โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"เปลี่ยนประชาธิปัตย์ได้ ก็เปลี่ยนประเทศได้" คุยกับ 2 สมาชิกกลุ่ม New Dem

The MATTER

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 12.17 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 12.55 น. • Pulse

แม้จะแทบไม่ได้อยู่ในโฟกัสเลย หลังพ่ายแพ้ย่อยยับในการเลือกตั้ง แต่บทบาทของพรรคอายุ 73 ปี ก็ยังต้องจับตาต่อไป เพราะกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า นี่คือพรรคที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และสามารถหาบทสำคัญๆ เล่นได้อยู่เสมอ ในเกมกระดานการเมืองไทย

ไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวณใด พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็น่าจะได้ ส.ส.จากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ได้เพียง 50 คนเศษๆ เท่านั้น - แทบไม่เป็นตัวแปรใดๆ ไม่ว่าจะพลิกไปจับกับขั้วไหน จึงไม่แปลกอะไรที่คอการเมืองและสื่อมวลชนจะไม่ได้ทอดสายตามองไปที่พรรคสีฟ้ามากนัก

เวลานี้ ปชป.เองก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะพ่ายเดิมพัน 'ส.ส.ต่ำร้อย' จนต้องสรรหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อวางเส้นทางการเมืองของในระยะถัดไป

และท่ามกลางความหมองหม่น ก็มีสมาชิกรุ่นหนุ่มของพรรคที่เรียกกันว่า New Dem บางคนออกมาเสนอว่า น่าจะอาศัยจังหวะที่พรรคพ่ายแพ้ย่อยยับเนี่ยแหละในการกอบกู้ศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา ในฐานะ 'ฝ่ายค้านอิสระ' ที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงใช้โอกาสนี้ปฏิรูปพรรคให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ดูจะได้รับฟีดแบ็กที่หลากหลาย บ้างเห็นด้วย แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นต่าง และอยากจะเข้าไปจับขั้วจัดตั้ง 'รัฐบาล' กับขั้วอำนาจปัจจุบัน

The MATTER จึงถือโอกาสนี้ ไปพูดคุยกับ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ และ หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ 2 สมาชิกกลุ่ม New Dem ที่ออกมาโยนข้อเสนอเรื่องฝ่ายค้านอิสระ และเรียกร้องให้ปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง เพื่อให้ยังคงเป็นตัวเลือกของประชาชนได้ต่อไป หลังอยู่มากว่า 7 ทศวรรษ

แต่การปฏิรูปพรรคเก่าแก่นี้ไม่ง่าย และที่ผ่านมาก็เคยมีบุคคลหลายๆ กลุ่มพยายามเปลี่ยน ปชป.อยู่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมา หากไม่เปลี่ยนแปลงได้น้อยมาก ก็มักลงเอยที่ความล้มเหลว แต่ 2 คนหนุ่มนี้มีความเชื่อมั่นที่แตกต่างออกไป

[หมายเหตุ: การสัมภาษณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนเมษายน ]

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ และ หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

The MATTER: ผิดหวังหรือเสียดายไหม ที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกแล้วแพ้

ไอติม: จะผิดหวังถ้าไม่รู้สึกว่าทำเต็มที่แล้ว และเลือกตั้งครั้งนี้รู้สึกว่าเราทำเต็มที่ และไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็เป็นประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องงานการเมือง ความต้องการประชาชนในปัจจุบัน และได้พัฒนาตัวเองด้วยในการบริหารจัดการทีม คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่จะเก็บเป็นบทเรียนไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ในอนาคต ไม่มีอะไรที่เสียดาย

หมอเอ้ก: เสียดายคงไม่ จนถึงวันที่ 23 มี.ค. เวลา 18.00 น. ผมกับทีมงานก็คิดว่าได้ปล่อยเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรค้างคา หรือสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำ ถามว่าเสียใจไหม ทุกคนที่เป็นผู้สมัครก็คงรู้สึกเสียใจอยู่แล้วที่ผลไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็ถือเป็นบทเรียนหลายๆ อย่างที่จะมาถอดบทเรียนดูว่า ถ้าจะต้องลงรับสมัครเลือกตั้งในระบบเขตอีก ต้องปรับปรุงอย่างไร ในแง่ของพรรคภาพใหญ่จะต้องมาวางอย่างไร

The MATTER: ตอนที่คะแนนมันเริ่มๆ ไหลมา ปชป.พอจะรู้หรือยังว่า ส.ส.จะหายไปหมดทั้ง กทม.

หมอเอ้ก: ตอน 15 นาที เราก็พอรู้แล้วล่ะว่าเขตของเราเป็นอย่างไร แต่เราไม่รู้ว่ามันจะหายไปทั้งหมดใน กทม. นี่เรียนตามตรง แต่ผมกับไอติมมีความคิดที่เหมือนกันจนน่ากลัว คือผมกำลังจะโทรหาเขา เขาก็โทรมาพอดี “ของพี่เป็นไงบ้าง” “เหมือนกัน” (หัวเราะ) พอคะแนนในหน่วยที่เรามั่นใจมาก ปรากฎว่าได้คะแนนน้อยมากๆ ก็เริ่มรู้ชะตากรรมแล้วว่า เขตเราเป็นอย่างไร

แต่ที่แปลกใจก็คือใน กทม. เขตที่คิดว่าจะเป็นของเราชัวร์ๆ ไม่เคยพลาด ก็ได้คะแนนไม่แตกต่างจากพวกเรามากนัก นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากสำหรับ ปชป.ว่า เห้ย มันเกิดอะไรขึ้น เพราะมันแสดงว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลแล้ว แต่อยู่ที่เรื่องของพรรคแล้วว่าเราเดินยุทธศาสตร์ผิดหรือเปล่า แทคติกของเราผิดหรือเปล่า ในการแคมเปญครั้งนี้  จนกระทั่งไปที่พรรค แล้วเห็นคะแนนของทั้งประเทศ เราทราบได้เลยว่าครั้งเนี้ยค่อนข้างหนักหน่วงมาก

