โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา สั่งครอบครัว "แพรวา" ชดใช้กว่า 24 ล้าน

คมชัดลึกออนไลน์

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 12.00 น.

วันที่ 17 ก.ค. 62 - จากเหตุ นางสาว พ. ปัจจุบันอายุ 25 ปีเศษ ขณะเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ได้ขับรถยนต์ซีวิค เฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารสายธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-หมอชิต บนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ พลิกคว่ำ เมื่อค่ำวันที่ 27 ธ.ค.53 เป็นเหตุให้คนขับรถตู้และผู้โดยสารเสียชีวิต รวม 9 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง โดยผลคดีอาญาถึงที่สุดแล้วเมื่อปี 2558 เมื่อศาลฎีกา มีคำสั่งไม่รับฎีกาของเยาวชนสาว จำเลย ที่ต่อสู้คดี เนื่องจากเห็นว่าข้อฎีกาไม่มีสาระสำคัญจะเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาเดิมของศาลอุทธรณ์ ผลคดีอาญาจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 เม.ย.57 ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกนั้นให้รอลงอาญา ซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดให้รอลงอาญาเป็นเวลา 4 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 3 ปี โดยให้บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลา 3 ปี (รวม 144 ชั่วโมง โดยปี 2559 ได้ทำกิจกรรมครบชั่วโมง) รวมทั้งห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์

โดยส่วนของคดีแพ่งนั้น ผลเพิ่งถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค.62 ที่ผ่านมา ที่ได้อ่านมีการคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุดังกล่าวรวม 28 ราย ได้ยื่นฟ้อง ยื่นฟ้องเยาวชนหญิงที่ขับรถยนต์เกิดเหตุ ปัจจุบันอายุ 25 ปีเศษ , พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ,นางนิลุบล อรุณวงศ์ บิดาและมารดาของเยาวชน , นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค , นายสันฐิติ วรพันธ์ กับ น.ส.วิชชุตา วรขจิต สามี-ภรรยากันเจ้าของรถยนต์ซีวิค และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย 1-7 เรื่องกระทำละเมิด ขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิคประมาท เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารมีผู้เสียชีวิต 9 รายและบาดเจ็บ 4 ราย เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดยคดีแพ่งญาติผู้เสียหาย ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ต.ค.54 ต่อมาโจทก์ทั้ง 28 รายได้ถอนฟ้อง นายสันฐิติ จำเลยที่ 5 , น.ส.วิชชุดา จำเลยที่ 6 และ บมจ.นวกิจประกันภัย จำเลยที่ 7 โดยส่วนของ บมจ.นวกิจประกันภัย จำเลยที่ 7 ที่เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ก็ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 6,136,870 บาท

โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 58 เห็นว่า กรณีตามฟ้องเยาวชนหญิงนั้นเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเมื่อรับฟังได้ว่าเยาวชนหญิงขณะนั้น จำเลยที่ 1 กระทำผิด โดยบิดา-มารดา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2-3 ไม่ได้นำสืบถึงความระมัดระวังในการดูแลบุตร

ศาลจึงให้เยาวชนหญิง และบิดา-มารดา จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วย ค่าไร้อุปการะ และค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าอื่นๆให้กับโจทก์ร่วม รวม 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีจำนวนตั้งแต่ 4,000 - 1,800,000 บาท รวมเป็นเงิน 26,881,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ 27 ธ.ค.53 ซึ่งเป็นวันที่กระทำการละเมิด จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง 28 รายโดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 10,000 บาทด้วย โดยยกฟ้อง นายสุพิรัฐ จำเลยที่ 4 ผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค (ให้ชดใช้ โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 1 ล้านบาท ,ที่ 2 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 3 เป็นเงิน 1 ล้านบาทที่4 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 5 เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท , ที่ 6 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 7 เป็นเงิน 10,000 บาท , ที่ 8 เป็นเงิน 10,000 บาท , ที่ 9 เป็นเงิน 1 ล้านบาท , ที่ 10 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 11 เป็นเงิน 1 ล้านบาท , ที่ 12 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 13 เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท , ที่ 14 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 15 เป็นเงิน 1 ล้านบาท , ที่ 16 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 17 เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท , ที่ 18 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 19 เป็นเงิน 1 ล้านบาท , ที่ 20 เป็นเงิน 100,212 บาท , ที่ 21 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 22 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท , ที่ 23 เป็นเงิน 400,000 บาท , ที่ 24 เป็นเงิน 4,000 บาท , ที่ 25 เป็นเงิน 150,000 บาท , ที่ 26 เป็นเงิน 256,925 บาท , ที่ 27 เป็นเงิน 100,000 บาท , ที่ 28 เป็นเงิน 150,000 บาท)

