ้มต้นทุนในแต่ละรอบแต่ละโรงได้อย่างไรนั่นเอง

เพราะรายได้หลักของโรงภาพยนตร์ก็คือ มาจาก การขายตั๋วหนัง โดยมีรายได้กลุ่มเครื่องดื่มและของว่าง กับสื่อโฆษณาและอีเวนต์เป็นรายได้รอง เช่น กรณีของค่ายเมเจอร์ฯ สัดส่วนรายได้ที่มาจากขายตั๋วหนังมากกว่า 70%

ปัจจุบัน MAJOR มีธุรกิจโรงภาพยนตร์กระจายทั่วไทยและต่างประเทศ มีสาขารวมทั้งสิ้น 170 สาขา รวม 812 โรง จำนวน 183,974 ที่นั่ง แบ่งเป็นในประเทศไทย 162 สาขา 773 โรงภาพยนตร์ ส่วนต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรงภาพยนตร์ ขณะที่ธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะและลานสเกตน้ำแข็งมีสาขารวมทั้งสิ้น 12 สาขา ให้บริการ 267 เลนโบว์ลิ่ง 153 ห้องคาราโอเกะ และ 5 ลานสเกตน้ำแข็ง แบ่งเป็นในไทย 9 สาขา 232 เลนโบว์ลิ่ง 136 ห้องคาราโอเกะ และ 3 ลานสเกตน้ำแข็ง ส่วนต่างประเทศ 3 สาขา 35 เลนโบว์ลิ่ง สุดท้ายคือธุรกิจพื้นที่ให้เช่าและบริการ ให้บริการทั้งหมด 15 สาขา ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ขณะที่ เอสเอฟ ปัจจุบันมีโรงหนัง 64 สาขา รวมกว่า 400 โรงภาพยนตร์ จำนวนกว่า 85,000 ที่นั่ง รวมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีก 27 จังหวัด นอกจากนั้นก็ยังมีคาราโอเกะ และโบว์ลิ่งเช่นกัน

บทวิเคราะห์บางแห่ง มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผลการดำเนินงานของ MAJOR ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2563 นี้อาจจะได้รับผลกระทบ หลังจากหนังหลายเรื่องเลื่อนฉายออกไป โดยเฉพาะ Fast & Furious 9 เลื่อนฉาย 1 ปีเต็มไปเป็นเดือน เม.ย. 2564 เพื่อหนีเหตุการณ์ไวรัส Covid-19 (โควิด-19) ถือว่าเป็นข่าวร้ายที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อประมาณการรายได้ของ MAJOR ในปี 2563 อย่างชัดเจน

เนื่องจาก Fast & Furious เป็นหนังทำเงินที่มีรายได้กว่า 400-500 ล้านบาทต่อภาค ซี่งทำรายได้ประจำปีสูงที่สุดของ MAJOR มาตลอด นอกจากนี้ยังมีหนังใหญ่อีกหลายเรื่องที่มีกำหนดเลื่อนฉายเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากไวรัส Covid-19 เป็นช่วงครึ่งปีหลังปี 2563

ทั้งนี้ ทำให้ปรับประมาณการรายได้ปี 2563 เหลือ 8,800 ล้านบาท ลดลง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และปรับกำไรเหลือ 893 ล้านบาท ลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนของบริษัทส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ และจากการที่คาดว่ากำไรปี 2563 ของ MAJOR จะลดลงรุนแรงถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน

บล.ฟิลลิป ประเมินว่า แนวโน้มกำไรของเมเจอร์ฯจะอยู่ในครึ่งหลังปี 63 เป็นหลัก หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายดีขึ้นขณะที่ไตรมาส 2 จะเป็น high season ของโรงภาพยนตร์ที่มีภาพยนตร์ใหญ่ๆ จากฮอลลีวูดเข้าฉายและเป็นไตรมาสที่ผลประกอบการของ MAJOR โดดเด่นสุดของปี แต่จากการระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ และยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่ของภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทำให้ภาพยนตร์ถูกเลื่อนไปอยู่ในครึ่งปีหลัง และบางส่วนเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้สถานการณ์ในไตรมาส 2 ปี 63 ไม่ดี อีกทั้งการเลื่อนฉายภาพยนตร์ออกไป ประกอบกับไตรมาส 2 ปีก่อน มีเรื่อง Avengers 4 : Ending Game ที่ทำรายได้ไว้สูงมากราว 750 ล้านบาท ทำให้ในครึ่งแรกปี 2563 กำไรจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลกระทบอาจยังมีอยู่บ้างและน่าจะดีสุดในไตรมาส 4 ที่มีภาพยนตร์ใหญ่เริ่มฉาย ทำให้ครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับหนังที่คาดว่าจะเข้าฉายช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เช่น วันที่ 1 มิ.ย. MY SPY พยัคฆ์ร้าย สปายแสบ, 3 มิ.ย. พจมานสว่างคาตา ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นหนังไทยเพียงเรื่องเดียวในเดือนนี้, 11 มิ.ย. BABA YAGA จ้างผีมาเลี้ยงเด็ก, 18 มิ.ย. FANTASY ISLAND เกาะสวรรค์ เกมนรก, 18 มิ.ย. ``I STILL BELIEVE , 18 มิ.ย. EMMA เอมม่า, 25 มิ.ย. VIVARIUM วิวาเรี่ยม, 25 มิ.ย. 32 MALASANA STREET 32 มาลานซานญ่าย่านผีอยู่, 25 มิ.ย. TROLLS : WORLD TOUR โทรลล์ส เวิลด์ ทัวร์

*** เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ พร้อมด้านสุขอนามัยสู้โควิด-19

นายอภิชาติ คงชัย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจโรงภาพยนตร์ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ บริษัทฯ พร้อมเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ทั้งหมด อีกครั้ง หลังจากที่ทางภาครัฐบาลออกมาตรการผ่อนปรนหรือคลายล็อกธุรกิจในเฟสที่3 ให้เปิดบริการได้ ด้วยการคุมเข้มมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยอย่างเข้มงวดขั้นสูงสุด แม้จะปิดบริการโรงภาพยนตร์มาร่วม 2 เดือน ด้วย 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

1. Screening การตรวจคัดกรองลูกค้าทุกคนด้วยการวัดอุณหภูมิ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์ก่อนเข้าใช้บริการ

2. Social Distancing การเว้นระยะห่างทางสังคมตั้งแต่การเข้าแถวรอคิวทุกจุดที่เข้าใช้บริการในระยะห่าง 1 เมตร มีฉากกั้นระหว่างพนักงานและลูกค้าทุกจุดเคาน์เตอร์บริการ ที่สำคัญภายในโรงภาพยนตร์มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง ทุก 2 ที่นั่ง ในแถวเดียวกัน และแถวเว้นแถว โดยจัดนั่งระหว่างแถวแบบสลับฟันปลา พร้อมเพิ่มมาตรการพิเศษด้วยฉากกั้นระหว่างที่นั่งภายในโรงภาพยนตร์ทุก 4 ที่นั่ง

3. Cleaning การทำความสะอาดทุกจุดพื้นที่และภายในโรงภาพยนตร์ก่อนเข้าฉายแต่ละเรื่องทุกรอบ

4. Cashless เลี่ยงการแพร่เชื้อด้วยการลดสัมผัสด้วยการใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสด ทั้งการซื้อตั๋วหนัง ป๊อปคอร์นและน้ำ

5. Tracking การติดตามและตรวจสอบได้ทุกโรงจะมีการเช็คอิน-เช็คเอาท์เพื่อสะดวกในการติดตามกรณีพบผู้ป่วย

“ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เคยละเลยต่อมาตรฐานการทำความสะอาดในทุกจุดของพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมกลับมาเปิดให้บริการกับมาตรการ New Normal ขั้นสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ภายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งในทุก ๆ วัน จะมีการเข้าตรวจภายในโรงภาพยนตร์ทุกโรง ตั้งแต่เปิดประตูโรงภาพยนตร์ ทำความสะอาดภายในโรงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เปิดพัดลม เปิดเครื่องระบบปรับอากาศวันละ 2 ครั้ง เพื่อระบายอากาศภายในโรง ลดความอับชื้นไม่ให้เกิดกลิ่นอับและเชื้อรา” นายอภิชาติ กล่าว

นอกจากนี้ จัดทำกิจกรรม Big Cleaning ในทุก 15 วันทุกสาขาจะดำเนินการทำความสะอาดอุปกรณ์และจุดสัมผัสต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในโรงภาพยนตร์ ภายในห้องเครื่องระบบปรับอากาศAHUฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสภายในโรงภาพยนตร์ด้วยเครื่องฆ่าเชื้อระบบแสง UVC และอบโอโซนภายในโรงภาพยนตร์ เพื่อเพิ่มอากาศที่สดชื่น

ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การร่วมมือช่วยกันปฏิบัติทั้งในส่วนของพนักงาน ร้านค้า และลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เริ่มตั้งแต่…ก่อนมาใช้บริการแนะนำให้ลูกค้าเช็ครอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ Application, Web เพื่อลดความแออัดและเมื่อมาใช้บริการแนะนำให้ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E-Ticket ซึ่งให้บริการตู้เว้นตู้ส่งเสริมให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าและบริการด้วยระบบ Cashless และช่องทาง E-Payment แทนการใช้เงินสดในทุกจุดบริการ

นายสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ พร้อมเปิดให้บริการด้วยความมั่นใจ จากมาตรการ #ดูแลด้วยใจ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างปิดให้บริการชั่วคราว เอส เอฟ ให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในโรงภาพยนตร์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งบริเวณที่นั่งและระบบปรับอากาศภายในโรงภายนตร์

โดยแผนกซ่อมบำรุงของโรงภาพยนตร์ทุกสาขาได้ดำเนินการล้างฟิลเตอร์เครื่องปรับอากาศ (AHU) ทำความสะอาดห้องควบคุมระบบปรับอากาศให้สะอาดและแห้ง เปิดพัดลมระบายอากาศ (Ventilation Exhaust Fan) เพื่อให้อากาศมีการหมุนเวียนและระบายความอับชื้น

การกลับมาเปิดให้บริการครั้งนี้ โรงภาพยนตร์ในเครือ เอส เอฟ ได้กำหนดมาตรฐานใหม่ (New Normal) สำหรับการชมภาพยนตร์ ตามมาตรการ “ดูแลด้วยใจ” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การดูแลความสะอาดและความปลอดภัย บริเวณโรงภาพยนตร์

-ผู้ใช้บริการทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา

-ลงทะเบียนเมื่อใช้บริการผ่านระบบไทยชนะ หรือลงชื่อและข้อมูลติดต่อทุกครั้ง

-กำหนดจุดยืนรอคิว และจุดนั่งรอชมภาพยนตร์ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล

-มีการจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้บริการทุกจุดอย่างทั่วถึง

-พนักงานทำความสะอาดทุกจุดสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 30 นาที

2. การจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ ป๊อบคอร์น และเครื่องดื่ม

-ส่งเสริมการซื้อบัตรชมภาพยนตร์ผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เพื่อลดการสัมผัส

-เครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ (Kiosk) บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ จะเปิดให้บริการตู้เว้นตู้ เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล

-รับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต บัตร SF+ และ E-Payment เพื่อลดการสัมผัส กรณีชำระเงินด้วยเงินสดจะต้องใช้ถาดรับและทอนเงิน

3. การดูแลความสะอาดและความปลอดภัย ภายในโรงภาพยนตร์

-ตรวจวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการก่อนเข้าชมภาพยนตร์ ต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส

-กำหนดทางเข้าออกที่ชัดเจน และให้ทยอยเข้าโรงภาพยนตร์ เพื่อรักษาระยะห่างที่เหมาะสม

-กำหนดระยะห่างของการนั่งชมภาพยนตร์ โดยมีการเว้นที่นั่ง และมีแผงกั้นระหว่างที่นั่งชมภาพยนตร์

-พนักงานดูแลระบบปรับอากาศภายในโรงภาพยนตร์ เพื่อตรวจสอบให้มีอากาศถ่ายเทอยู่เสมอ

-ทำการอบฆ่าเชื้อด้วยโอโซนภายในโรงภาพยนตร์ หลังปิดให้บริการทุกวัน

-พนักงานทำความสะอาดพื้นที่ อุปกรณ์ ทุกจุดสัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และเปลี่ยนผ้ารองศีรษะที่เก้าอี้ ก่อนรอบฉาย ทุกรอบ

4. การดูแลพนักงาน

-พนักงานทุกคน ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา สำหรับพนักงานที่ต้องใกล้ชิดลูกค้า จะสวมใส่ Face Shield และถุงมือด้วย

-มีการตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานก่อนเริ่มงานทุกวัน หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จะต้องหยุดปฏิบัติงานและพบแพทย์ทันที

“เอส เอฟ เชื่อว่ามาตรการดูแลด้วยใจ ที่เรากำหนดขึ้น จะสร้างความมั่นใจให้ทุกท่านได้รู้สึกปลอดภัย และกลับมาสนุกกับการชมภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะกลับมาเติบโตได้อีกแน่นอน เพราะทุกคนคิดถึงบรรยากาศในโรงหนัง และอยากผ่อนคลายหลังจากที่เราเจอวิกฤติในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภาพยนตร์หลายเรื่อง ทั้งไทยและต่างประเทศก็พร้อมกลับมาฉายได้ทันที” นายสุวัฒน์ กล่าว.

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0