ไอติม: และผมก็อยากย้ำไปถึงหลักการเดิมว่าเราไม่ควรจะมองว่าพรรคไหนครอบครอง กทม. เพราะที่ผ่านมา กทม.เป็นพื้นที่ที่คะแนนเลือกตั้งสวิงไปสวิงมาตลอดเวลา ไม่มีพรรคไหนที่ครอบครอง กทม.ได้ยาวนาน ถ้ากระแสไม่มา ถ้าคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง คน กทม.ก็พร้อมจะพิจารณาตัวเลือกใหม่ๆ เราเห็นมาจากพรรคพลังธรรม เมื่อปี 2535 พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 และปี 2548 ตอนนั้น ปชป.เหลือ ส.ส.แค่ 4 ที่นั่ง แต่ปีถัดไป เราก็ชนะผู้ว่าฯ กทม. มันแสดงให้เห็นว่าคน กทม.พร้อมจะพิจารณาตัวเลือกใหม่ๆ เสมอ

หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

The MATTER: ถอยไปสู่ระดับชาติ เดิม ปชป.ก็น่าจะมีความมั่นใจว่าน่าจะได้ ส.ส.เกิน 100 คน กระทั่งคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังเดิมพันด้วยตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ที่สุดก็เหลือ ส.ส.แค่ราว 50 ที่นั่ง เราสรุปบทเรียนเรื่องนี้อย่างไร

ไอติม: จะสรุปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่คงยาก และมีหลายปัจจัยที่เข้ามาในรอบนี้ ผมคิดว่าเราเสียฐานเสียงไปแน่นอนให้กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะก็มีชาวบ้านหลายคนเข้ามาพูดว่าเคยเลือก ปชป. แต่ครั้งนี้ขอเลือก พปชร.นะ เช่นเดียวกันก็มีหลายคนหันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ฉะนั้นถ้าพูดถึงฐานเสียงที่หายไป ก็กระจายไปหลายพรรค

เรื่อง ‘บัตรใบเดียว’ ก็ส่งผลกระทบต่อผู้สมัครหลายคนที่อาจจะมีผลงานหรือประสบการณ์ในพื้นที่พอสมควร เพราะไม่ว่าเขาจะรักตัวบุคคลแค่ไหน พอบัตรเลือกตั้งเหลือเพียงใบเดียว และในบัตรเลือกตั้งโชว์ชื่อพรรค ในที่สุดคนก็หันไปเลือกจากพรรค อันนี้ก็เลยทำให้ผู้สมัครของ ปชป.หลายๆ คน ที่เราเห็นว่ามีผลงานในพื้นที่ชัดเจน เขากลายมาเป็นรักษาฐานนั้นไม่ได้

ความจริง เรื่องนี้ก็เป็นอย่างแรก ตอนที่คะแนนเข้ามาแรกๆ ผมมองไปรอบๆ ห้องผม แล้วมี ส.ก. ส.ข.หลายคนนั่งอยู่ ซึ่งเขาทำงานในพื้นที่มาก ผมก็พยายามจะพูดกับเขาว่า อย่าให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นตัวตัดสินว่าผลงานของเขาไม่ดี เพราะพอเหลือบัตรใบเดียวก็เป็นเรื่องของกระแสพรรคด้วย ไม่อยากให้เขาถอดใจตรงนั้น

หมอเอ้ก: ผมเคยโพสต์ไปใน #savedem ไปว่าการวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่าเราเพลี่ยงพล้ำจริงๆ เพราะถ้าเราไปวางโดยแผนที่ว่าจุดยืนเราอยู่ตรงไหน จะเห็นว่าเราอยู่ตรงกลาง คนที่ชอบฝั่งขวาก็จะไป พปชร. ฝั่งซ้ายก็ พท. คนที่เบื่อทั้ง 2 ฝั่งก็จะไป อนค. ขณะที่เรา เหมือนไม่มีพื้นที่ให้เราจับจองได้เลย ประกอบกับด้วยกติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว ประชาชนที่เขาไปในคูหา ถูก form ไอเดียมาก่อนแล้ว การตัดสินใจจะถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเผด็จการ-ประชาธิปไตย เอาลุงตู่-ไม่เอาลุงตู่ สู้ทักษิณ-ฝ่ายไม่สู้ทักษิณ มักถูก form มาแล้วว่า เหลือแค่ 2 ช้อยส์ ใช่หรือไม่ ซ้ายหรือขวา ฉะนั้นพอเข้าไปในคูหา คนมันคิดแล้วว่า เหลือแค่ 2 ช้อยส์ เอาไงดี

ไม่ว่าจะเป็นโจทย์แบบไหนก็ตาม จะมีพรรคที่สุดกว่า ปชป.เสมอ พอเป็นอย่างนี้ เราก็เลยไปอยู่ในเขตที่เรียกวา no man’s land ในเชิงของแบรนด์ positioning เราหลุดไปอยู่ตรงนั้นเลย ในเชิงยุทธศาสตร์เราพลาดตรงนี้

ส่วนในเชิงแทคติก หลายๆ ลำดับเหตุการณ์ ก็ต้องมาดูว่า อันไหนที่เราควรทำ-ไม่ควรทำ มีคนพูดเยอะคลิปของอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ ในเชิงจุดยืนผมไม่เห็นความแปลก กับการที่ออกมาพูดเช่นนั้น เพราะพรรคการเมืองตามปกติก็ควรจะสนับสนุนให้หัวหน้าพรรคตัวเองได้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว

The MATTER: ไอติมเห็นด้วยกับหมอเอ้กไหม ที่ว่าเราไม่สุดสักด้าน

ไอติม: เห็นด้วยในเชิงผลลัพธ์ที่ออกมา คือเราไม่ได้เป็นอับดับหนึ่งในหลายๆ กลุ่มที่เราต้องการ ในกลุ่มที่ต่อต้าน คสช.ชัดเจน หลายคนก็มองว่า เราอาจจะไปไม่สุดหรือออกตัวช้าไป ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ (ชินวัตร) เราก็ถูกมองว่า เราไม่ได้ต่อสู้กับทักษิณ ซึ่งความจริงผมจะแย้งนะ เพราะถ้าถามว่าใครต่อสู้กับทักษิณมายาวนานที่สุด ความจริงก็คือ ปชป. แต่ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม เราไม่อยู่ในที่หนึ่งของทุกขั้ว

เรื่องของอุดมการณ์ เราก็ต้องกลับมาถามตัวเอง สมัยก่อน ปชป.ใช้เวลายาวนานมากในการต่อสู้กับทักษิณ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และ พท. ถามว่าเพื่ออะไร คือผมคิดมาโดยตลอด และเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเดินเข้ามาใน ปชป.ก็เพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ทั้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ การแทรกแซงองค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งหลายๆ คนตีความว่าเป็นเผด็จการในรูปแบบหนึ่ง

ถ้าเราถามว่า  ปชป.เคยต่อสู้กับเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ต่อสู้กับคนที่แทรกแซงองค์กรอิสระ แล้วเราควรจะหยุดต่อสู้กับคนที่มองว่าอยู่ตรงข้ามกับคนที่เราเคยต่อสู้ไหม ส่วนตัวคิดว่าไม่ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของบุคคล แต่เป็นเรื่องว่าเราต่อสู้กับการกระทำอะไร

 

The MATTER: ปชป.เสนอตัวเป็นขั้วที่สาม แต่ผลออกมา หลายคนก็มองว่าคะแนนที่ให้กับ พปชร.ก็เทไปจาก ปชป. จนถูกตีความว่าขั้วที่สามไม่อยู่จริง การเมืองไทยมันแบ่งเป็นแค่ 2 ขั้วเท่านั้นแหละ

ไอติม: ความจริงระบบการเลือกตั้งในตอนนี้ MMA มันเปิดช่องทางให้มีหลายพรรคอยู่แล้ว เช่นที่เยอรมนีใช้ระบบแบบนี้ ทำให้บางทีพรรคกลางๆ ได้เป็นรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านเป็นพรรคที่สุดโต่งไปทั้ง 2 ด้านที่มองหน้ากันไม่ติด มันมีตัวอย่างให้เห็นชัดว่า มันมีพื้นที่สำหรับหลายๆ อุดมการณ์

มันจึงไม่ใช่ปํญหาเชิงระบบว่า ด้วยบริบทของประเทศไทยทำให้ต้องมี 2 ขั้ว เพราะความจริงประเทศที่มี ส.ส.เขตอย่างเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับ MMA เช่นในอังกฤษ ในเชิงสถิติกลับจะเป็น 2 ขั้วมากกว่าด้วยซ้ำ

จะเห็นได้ว่าตัวระบบเอื้อต่อการมีหลายขั้วอยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้อาจจะทำให้หลายๆ คนถูกผลักออกไปในด้านที่สุดโต่ง ซึ่งผมจะพูดเสมอว่านี่คือสิ่งสุดท้ายที่อยากเห็นในสังคมไทยคือการปลุกระดมความแตกแยก ปลุกระดมความขัดแย้ง

ไม่ว่าจะชอบไม่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะชอบรัฐบาลที่ผ่านมาหรือไม่ ไม่ว่าจะคุณเป็นไดโนเสาร์หรือเด็กเมื่อวานซืน นี่คือวาทกรรมการปลูกฝังความแตกแยก ซึ่งเราควรจะหลีกเลี่ยง

The MATTER: มาถึงข้อเสนอ ‘ฝ่ายค้านอิสระ’เกิดจากไอติมคนเดียวหรือเปล่า ได้ปรึกษาคนอื่นก่อนหน้านี้ไหม

ไอติม: ความจริงก็คุยหลายคน และคนแรกที่พูดก็ไม่น่าจะใช่ผมด้วย เป็นอดีต ส.ส.คนหนึ่ง ข้อเสนอฝ่ายค้านอิสระมันมาจากหลายปัจจัย 1.) อยากเห็น ปชป.รักษาอุดมการณ์และคำพูดของเราไว้ นั่นคือเราไม่ได้ยืนอยู่ในการเมืองเพื่อต่อสู้กับคนใดคนหนึ่ง แต่ยืนอยู่ในการเมืองเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ฉะนั้นไม่ว่าความไม่ถูกต้องเป็นเรื่องของการทุจริต การสืบทอดอำนาจ เราต้องรักษาอุดมการณ์เอาไว้ ที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่เราประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง ฉะนั้น 3.9 ล้านเสียงที่เลือกเราก็อยู่บนพื้นฐานความรู้ว่าเราได้ประกาศสิ่งนี้ไว้ ไม่ได้บอกว่าเราเปลี่ยนจุดยืนไม่ได้ แต่ถ้าจะเปลี่ยนต้องสอบถาม 3.9 ล้านเสียงที่เลือกเรามา ถ้าคุณจะเปลี่ยนก็ต้องถามเขาก่อน

2.) การประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ คำว่าอิสระ สิ่งสำคัญคืออิสระต่อใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาล ไม่ได้เป็นการเลือกว่าจะเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะต่อให้พรรคไหนได้มาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เราก็ไม่เห็นว่าจะไม่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตหรือสืบทอดอำนาจ

3.) การประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านของเรา จะต้องไม่ทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ ซึ่งไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย เพราะถ้า ปชป.มี ส.ส.สัก 150 คน การประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน อาจจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ แต่เมื่อตัวเลขออกมาว่า ปชป.น่าจะได้ ส.ส.ราว 50 คน การประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน ไม่ได้ทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะในการจัดตั้งรัฐบาล หาก พปชร. หรือ พล.อ.ประยุทธ์อยากจะเป็นรัฐบาลจริง จะไปขอความร่วมมือจาก ส.ว. ก็ทำได้ หรืออีกขั้วหนึ่ง การจะจัดตั้งรัฐบาลต้องการเสียงถึง 375 เสียง ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้

เราไม่ได้นั่งเป็นฝ่ายค้าน เพื่อค้านทุกอย่าง อะไรที่เราเห็นด้วยก็ยกมือให้ ไม่ว่าจะงบประมาณ ข้อกฎหมาย อะไรที่เราไม่เห็นด้วย ก็ไม่ยกมือให้ เป็นการทำงานบนพื้นฐานของประโยชน์ประชาชน แต่หลายๆ คนก็อาจจะพูดว่า คนที่เลือก ปชป.เพราะอยากเห็นนโยบายนี้ๆ ผมก็บอกว่า เป็นฝ่ายค้านเราต่อรองพวกนี้ได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ

และท้ายสุดนี้ อย่างที่บอกว่าเราต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง ในการ ‘ปฏิรูปพรรค’ ปรับโครงสร้างกระบวนการทำงานต่างๆ เพื่อให้ ปชป.พ้นข้อครหา หรือสิ่งที่คนมองว่าเป็นจุดอ่อนของพรรค ทั้งความรวดเร็วในการตัดสินใจ การสื่อสารที่เข้าถึงคนในยุคนี้มากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นงานที่ไม่ง่ายเลย เป็นงานที่ใช้แรงและเวลาเยอะมาก เพราะฉะนั้นการประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน ตราบใดที่ไม่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ก็เป็นการที่เราจะได้ใช้เวลาและแรงส่วนหนึ่งกลับมาพัฒนาตัวเองเพื่อจะได้เสนอตัวเป็นทางเลือกของประชาชนในอนาคต

หมอเอ้ก: คือจะมีคนโจมตีพวกผมเยอะมาก เห้ย เราเสนอแบบนี้จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้หรือเปล่า ไม่ใช่นะ คือเรามาทางนี้จริง แต่ 1.) ใครก็ตามที่รวบรวมเสียงได้มากที่สุดก็สามารถตั้งรัฐบาลได้ 2.) มีคนบอกว่าเป็นฝ่ายค้านทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองไม่ได้ ผมก็บอกว่าคุณเลือกตั้งเข้ามาก็เป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านอยู่แล้ว และยิ่งเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยมากเท่าไร ฝ่ายค้านอิสระยิ่งมีความสำคัญ ว่านโยบายใดตรงกับเจตนารมณ์ของเรา หรือแนวทางที่เราอยากจะผลักดันหรือไม่

ไอติม: และความจริงตรงนี้เป็นจุดแข็งของ ปชป. คือเราเป็นสถาบันทางการเมือง เราเป็นคนที่เสนอสิ่งใหม่ๆ หรือเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมาตลอด เช่นสมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นฝ่ายค้านก็เสนอเรื่อง ครม.เงา ซึ่งก็เป็นวิธีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในระบบการเมืองของอังกฤษ คือรัฐมนตรีทุกกระทรวงจะมีรัฐมนตรีเงาคอยประกบ เราเป็นคนนำเสนอเรื่อง primary ให้สมาชิกพรรคสามารถเลือกหัวหน้าพรรคได้โดยตรง ซึ่งก็เป็นมาตรฐานสากลของพรรคการเมืองนานาชาติ ฝ่ายค้านอิสระหรือฝ่ายค้านสร้างสรรค์ ก็เป็นอะไรที่มีอยู่ในระบอบประชาธิปไตยสากล จึงเป็นการเสนออะไรที่ผมเชื่อว่าจะดีต่อสังคมประชาธิปไตยในไทย

และผมเคยพูดมาก่อนนะ ก่อนที่จะรู้ผลเลือกตั้ง ผมเคยพูดทุกๆ เวทีเสวนา “การเมืองยุคใหม่ สิ่งที่อยากเห็นคือมีฝ่ายค้านที่ไม่ได้สักแต่ว่าค้าน” ซึ่งคนก็ตอบรับอย่างดี แต่พอมาหลังเลือกตั้ง แต่ละพรรครู้จำนวน ส.ส.กันแล้ว กลับกลายเป็นสิ่งที่คนไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่า เราจึงต้องยึดหลักการเดิม

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

 

The MATTER: ฝ่ายค้านอิสระทำอะไรได้บ้าง ถามอยากเพื่อเช็คลิสต์หน่อย โหวตนายกฯ ได้ไหม?

หมอเอ้ก: ได้ครับ จะ พท. หรือ พปชร.ก็ได้ ฝั่งไหนก็ได้ เราไม่ได้บอกว่าจะร่วมกับฝั่งไหนอยู่แล้ว ถ้าฝั่งไหนสามารถรวบรวมเสียงได้เราก็ยกมือโหวตให้ เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า (เน้นเสียง) ไม่ใช่เพื่อให้ไปร่วมกับใครนะครับ

ไอติม: อย่างแรกคือต้องรวบรวมเสียงได้เกิน 250 ส.ส. อันนี้ตรงกันไหมครับ

หมอเอ้ก: อันนี้ตรงกัน แต่ผมยังยึดว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เพราะเราพูดมาตลอดว่าไม่เอานายกฯ คนนอก ไม่ว่าคุณจะลงปาร์ตี้ลิสต์หรือไม่ ไม่เกี่ยว