ต่อมาโจทก์ที่ 5 ,11 และจำเลย 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.60 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ซึ่งได้มีการปรับลดจำนวนเงินผู้เสียหายบางรายลง รวมจำนวนเงินที่ให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมชำระร่วมแก่โจทก์ที่ 1-5 , 9-19 , 21- 22 , 25 -28 ตั้งแต่จำนวน 120,000 - 1,440,000 บาท รวมเป็นเงิน 21,626,925 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุที่ 27 ธ.ค.53 จนกว่าจะชำระเสร็จ (ให้ชดใช้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 2 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 3 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 4 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 5 เป็นเงิน 1,440,000 บาท , ที่ 9 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 10 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 11 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 12 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 13 เป็นเงิน 1,440,000 บาท , ที่ 14 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 15 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 16 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 17 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 18 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 19 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 21 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 22 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 25 เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท , ที่ 26 เป็นเงิน 226,925 บาท , ที่ 27 เป็นเงิน 800,000 บาท , ที่ 28 เป็นเงิน 120,000 บาท)

โดยศาลอุทธรณ์ให้ นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา จำเลยที่ 4 ผู้ครอบครองรถ ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5 จำนวน 1,440,000 บาท , ที่ 11 จำนวน 800,000 บาทด้วย และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 5,11 โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 5,000 บาทด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ต่อมาโจทก์ที่ 1-5 , 9-19 , 21, 22 , 25-28 เเละจำเลยที่ 1-4 ยื่นฎีกา

โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่ โจทก์ที่ 1,3,9,15,19 ,25,26,27,28 ฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1-3 นั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1-6 ,9-19 , 21-23 โดยไม่รับฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 7,8, 20 , ที่ 24- 28 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง

โดย ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุละเมิดจำเลยที่1 เป็นผู้เยาว์ อายุ 16 ปี 6 เดือน , จำเลยที่ 2-3 เป็นบิดา-มารดา , จำเลยที่ 6 ที่เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิคคันดังกล่าว ที่ทำประกันภัยกับบริษัทจำเลยที่ 7 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้เป็นสามีของจำเลยที่ 6 ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้นายสุพิรัฐ จำเลยที่ 4 ครอบครอง แล้ววันที่ 27 ธ.ค.53 จำเลยที่ 1 ขับรถไปตามทางยกระดับอุตราภิมุข ขาเข้าจากดอนเมือง มุ่งหน้าไปดินแดงด้วยความเร็วสูง เมื่อถึงบริเวณใกล้ทางลงบางเขน รถของจำเลยที่ 1 ชนท้ายผู้โดยสารที่นางนฤมล ปิดตาทานัง เป็นผู้ขับ เมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปชนขอบกำแพงคอนกรีตด้านซ้าย , เสาไฟฟ้า-เสาป้ายบอกทาง แล้วรถตู้โดยสารตกลงมาที่พื้นทางลงจากทางยกระดับ ส่วนรถคันจำเลยที่ 1 ขับเสียหลักไปชนขอบกำแพงคอนกรีตด้านขวาและหมุนกลับไปชนรถตู้โดยสาร เป็นเหตุให้มีผู้เสียหายได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย

หลังเกิดเหตุ พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงแล่นแซงรถตู้โดยสารแล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสารจำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาท ให้ลงโทษจำคุกโดยรอการลงโทษไว้ โดยคดีอาญาถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เลขแดง 23541/2556 และจำเลยที่ืื 7 ในคดีแพ่งนี้ซึ่งรับประกันภัยรถคันดังกล่าว ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ตายแล้วรายละ 200,000 บาท และชำระค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้บาดเจ็บ โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5-7 โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายทดแทนจากจำเลยที่ 7 ต่อไป

ขณะที่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 6-8 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยินยอมรับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1-3 รวมเป็นเงิน 500,000 บาทและได้รับเงินดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์ที่ 6-8 ไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ จากจำเลยอีกต่อไป โดยศาลชั้นต้นได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาและส่งสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 20 เม.ย.61 มายังศาลฎีกาเพื่อพิพากษาตามยอม

