โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดข้อพิพาท "แร่แรร์เอิร์ธ" เมื่อสหรัฐฯ เคยร้อง WTO กรณีจีนจำกัดการส่งออกแร่หายาก

Amarin TV

เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 15.54 น.
เปิดข้อพิพาท
จากกรณีที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงงานผลิต แร่แรร์เอิร์ธ (Rare-earth) ที่มณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแร่ดังกล่าวที่สำคัญ

จากกรณีที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงงานผลิต แร่แรร์เอิร์ธ (Rare-earth) ที่มณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแร่ดังกล่าวที่สำคัญของประเทศ และจีนยังเป็นผู้ผลิตในสัดส่วนถึง 90% ของทั้งโลก พร้อมทั้งส่งสัญญาณไปถึง ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เริ่มตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับหัวเว่ย ด้วยการขู่ไม่ส่งแร่ผลิตชิปให้กับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทเกี่ยวกับ “แร่แรร์เอิร์ธ” นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะการคว่ำบาตรหัวเว่ยในปีนี้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถย้อนกลับได้ถึง 7 ปีก่อน โดยจากข้อมูลของ ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง “สหรัฐฯ ร้อง WTO กรณีจีนจำกัดการส่งออกแร่ที่มีธาตุโลหะหายาก” เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 โดยระบุว่า…

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 รัฐบาลสหรัฐฯได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในกรณีที่จีนกำหนดโควต้าส่งออกแร่ที่มีธาตุโลหะหายาก หรือ rare-earth minerals ซึ่งเป็นแร่ที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์จอแบน รวมไปถึงขีปนาวุธ เนื่องจากสหรัฐฯเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดขวางกลไกตลาด และละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO ทั้งนี้ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็ได้ให้การสนับสนุนการฟ้องร้องดังกล่าวด้วย

สหรัฐอเมริกาต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลจีนผ่อนคลายการกำหนดโควต้าการส่งออกแร่ดังกล่าว โดยสหรัฐฯ กล่าวหาว่าการจำกัดโควต้าการส่งออกทำให้ราคาแร่ในตลาดพุ่งตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีประเทศที่นำเข้าแร่ดังกล่าวจากจีน เนื่องจากการที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทำให้จีนได้เปรียบคู่แข่งจากต่างชาติ เพราะจีนสามารถผลิตสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบจากจีน และอาจจะเป็นการกดดันให้บริษัทที่ผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงย้ายฐานการผลิตไปยังจีน

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาชี้แจงว่า การกำหนดโควต้าส่งออกแร่ที่มีธาตุโลหะหายากดังกล่าวเป็นนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขยายอุตสาหกรรมเหมืองแร่จนกระทบกับปริมาณของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ทั้งยังให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ควรจะเพิ่มการผลิตแร่ดังกล่าวภายในประเทศตนเองด้วย

จีนนับเป็นผู้ส่งออกแร่ที่มีธาตุโลหะหายากรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นกว่าร้อยละ 95 ของตลาดโลก อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีแร่ดังกล่าวอยู่เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณสำรองของจีน แต่การทำเหมืองแร่ในสหรัฐฯ ถูกปิดลงเนื่องจากกฎหมายที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมและราคานำเข้าจากจีนที่ถูกกว่าการผลิตในสหรัฐฯ นั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0