ไอติม: ซึ่งของพี่เอ้กก็จะเหลือแค่คุณอนุทิน (ชาญวีรกูล) กับคุณอภิสิทธิ์

หมอเอ้ก: (หัวเราะ) ผมไม่รู้ว่าเป็นใคร ผมไม่ได้ดูที่บุคคล แต่ดูที่หลักการ นายกฯ ควรจะต้องเป็น ส.ส. เราจะไม่ควรเป็นนายกฯ คนนอก ในรอบนี้นะครับ เพราะถ้ารอบสอง ต้องเป็นนายกฯ คนนอกอยู่แล้ว (ไอติมแซวว่า มีนายกฯ คนนอก กับคนนอกนอก) แต่สำหรับผม ไม่ได้เป็น ส.ส.ถือว่าเป็นคนนอก และก็มีหลายพรรคที่พูดก่อนวันที่ 24 มี.ค. ว่าไม่เอานายกฯ คนนอก แต่ถึงวันนี้ก็เปลี่ยน ฉะนั้น ปชป.ต้องยึดในเรื่องของสัจจะ

ไอติม: ข้อนี้สำคัญ เพราะนายกฯ ที่เป็น ส.ส. เป็นหลักสากลอยู่แล้วของระบบรัฐสภา เพราะทำให้มีกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจนผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ปชป.ยึดมาตลอด

  

The MATTER: แล้วไปร่วม ครม.ได้ไหม เป็นรัฐมนตรีได้ไหม

ไอติม: ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้อยู่แล้ว ตอนนี้ไม่ว่าขั้วไหนจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผมมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการสืบทอดอำนาจหรือทุจริต ฉะนั้นจึงไม่ควรที่ ปชป.จะไปร่วม คือมันไม่มีคำว่า ‘รัฐบาลอิสระ’ เพราะถ้าคุณไปร่วมรัฐบาลแล้ว โดยหลักคุณต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะฉะนั้น ครม.ออกมติอะไร ทุกพรรคที่เข้าร่วมก็ถูกคาดหวังให้ทำตามอยู่แล้ว

หมอเอ้ก: แม้กระทั่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถ้าไปโหวตสวนก็ต้องลาออก แต่ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องออกจากฝ่ายค้าน

ไอติม: จะเรียกว่าฝ่ายค้านอิสระ หรือฝ่ายอิสระก็ได้ จะโดยธรรมชาติ อิสระคือไม่อยู่ภายใต้รัฐบาล (นิ่งคิด) เออ ความจริงผมใช้คำว่าฝ่ายอิสระดีกว่า

หมอเอ้ก: พลาดไปแล้ว (หัวเราะ)

 

 

The MATTER: อภิปรายไม่ไว้วางใจ เราจะโหวตข้างไหน ข้างรัฐบาลหรือข้างฝ่ายค้าน

ไอติม: ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระ ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่เราคิดว่า สมควรได้รับการไว้วางใจ เราก็โหวตให้ได้ แล้วอย่าลืมว่า การเป็นฝ่ายค้าน แม้ไม่มีตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังมีการทำงานร่วมกันปกติในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ในรัฐสภา ถ้าจะบอกว่าฝ่ายค้านไม่มีประโยชน์เลย ประเทศชาติเดินหน้าไปไม่ได้ ก็อยากจะถามว่า แล้วที่ผ่านมาไม่มีฝ่ายค้านเลย แล้วประเทศชาติมันเดินหน้าไปได้แค่ไหน

พอพูดถึงศักยภาพของ ปชป. ยกตัวอย่างหมอวรงค์ (เดชกิจวิกรม) ถ้าเป็นรัฐบาลก็น่าจะสร้างผลงานได้มาก แต่ผลงานของหมอวรงค์ในฐานะฝ่ายค้านในการเปิดโปงทุจริตจำนำข้าว ก็สร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่าหลายๆ คนที่อยู่ร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าการอยู่ฝ่ายค้านจะทำให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งความคิดของผมอาจจะแตกต่างจากหมอวรงค์ ซึ่งผมก็ต้องชื่นชมแกในผลงานที่ผ่านมาจริงๆ

หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ และ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

The MATTER: หลังจากเรายื่นข้อเสนอนี้ไป ฟีดแบ็กที่ออกมาเป็นอย่างไร เพราะก็ยังมีแกนนำ ปชป.กลุ่มหนึ่ง อยากไปเข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร.อยู่ดี

ไอติม: ยอมรับว่าฟีดแบ็กมีหลากหลาย กระทั่งคนที่โหวตให้ ปชป.ก็มี 2 ฝ่าย บางคนโทรมาบอกว่าไม่เห็นด้วยนะ บางคนโทรมาบอกว่า เห็นด้วย ถ้าไปร่วมรัฐบาลก็จะไม่โหวตให้แล้ว ผมก็ไม่เคยบอกว่าทุกคนคิดเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ ปชป.ทำมาตลอด คือการถามเจ้าของพรรค ที่ไม่ได้หมายถึงผม คุณอภิสิทธิ์ หรือคุณถาวร (เสนเนียม) แต่เป็น 3.9 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้กับ ปชป. ผมก็บอกว่ายอมรับได้กับการตัดสินใจของพรรค ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร หากมีกระบวนการที่ไปถาม 3.9 ล้านเสียง มีการเปิดช่องทางการมีส่วนร่วม ผมคิดว่าเป็นทางออกที่ชอบธรรมที่สุด ก่อนที่ ปชป.จะเดินขั้นตอนต่อไป

ซึ่งกระบวนการสอบถาม ดีที่สุดคือการทำระบบ open primary ที่ใช้ในต่างประเทศแล้ว ที่ผ่านมา การเลือกหัวหน้า ปชป.ครั้งที่แล้ว ใช้ close primary คือให้เฉพาะสมาชิก ปชป.เท่านั้นโหวตได้ แต่คราวนี้ผมเสนอว่าให้คนที่ไม่ใช่สมาชิก ปชป. แต่ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคอื่นด้วย สามารถเข้ามาร่วมโหวตได้ แต่อาจจะต้องวางกติกาเพื่อตัดคนที่ไม่หวังดีกับ ปชป.ออกไป เช่นบังคับให้บริจาค 50 บาท 100 บาท อาจจะไม่ได้ทั้งหมด 3.9 ล้านเสียง แต่น่าจะหาบทสรุปที่ใกล้เคียงกับ 3.9 ล้านเสียงให้ได้มากที่สุด