จึงปัญหาวินิจฉัยในประเด็นฎีกาจำเลยที่ 1-3 ซึ่งขอลดจำนวนค่าเสียหาย ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 23 จากที่ศาลชั้นต้น สั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าทุกข์ทรมาน 400,000 บาท เหลือ 200,000 บาท โดยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้ เนื่องจากในชั้นอุทธรณ์โจทก์ที่ 23 ก็ไม่ได้อุทธรณ์ไว้ ส่วนจำเลยที่ 1-3 สู้ในชั้นอุทธรณ์ว่าเมื่อรถตู้แล่นมาด้วยความเร็วสูง นางนฤมลผู้ขับรถตู้จึงขับรถด้วยความประมาทเช่นกันจากพฤติการณ์ที่นางนฤมลมีส่วนประมาทในเหตุละเมิด การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นจำนวนที่สูงเกินควร ซึ่งเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งค่าเสียหายของโจทก์รายอื่นไม่เกี่ยวข้องกับค่าเสียหายที่เป็นค่าทนทุกข์ทรมานของโจทก์ที่ 23 แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่1-3 กลับมาฎีกาขอให้ลดค่าเสียหายของโจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 200,000 บาทฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่งที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง

ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ รับฟังว่านางนฤมล คนขับรถตู้ มีส่วนประมาท แล้วลดจำนวนค่าขาดไร้อุปการะ จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดชอบนั้น ชอบแล้วหรือไม่ และสมควรให้จำเลยที่1-3 ชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ศาลฎีกาฯ เห็นว่าในคดีส่วนอาญา ได้วินิจฉัยว่าเยาวชนหญิง จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดจึงผูกพันจำเลยที่ 1

ส่วนเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมล คนขับรถตู้หรือไม่นั้น ศาลในคดีส่วนอาญาไม่ได้วินิจฉัยไว้คงมีเพียงพฤติการณ์ในการขับรถของคนขับรถตู้โดยสารเท่านั้น และไม่ได้มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่านางนฤมล ขับรถด้วยความประมาท เหตุแห่งความเสียหายจึงเกิดจากการขับรถโดยประมาทของเยาวชนหญิง จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว โดยผู้ตายเป็นเพียงผู้โดยสารที่นั่งมาในรถตู้ ไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ที่บิดาของเยาวชน จำเลยที่ 2 ให้การว่าเหตุเกิดจากความประมาทของนางนฤมลนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องนำสืบพยานหลักฐานตามคำให้การแต่จำเลยที่ 2 ไม่สืบพยานจึงไม่มีข้อเท็จจริงให้รับฟังว่านางนฤมล มีส่วนประมาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนนี้และกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละรายจำนวน 4 ใน 5 ส่วน จึงคลาดเคลื่อนและขัดต่อกฎหมาย

ส่วนจำเลยที่ 1-3 ฎีกาว่าเหตุแห่งความเสียหายไม่ได้เกิดจากเยาวชนหญิง จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดฝ่ายเดียวนั้น เยาวชนหญิง จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนรถตู้โดยสารแล่นคร่อมช่องทาง จำเลยที่ 1 กระพริบไฟขอทาง รถตู้โดยสารแล่นเปลี่ยนช่องทางจากขวาสุดมาช่องกลางและเมื่อจำเลยที่ 1 เร่งความเร็วเพื่อแซงรถตู้โดยสาร ทันใดนั้นรถตู้โดยสารเบนหัวมาช่องขวาสุดทำให้จำเลยที่ 1 ตกใจ ห้ามล้อพร้อมบีบแตรและหักพวงมาลัยไปทางซ้าย แต่ตามคำฟ้องในคดีอาญาไม่ปรากฏเรื่องการกระพริบไฟขอทางและหลักฐานรอยห้ามล้อของรถจำเลยที่ 1 ทำให้ไม่ได้มีการพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และในส่วนค่าเสียหาย ฝ่ายรถตู้โดยสารจะต้องรับผิดจำเลยที่ 1-3 เนื่องจากเป็นรถโดยสารสาธารณะโดยขณะเกิดเหตุรถตู้โดยสารมาด้วยความเร็วสูงและไม่ได้มีเข็มขัดนิรภัยทำให้ผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถแล้วเสียชีวิต แต่ผู้โดยสารไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายรถตู้ ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดต่อโจทก์จึงต้องลดจำนวนลงนั้น

