โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดข้อมูล 2 ด้าน “แบน-ไม่แบน” 3 สารเคมีเกษตร

PPTV HD 36

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 13.02 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 12.10 น.
เปิดข้อมูล 2 ด้าน  “แบน-ไม่แบน” 3 สารเคมีเกษตร
ก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติแบนหรือไม่แบน 3 สารเคมีเกษตร วันที่ 22 ต.ค.นี้ วันนี้ทีมข่าวพูดคุยกับคนที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องนื้ทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงกัน ยังมีประเด็นผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีซึ่งอาจจะต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันและหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้

รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในบุคคลที่ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการให้เหมาเข่งแบน สารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยให้เหตุผลกับทีมข่าวว่า สารเคมีทั้ง 3 ตัวเป็นคนละกลุ่มกัน ต้องพิจารณาเป็นรายตัวไปว่าควรจะแบนหรือไม่ ถ้าเป็นสารคลอไพริฟอส ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่ฉีดลงบนพืชผลโดยตรง ตัวนี้สามารถแบนได้ทันที เพราะในท้องตลาดมีสารเคมีชนิดอื่นทดแทนจำนวนมาก แต่หากเป็นพาราควอต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง >> "ชาดา"โพสต์ป้อง"มนัญญา"ลั่นอย่าทำอะไรน้องสาวผม

ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าชนิดเผาไหม้ ต้องทำความเข้าใจว่าเกษตรกรใช้ฉีดหญ้าเท่านั้นไม่ได้ฉีดไปที่พืชผัก เพราะจะทำให้ได้รับความเสียหาย ดังนั้นสารตกค้างมาสู่ผู้บริโภคจึงถือว่าน้อยมาก เช่นเดียวกับไกลโฟเซต ยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึม

รศ.เจษฎา อ้างว่ามีอันตรายน้อยกว่าเกลือแกงในปริมาณที่เท่ากัน และที่สำคัญผู้ที่ได้รับสารพิษส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่นำไปใช้ผิดประเภท เช่นกินฆ่าตัวตาย และเกษตรกรบางส่วนที่ไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน ดังนั้นสารทั้ง 2 ตัวนี้จึงไม่จำเป็นต้องแบน แต่ให้ใช้วิธีจำกัดการใช้งานและเข้มงวดต่อการใช้งานให้มากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมเกษตรปลอดภัยโดยไม่จำเป็นต้องปลอดสารเคมี

รศ.เจษฎา ยังระบุด้วยว่า หากมีมติแบน 3 สารเคมีนี้จริง ผลกระทบที่เกิดขึ้น เกษตรกรก็ต้องหันไปใช้สารเคมีตัวอื่นที่มีราคาแพงกว่าและใช้ในปริมาณที่มากกว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาพืชผลที่มาถึงมือผู้บริโภคก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งจะกระทบไปถึงภาคการส่งออกที่สู้ราคาต่างประเทศไม่ได้ ยังไม่นับรวมปัญหาการลักลอบใช้สารเคมี 3 ตัวนี้ในอนาคตด้วย ส่วนผู้ที่ไม่เสียผลประโยชน์เลยก็คือกลุ่มทุนและพ่อค้า เพราะต่อให้แบน 3 สารนี้ ก็หันไปขายสารตัวอื่นได้อยู่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง >> "มนัญญา" แฉ มีคนติดตาม หลังเดินหน้าแบน 3 สารเคมีเกษตร

ความเห็นของ รศ.เจษฎา สวนทางกับทางฝั่งมูลนิธิชีววิถีที่ต้องการให้แบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดสิ้นเชิง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้ความเห็นว่าแม้ไม่มีสารเคมี 3 ตัวนี้ ก็ยังมีทางเลือกอื่นให้กับเกษตรกรเลือกใช้ และยังมีผลการศึกษาด้วยว่าพืชเศรษฐกิจหลักบางกลุ่ม เช่นยางพารา เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้

แต่ใช้วิธีรถตัดหญ้าหรืออื่นๆ ดังนั้นผลกระทบจึงไม่มากนัก ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดกับเกษตรกรกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้สารเคมี และต้นทุนการผลิตอาจสูงขึ้น เรื่องนี้รัฐบาลควรเป็นฝ่ายที่ต้องเข้ามารับผิดชอบเยียวยา ซึ่งปัญหาของเกษตรกรเวลานี้คือกังวลเรื่องต้นทุน หากรัฐบาลนำเงินมาอุดช่องโหว่ตรงนี้ได้ ก็นับว่าคุ้มค่าที่ต้องแลกกับสุขภาพคนไทย

นายวิฑูรย์ ยังระบุด้วยว่าที่ผ่านมามีผลการศึกษาจำนวนมากที่ระบุว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นคลอไพริฟอส ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสมองของเด็ก พาราควอต มีพิษเฉียบพลัน มีผู้เสียชีวิตจากพาราควอตจำนวนมาก และ 58 ประเทศทั่วโลกก็ประกาศแบนไปแล้ว

ส่วนไกลโฟเซตก็มีผลการวิจัยที่พบว่าอาจเป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ และยังมีผลการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยว่า ทุกการนำเข้าสารเคมี 3 ชนิด 1 หมื่นตัน มีมูลค่าความสูญเสียด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 7600 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง >> ภาคประชาชนยื่นหนังสือนายกฯ ค้านอนุญาตใช้สาร “พาราควอต”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง >> เปิดข้อมูลผลกระทบสุขภาพ 3 สารเคมีภาคการเกษตร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0