แน่นอนความท้าทายคือกรอบเวลา แต่คิดว่ายังพอมีเวลา กระบวนการ close primary ครั้งที่แล้วก็ใช้เวลาแค่เดือนนิดๆ ข้อเสนอนี้ผมเสนอที่ประชุม ปชป.แล้ว ไม่รู้จะได้รับการตอบรับแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดผมคิดว่าประชาชนก็อยากเห็นการสอบถามเขา ไม่ใช่การตัดสินใจใน ‘ห้องปิด’

 

 

The MATTER: คำถามที่อยากทำใน open primary นอกจากเรื่องหัวหน้าพรรค และจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ยังจะมีคำถามอื่นๆ หรือไม่

ไอติม: ผมคิดว่าทั้ง 2 คำถามจะรวมกัน เพราะผู้สมัครแต่ละคนจะเสนอแนวทางชัดเจนว่า ก้าวแรกที่เขาจะนำ ปชป.ไป จะเดินไปทางไหน แน่นอนว่าอาจจะไม่ 100% เพราะมติในการจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการบริหารพรรคกับ ส.ส. ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าหัวหน้าพรรคแสดงท่าทีไปทางหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว มติพรรคกลับสวนทางกัน

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ถ้าหัวหน้าพรรคได้รับการสนับสนุนจากจุดยืนอะไร มติพรรคก็น่าจะไปในแนวทางนั้น

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

The MATTER: ถึงตอนนี้ ปชป.ก็มีอายุ 73 ปีแล้ว ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ของพรรค เมื่อผลเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ อยากให้พรรคเปลี่ยนอะไร

ไอติม: หลายอย่าง เรื่องจุดยืนทางการเมืองเราคุยกันแล้ว แต่อีกเรื่องคือเอกภาพ คือความเป็นประชาธิปไตยภายใน ปชป.ถือเป็นข้อดี แต่ผลลัพธ์อย่างหนึ่งคือทำให้การสื่อสารอาจจะไปได้หลายทิศทาง ก็มีหลายคนสะท้อนมาว่า คนในพรรคแต่ละคนพูดไปคนละทาง ไม่แน่ใจว่าข้อสรุปคืออะไร คือแนวทางแต่ละคนเสนอได้ แต่พอมีข้อสรุปแล้วก็ควรจะเคารพข้อสรุป

อีกอย่างคือความรวดเร็วในการตัดสินใจ ซึ่งตอนนี้มีการปรับโครงสร้าง ก็อาจจะมีการลดจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรค การวางขอบเขตอำนาจที่ชัดเจน และที่สำคัญก็คือบทบาทในแต่ละตำแหน่งมันสอดคล้องกับความต้องการของโลกสมัยใหม่ไหม เช่น บทบาทของโฆษกพรรค ที่อาจจะกว้างกว่าการให้สัมภาษณ์หรือการแถลงข่าวแล้ว แต่เป็นการวางยุทธศาสตร์การสื่อสาร ยุทธศาสตร์การใช้โซเชียลมีเดียให้ครอบคลุมมากขึ้น

อีกบทบาทหนึ่ง คือ HR ที่ ปชป.ควรจะมี HR เข้ามาช่วย ไม่ใช่แค่การวางโครงการเยาวชนต่างๆ แต่ยังรวมถึงการวางเส้นทางอาชีพ วาง KPI ที่ชัดเจนว่าคณะกรรมการบริหารพรรคแต่ละคนต้องทำตามตัวชี้วัดอะไรบ้าง เพิ่มความเป็นมืออาชีพให้องค์กรกๆ หนึ่ง โดยไม่ต้องมองว่าเป็นพรรคการเมือง

และท้ายสุดคือเรื่องความทันสมัยมากขึ้น ความจริง ปชป.ก็มีบุคลากรมีคุณภาพเยอะ ทุกรุ่นเลย ก็สามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ เพียงแต่ว่าด้วยภาพลักษณ์ของ ปชป.เป็นเรื่องของความเก่าแก่ ทำให้การปรับแบรนด์ก็สำคัญ ทำให้คนมารับฟังแนวคิดเรามากขึ้น ถือแม้เราแนวคิดดีเท่าไร แต่ตราบใดที่เรายังสื่อสารไม่ได้ คนก็ยังไม่ฟังเราเท่าที่ควร

หมอเอ้ก: สิ่งที่ผมอยากเน้นเครื่องการสื่อสาร อย่างที่เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันไปอยู่ในออนไลน์เยอะมาก เราต้องปรับให้เท่าทันกับอารมณ์ของผู้คน ให้ทันกับยุคปัจจุบัน ซึ่งเราก็ทำ แต่พรรคอื่นๆ ทำได้ดีกว่าเรา เราจึงต้องพัฒนาให้ดีมากขึน

อีกอันคือเรื่องของ message ที่ออกไปต้องชัด ประชาชนที่ได้รับข้อความต้องเข้าใจในทิศทางเดียวกันว่าเรามีจุดยืนอย่างไร อันนี้ต้องชัด ต้องคุมโทนให้ชัดเจนว่าไปในทางไหน ประเด็นก็ต้องชัด โทนก็ต้องชัด อารมณ์ที่เราค้านหรือสนับสนุน จะไปในทิศทางไหน