ศาลฎีกาฯ เห็นว่า เมื่อแต่ละฝ่ายฎีกาโต้เถียงเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมล และจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิด จึงเห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งคดีอาญานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว รับฟังข้อเท็จจริง สรุปความได้ว่ารถที่เยาวชนหญิง จำเลยที่ 1 ขับได้เฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสาร และรถตู้โดยสารแล่นเข้าปะทะกับเสากล้องวงจรปิด CCTV ซึ่งเป็นการชนปะทะอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายแก่รถตู้โดยสารถึงกับหลังคาโค้ง

ขณะรถตู้โดยสารเข้าปะทะกับเสา CCTV นั้นเป็นการปะทะด้วยความแรงซึ่งเกิดจากรถตู้โดยสารยังมีความเร็วสูงอยู่มาก พฤติการณ์แห่งคดีแสดงว่า รถทั้งสองคัน แล่นด้วยความเร็วสูงมาก การที่รถของเยาวชนหญิงจำเลยที่ 1ที่แล่นตามหลัง สามารถแล่นทันและเข้าเฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารแสดงว่ารถของจำเลยที่ 1 แล่นด้วยความเร็วสูงกว่ารถตู้โดยสาร เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินขีดจำกัดความเร็วในทางยกระดับแล่นแซงรถตู้โดยสาร แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักชนท้ายรถตู้โดยสารจนเกิดเหตุขึ้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุด ส่วนเรื่องการมีส่วนประมาทของนางนฤมลนั้น ศาลในคดีส่วนอาญาไม่ได้วินิจฉัยไว้ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญา การที่ศาลในคดีส่วนอาญาให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยว่านางนฤมล ขับรถตู้โดยสารมาด้วยความเร็วสูงเป็นเพียงแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วที่สูงมากจนแล่นทันรถตู้โดยสาร แล้วรถของจำเลยที่ 1 เสียหลักเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วสูงเช่นกัน ทำให้รถตู้โดยสารเสียหลักไปปะทะกับเสาริมทางจนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 โดยคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว

การที่ จำเลยที่ 1-3 ฎีกาทำนองว่า คำฟ้องคดีอาญานั้น ไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์การขับรถที่ไม่เป็นปกติของนางนฤมล คนขับรถตู้ ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 นั้นศาลเห็นว่าไม่ได้เป็นสาระแก่คดี เมื่อฝ่ายโจทก์นำสืบถึงเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง และจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส โดยจำเลยที่ 1-3 ก็ไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับพฤติกรรมในการขับรถตู้ของนางนฤมล และในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ก็ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลใดๆ แต่ขอส่งพยานเอกสารและภาพถ่ายพยานวัตถุในสำนวนคดีอาญาประกอบการพิจารณาโดยทนายโจทก์ได้คัดค้านและศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ส่งพยานหลักฐานดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดที่จะแสดงให้เห็นว่านางนฤมลขับรถโดยประมาทข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่านางนฤมล มีส่วนประมาทในอุบัติเหตุครั้งนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์การขับรถตู้โดยสารของนางนฤมล ที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามารับฟังว่านางนฤมล มีส่วนประมาทแล้วลดจำนวนค่าเสียหายส่วนค่าขาดไร้อุปการะ ที่จำเลยที่ 1-3 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วนนั้น ศาลฎีกาฯ ไม่เห็นพ้องด้วย

เมื่อพิจารณาว่า อุบัติเหตุรุนแรงเกิดจากการขับรถประมาทของเยาวชนหญิง จำเลยที่ 1 โดยผู้โดยสารที่นั่งในรถตู้ไม่ได้มีส่วนทำความผิดหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใด แต่ผู้โดยสารเป็นผู้ได้รับเคราะห์ภัยจากอุบัติเหตุจนต้องเสียชีวิต ส่วนนางนฤมล คนขับรถตู้ที่ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงก็ยังรับฟังไม่ได้ว่านางนฤมล มีส่วนประมาทด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะลดจำนวนค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะ

สำหรับฎีกาจำเลยที่ 1-3 ที่ว่าฝ่ายรถตู้โดยสารต้องรับผิดมากกว่า เพราะเป็นรถโดยสารสาธารณะและไม่มีเข็มขัดนิรภัยนั้น ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ เมื่อจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวขับรถประมาทก่อให้เกิดความเสียหาย และค่าขาดไร้อุปการะที่กำหนดให้แก่โจทก์แต่ละรายเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 1-3 จึงไม่มีข้ออ้างที่จะขอลดจำนวนค่าเสียหายลงอีก ฎีกาของโจทก์ที่ 1-5 , 9-16 , 18 , 19 , 21 , 22 , 25,26,27,28 จึงฟังขึ้น โดยฎีกาของจำเลยที่ 1-3 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนโจทก์ที่ 17 ฎีกาขอให้กำหนดค่าขาดไร้อุปการะ เป็นเงิน 1.8 ล้านบาทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น คำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 17 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะละเป็นเงิน 1,243,116.84 บาทเท่านั้น เมื่อค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องซึ่งศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 1 ล้านบาท ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวเหมาะสมแล้วจึงให้เป็นไปตามจำนวนเงินนั้น

ส่วน นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค จำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1-3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 , 11 หรือไม่ เพียงใดนั้น ศาลฎีกาฯ เห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์ ไม่มีใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย ย่อมต้องตระหนักว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่มีใบอนุญาตขับรถอาจเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ แต่จำเลยที่ 4 ยังรู้เห็น ยินยอมให้นำรถยนต์ที่ตนครอบครองอยู่ไปขับ ซึ่งหากจำเลยที่ 4 ไม่ยินยอมความเสียหายคงไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดของเยาวชนหญิง จำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 4 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ ไม่มีใบอนุญาตขับรถในช่วงเวลานั้นจำเลยที่ 4 จะต้องยับยั้งไม่ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ออกไป หรือต้องห้ามปรามจำเลยที่ 1 ในทันที หรือต้องรีบโทรศัพท์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์กลับเมื่อคืนโดยเร็ว แต่จำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เป็นการไม่เอาใจใส่ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์จะขับรถไปเสี่ยงเเก่การเกิดอุบัติเหตุ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับดูแลจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์โดยปริยาย ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการดูแลจำเลยที่ 1 เช่นนี้จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิด ซึ่งจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดเป็นจำนวนเดียวกับที่จำเลยที่ 1-3 ต้องชดใช้แก่โจทก์ที่ 5 , 11 ไม่มีเหตุที่จะลดความรับผิดของจำเลยที่ 4 ให้เหลือเพียงบางส่วน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1-3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 5 ,11 ศาลฎีกาฯ เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น จึงให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1-3 ชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ ให้แก่โจทก์ที่ 5 , ที่ 11 ด้วย

เมื่อ ศาลฎีกาฯ ได้วินิจฉัยตามเหตุผลข้างต้นจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เยาวชนหญิง และบิดา-มารดา จำเลยที่ 1-3 ร่วมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ิ 1 จำนวน 1 ล้านบาท , ที่ิ 2 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 3 จำนวน 1 ล้านบาท , ที่ 4 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 5 จำนวน 1.8 ล้านบาท , ที่ 9 จำนวน 1 ล้านบาท , ที่ 10 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 11 จำนวน 1 ล้านบาท , ที่ 12 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 13 จำนวน 1.8 ล้านบาท , ที่ 14 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 15 จำนวน 1 ล้านบาท , ที่ 16 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 17 จำนวน 1 ล้านบาท , ที่ 18 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 19 จำนวน 1 ล้านบาท , ที่ 21 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 22 จำนวน 1.5 ล้านบาท , ที่ 25 จำนวน 150,000 บาท , ที่ 26 จำนวน 256,925 บาท , ที่ 27 จำนวน 100,000 บาท , ที่ 28 จำวน 150,000 บาท

ทั้งนี้รวมค่าขาดไร้อุปการะที่ให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมชดใช้ให้กับโจทก์ที่ 1-5 , 9-19, 21-22 , 25-28 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่ 100,000 - 1.8 ล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้น 24,756,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันเกิดเหตุ 27 ธ.ค.53 ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้เยาวชนหญิง กับบิดา-มารดา จำเลยที่ 1- 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1-5 , 9-19 , 21-22 , 25-28 โดยกำหนดเป็นค่าทนายความสำนวนละ 5,000 บาทด้วย.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0