โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดกลยุทธ์ ‘ทรัมป์’ สั่งบริษัทอเมริกันในจีน ‘กลับบ้าน’

The Momentum

อัพเดต 25 ส.ค. 2562 เวลา 16.35 น. • เผยแพร่ 25 ส.ค. 2562 เวลา 16.35 น. • สาธิต มนัสสุรกุล

In focus

  • เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. จีนประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ในทันควัน แถมสั่งให้บริษัทอเมริกันเก็บกระเป๋าย้ายไปลงทุนที่อื่นนอกจากจีน
  • อาจมีคนสงสัยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจอะไรที่จะมาสั่งผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องแข่งขันเสรีในตลาดโลก แต่ผู้รู้บอกว่า ภายใต้ระบอบแบบอเมริกัน ซึ่งออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง ทรัมป์มีเครื่องมือทางนโยบายหลายอย่างที่จะนำมาใช้ได้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส

สงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ ทวีความร้อนแรงเมื่อปลายสัปดาห์ นอกจากขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้การขึ้นภาษีของจีนแล้ว ผู้นำทำเนียบขาวยัง “สั่งให้บริษัทอเมริกันกลับบ้าน” อีกด้วย แม้ฟังดูเกินอำนาจประธานาธิบดี แต่ผู้รู้บอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ทำได้

เมื่อวันศุกร์ (23 ส.ค.) จีนประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทำให้ผู้นำวอชิงตันตอบโต้ในทันควัน แถมยัง ‘สั่ง’ ให้บริษัทอเมริกันเก็บกระเป๋าย้ายไปลงทุนที่อื่น

ทรัมป์ประกาศว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีน มูลค่ารวม 550,000 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นอีก 5% โดยสินค้าจีน จำพวกวัตถุดิบ เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป มูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งปัจจุบันเก็บในอัตรา 25% จะขึ้นเป็น 30% เริ่มมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม

สินค้าจีนส่วนที่เหลือ จำพวกสินค้าผู้บริโภค มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ฯ จะเก็บเพิ่มจาก 10% เป็น 15% โดยบางส่วนจะเริ่มเก็บในวันที่ 1 กันยายน และที่เหลือจะมีผลในวันที่ 15 ธันวาคม

ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเรื่องนี้หลังจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศในวันเดียวกัน ว่า สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รวม 5,078 รายการ จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม บางรายการขึ้น 5% บางรายการขึ้น 10% ขณะเดียวกัน อัตราภาษีใหม่ 25% สำหรับรถยนต์ และ 5% สำหรับอะไหล่ยานยนต์ ที่เคยระงับไว้เมื่อเดือนธันวาคม ก็จะเริ่มเก็บเช่นกัน โดยเริ่มมีผล 1 กันยายน และ 15 ธันวาคม

การประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กันเมื่อปลายสัปดาห์ ทำให้หุ้นตก ราคาน้ำมันดิบร่วง เพราะตลาดกังวลว่า สงครามการค้าจะฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอย ทรัมป์ประกาศตอนตลาดหลายแห่งในโลกปิดทำการไปแล้ว จึงต้องคอยดูว่า เมื่อเปิดตลาดในวันจันทร์ มูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ จะดิ่งลึกขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สร้างความฮือฮานั้น อยู่ในข้อความทวีตของทรัมป์ในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งเขาโพล่งว่า “เราไม่ต้องการจีน พูดกันอย่างเปิดอก ไม่มีจีนเลยจะดีกว่านี้มาก จีนทำเงินและขโมยเงินจากสหรัฐฯ ปีแล้วปีเล่ามานานหลายทศวรรษ พอกันที”

“ดังนั้น ขอสั่งให้บริษัทอเมริกันเริ่มมองหาแหล่งลงทุนอื่นนอกเหนือจากจีนเดี๋ยวนี้ ย้ายบริษัทกลับบ้าน กลับมาผลิตในสหรัฐอเมริกา”

พอประกาศเปรี้ยงออกมาอย่างนี้ เกิดเสียงถามไถ่อึงคะนึงว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจอะไรที่จะมาสั่งผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องแข่งขันเสรีในตลาดโลก

ทว่าผู้รู้บอกว่า ภายใต้ระบอบแบบอเมริกัน ซึ่งออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง ผู้นำทำเนียบขาวมีเครื่องมือทางนโยบายหลายอย่างที่จะนำมาใช้ได้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส

ขึ้นภาษีนำเข้าสุดโหด

เครื่องมืออย่างแรก ทรัมป์ใช้อยู่แล้ว ถ้าอยากบีบให้บริษัทอเมริกันถอนสมอออกจากจีน ทรัมป์ก็เพียงแต่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าให้ถึงระดับที่บริษัทเหล่านั้นเจอสภาพกำไรหด เพราะภาษีที่แพงมหาโหดจะทำให้สินค้าที่ผลิตในจีนส่งออกไปขายในสหรัฐฯ สู้สินค้าจากแหล่งผลิตอื่นๆ ไม่ได้

เจอไม้นี้เข้าไปหนักๆ คาดกันว่า บริษัทอเมริกันที่เข้าไปร่วมทุนกับบริษัทจีน คงต้องย้ายโรงงาน ย้ายสถานประกอบการ หนีออกจากเมืองจีน

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

หัวหน้าฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ มีดาบอาญาสิทธิ์อยู่ในมือเล่มหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า “รัฐบัญญัติอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ค.ศ. 1977”

กฎหมายฉบับนี้เปิดทางให้ประธานาธิบดีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อประกาศแล้วก็สามารถบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรได้ อาจคว่ำบาตรเป็นรายบริษัท หรือคว่ำบาตรภาคเศรษฐกิจอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งภาค

ผู้รู้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมมติประกาศว่า จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกัน ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ทรัมป์สามารถสั่งห้ามบริษัทอเมริกันไม่ให้ซื้อสินค้าเทคโนโลยีของจีนได้

ในอดีต ผู้นำสหรัฐฯ เคยงัดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใช้หลายครั้ง เช่น เมื่อคราวประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ออกคำสั่งเมื่อปี 1979 สกัดกั้นการถ่ายโอนสินทรัพย์ของรัฐบาลอิหร่านผ่านระบบการเงินของสหรัฐฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ดาบเล่มนี้มีสองคม ขณะที่ใช้เล่นงานปรปักษ์ มาตรการคว่ำบาตรนั้นอาจส่งผลสะท้อนย้อนกลับเข้าหาตัวผู้ใช้เองด้วย จึงต้องประเมินให้ดีว่า ถ้าจีนคว่ำบาตรตอบโต้ ประเทศสหรัฐฯ และบริษัทอเมริกัน จะเผชิญผลลัพธ์อย่างไร

นอกจากนี้ ด้วยระบบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ใครได้รับความเสียหายจากการคว่ำบาตร ก็สามารถนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องในศาลยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้

ห้ามประมูลงานของรัฐ

เครื่องมืออีกอย่างของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ ห้ามบริษัทอเมริกันที่ประกอบการในจีนเข้าแข่งขันประกวดราคาในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลาง

อำนาจในการออกคำสั่งฝ่ายบริหารที่ว่านี้ อาจใช้บีบคั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายได้ เช่น กรณีของโบอิ้ง ซึ่งเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเครื่องบินรุ่น 737 แบบครบวงจรในจีน ด้วยเป้าหมายที่จะแซงหน้าคู่แข่งอย่างแอร์บัสของยุโรปที่ขยายกิจการในจีนเช่นกัน เนื่องจากตลาดการบินของจีนกำลังจะเติบโตขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐฯ ในทศวรรษหน้า

เมื่อใช้มาตรการนี้ ถ้ายังอยากขายอาวุธให้เพนตากอนต่อไป โบอิ้งต้องถอนตัวออกจากจีน

ห้ามค้าขายกับคู่สงคราม

ทางเลือกสุดท้าย คือ บังคับใช้กฎหมายที่เรียกว่า รัฐบัญญัติการค้ากับประเทศศัตรู ซึ่งผ่านสภาคองเกรสเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 1

กฎหมายฉบับนี้เปิดทางให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ควบคุมหรือลงโทษกิจการที่ค้าขายกับประเทศที่อเมริกาทำสงครามด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้รู้บอกว่า ทรัมป์คงไม่ใช้ท่าไม้ตายนี้ เพราะการประกาศว่า จีนคือศัตรู จะทำให้ความตึงเครียดกับปักกิ่งบานปลายกลายเป็นวิกฤต.

 

อ้างอิง:

Reuters, 23 August 2019

Reuters, 23 August 2019

 

ภาพ: REUTERS/Kevin Lamarque

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0