The MATTER: ทำไมความเป็นพรรคเก่าแก่ ถึงเป็นอุปสรรคในการไปต่อ

ไอติม: ผมไม่มองความมีอายุเยอะเป็นข้อเสีย ความจริงเป็นข้อดีด้วยซ้ำ เพราะทำให้เห็นว่าเราเป็นสถาบันจริงๆ ที่ไม่ได้ยึดติดกับบุคคล หรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะถ้าพรรคตั้งขึ้นมาโดยยึดติดกับบุคคล ถ้าเขาไม่อยู่แล้วก็ทำให้พรรคนั้นๆ อยู่ต่อไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ปชป.จึงเป็นพรรคที่เป็นสถาบันจริงๆ เพียงแต่ทำอย่างไรให้เราปรับวิธีการสื่อสารให้ความเป็นสถาบัน ไม่ลดความสามารถในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ๆ

หมอเอ้ก: จริงๆ ก็มีเทียบเคียงในอุตสาหกรรมอื่น หลายแบรนด์ที่อยู่มานานและยังได้รับความไว้วางใจ เช่น อุตสาหกรรมโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล เก่าไหมครับ แต่การบริหารจัดการ เขาพัฒนาตลอด branding เขาชัด การตลาดเขาดีมาก ผมไม่คิดว่าความเก่ามันเป็นปัญหา อยู่ที่ว่าเราทำความเก่าเป็นข้อดีของเราอย่างไร

ไอติม: หรืออย่างกล้องฟิล์ม โกดักก็ตายไปในวันที่ปรับตัวไม่ทันกับดิจิทัล แต่ตอนนี้คนก็หันกลับมาใช้กล้องฟิล์ม แต่แน่นอนว่าในทุกองค์กร อย่างบริษัทเอกชนต่างๆ ก็มีการ rebrand เสมอ ในวันที่สินค้าเขาอาจจะไม่ขายแล้ว

หมอเอ้ก: อาจจะต้องชัดก่อนว่าสินค้าของเราคืออะไร

 

The MATTER: เราอยากวาง position แบรนด์ที่ชื่อว่า ปชป.อย่างไร

ไอติม: เวลาเราจะมีการเปลี่ยนแปลงพรรค มันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาพอสมควรในการค้นหาตัวตน วิเคราะห์เชิงลึกว่าจุดอ่อน-จุดแข็งของเราคืออะไร แล้วก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกๆ สำหรับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดต่อไป ผมมาพูดตรงนี้ก็เป็นแค่มุมมองส่วนตัว แต่ต้องมีการวิเคราห์ในเชิงสถิติว่าคนที่เลือกเรา 3.9 ล้านเสียงเขาต้องการอะไร แล้วมันใหญ่กว่าแค่ร่วมไม่ร่วมรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ของ ปชป.

 

The MATTER: ในประวัติศาสตร์ ปชป. ก็เคยมีความพยายามของคนรุ่นใหม่ในการผลักดันให้พรรคปฏิรูป แต่ท้ายสุดก็ไม่สำเร็จ อะไรคืออุปสรรคสำคัญ

ไอติม: สิ่งสำคัญคือต้องอย่าคาดหวังว่าจะเป็นแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง ผมทำงานกับบริษัท แม็กเคนซี่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ให้กับบริษัทเอกชนหรือรัฐบาล หลายครั้งเราเข้าไป เสนออะไรที่มันเปลี่ยนจากเดิมมาก สิ่งที่เราได้รับกลับมาคืออะไร คุณเป็นใคร คุณเป็นคนนอก คุณอยู่ในบริษัทที่เราให้เข้ามาช่วย ผมเป็น CEO นะ อยู่ในตำแหน่งนี้มา 20 กว่าปี ทำงานอุตสาหกรรมนี้มา 20 กว่าปี คุณจะรู้อะไร นี่คือคำถามที่เจอมาตลอดเวลาที่เราจะเปลี่ยนอะไร

สิ่งที่สำคัญคือผมจะพยายามชี้ให้เห็นว่า วันที่คุณรู้สึกว่าคนที่คุณจะเปลี่ยนแปลง หรือองค์กรที่คุณจะเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นแล้วว่ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยน อันเนี้ยเราร่วมงานกันได้แล้ว แม้จะยังเห็นต่างในรายละเอียด แต่อย่างน้อยถ้าเขายอมรับได้แล้วว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนไปจากเดิม นี่คือก้าวแรกที่สำคัญ ผมคิดว่าเวลานี้ หวังว่าก้าวแรกนั้นน่าจะมีแล้ว เพราะในวันที่ ปชป.ได้จำนวน ส.ส.ต่ำกว่าที่คาดหมายมาก 50 กว่าคน ผมคิดว่าทุกคนเห็นด้วยกันแล้วหล่ะ

ถึงแม้จะเห็นต่างในจุดยืน แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่า ปชป.ต้องเปลี่ยนแปลง เราไม่อยากได้ก้าวแรกแบบนี้ แต่ต้องผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำให้คนที่เชียร์ ปชป.เห็นแล้วว่าต้องเปลี่ยนแปลงจริงๆ

หมอเอ้ก: สำหรับผม คิดว่า ปชป.ไม่มีเจ้าของ ถ้าเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเป็นผมก็สั่งเลยว่าเปลี่ยน! แต่พอมันไม่มีเจ้าของ และเป็นสถาบันทางการเมือง ก็เลยทำให้มีหลากหลายความคิดเห็นและแนวทาง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเสน่ห์แล้วกัน ผมคิดมาเสมอว่า ถ้าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ปชป.ให้ไปในทางที่ดีขึนได้ เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นได้ เทียบเคียงใกล้เคียงกัน

The MATTER: มีความยากขนาดนั้นเลยเหรอ

ไอติม: ความจริงใน ปชป. ภาษาไทยผมยังหาคำไม่ได้  แต่ในภาษาอังกฤษก็คือ Microcosm เหมือนกันเป็นประเทศจำลอง

หมอเอ้ก: ใน ปชป.มีคนทุกรุ่นอยู่ในนั้น แล้วแต่ละคนก็มีความคิดที่หลากหลายมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราเปลี่ยน ปชป.ได้ เราก็น่าจะเปลี่ยนประเทศไทย ผมเชื่ออย่างนั้น

ไอติม: แล้วถ้าเราท้อ คนก็จะบอกว่า ถ้าเราท้อจะเดินออกไปใช่ไหม เราก็จะบอกว่าถ้าเราท้อ เราจะไปพูดกับประชาชนได้อย่างไรว่าสักวันหนึ่งเราไปเจอความท้าทายแล้วเราจะไม่ท้อ เพราะฉะนั้นสำคัญต้องยืนยันสู้ต่อไป

หมอเอ้ก: อีกอันนึงที่อยากจะเน้นย้ำเลย คือคนบอกว่า ปชป.แตกกัน ทะเลาะกัน แต่ผมจะบอกว่า ปชป.เป็นแบบนี้มาโดยตลอด คือเรามีพื้นที่ให้สมาชิกพรรคสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เราเป็นแบบนี้มาตลอด ไม่ได้แตกกัน แต่ ณ วันใดถ้ามีมติพรรคหรือมีการหยั่งเสียงแล้วออกมาอย่างไร ทุกคนก็เคารพกฎและเดินต่อไปในทิศทางนั้น ผมคิดว่าเนี่ยคือข้อดีของ ปชป.

หมอเอ้ก-นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

The MATTER: วางอนาคตตัวเองยังไงบ้าง จะทำงานการเมืองเป็นนักการตลอดชีวิตไหม หรือวางเป้าหมายว่าถ้าทำสิ่งนี้ๆ สำเร็จแล้วจะถอยไปทำอย่างอื่น

ไอติม: ผมอยากทำงานการเมืองมาตั้งแต่เด็ก การตัดสินใจหลายๆ อย่างก็ขึ้นอยู่ตรงนั้น คืออยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง มองว่าอาชีพการเมืองเป็นการเปลี่ยนแปลงพัฒนาบ้านเมืองที่เร็วที่สุด เพราะได้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย และเป็นการพัฒนาประเทศที่เที่ยงตรงกับความต้องการของประชาชนจริงๆ แน่นอนว่าอาชีพอื่นก็พัฒนาประเทศได้เหมือนกัน แต่อันนี้เที่ยงตรงที่สุด เพราะวันไหนที่ผมทำไม่ถูกใจประชาชน เขาก็ไล่ผมออก เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมตัดสินใจตั้งแต่เด็ก

ทุกก้าวย่างของผม ตอนเริ่มเรียนก็เรียนการเมืองเศรษฐศาสตร์ ตอนเลือกไปทำงานก็ตัดสินใจไปเก็บประสบการณ์ที่บริษัท แม็กเคนซี่ เพราะได้เก็บประสบการณ์ที่ต่างประเทศ ผมเปลี่ยนโปรเจ็กต์ทุกๆ 2-3 เดือน เดี๋ยวไปศรีลังกา อังกฤษ สิงคโปร์ มาเลเซีย เปลี่ยนจากอุตสหากรรมท่องเที่ยว ไปเป็นรถเมล์ โรงพยาบาลเอเชีย โรงเรียนอาชีวะ สำหรับผมเป็นการโด๊ปความรู้อย่างรวดเร็ว และนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย

ฉะนั้น ไฟที่มีในการพัฒนาบ้านเมืองด้วยการทำงานการเมืองเลยมีมาโดยตลอด ในค่ำคืนเดียวมันไม่หายไป เพราะฉะนั้นก็มุ่งมั่นที่จะทำงานตรงนี้ต่อ แน่นอนว่าในอนาคต เสน่ห์ของการทำงานการเมืองก็คือ ถ้าเขาไม่ต้องการ เขาก็ไล่คุณออก คุณก็ควรจะเรียนรู้ตรงนั้นได้แล้ว (ยิ้มๆ)

อย่างที่บอกมันเป็นอาชีพที่เราต้องสมัครงานกับประชาชนบ่อยๆ แต่ถ้าสมัครไปเรื่อยๆ แล้วไม่ได้รับความต้องการจากประชาชน เราก็อาจจะต้องไปอย่างอื่น แต่ไม่หมดไปง่ายๆ หรอกครับ ความต้องการตรงนี้ ความมุ่งมั่นตรงนี้

หมอเอ้ก: ผมมีสิ่งที่อยากจะทำให้บ้านเมืองอยู่ 2-3 อย่าง ทั้งการสร้างฐานข้อมูลสุขภาพ การเปลี่ยนระบบบริจาคอวัยวะ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำ ถ้าภารกิจยังไม่สำเร็จก็คงจะถอดใจไม่ได้ ในวันนี้ ที่ยังไม่ได้รับการรับเลือก ผมก็ยังทำอย่างอื่นที่จะไปช่วยให้ไปถึงเป้าหมายตรงนี้ เส้นทางสำหรับการเมือง ถ้ามีโอกาส ผมก็เข้ามาอีกเพราะภารกิจยังไม่สำเร็จ ถามว่าเคยคิดท้อจะไปทำอย่างอื่นไหม ก็ไม่เคย เพราะนี่คือสิ่งที่เราตัดสินใจจะเข้ามาทำ แต่ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายๆ เพราะคุยกันมานานเป็นปี กว่าผมจะตัดสินใจมาทำงานการเมืองจริงๆ และคนที่อาสามาทำงานนี้ ต้องทิ้งอะไรมาหลายอย่าง เจอแค่นี้แล้วบอกว่าท้อ คงไม่มี

The MATTER: ถ้าทางที ปชป.เดิน จะไม่นำไปสู่เป้าหมายที่เราทั้งสองคนอยากทำ มีโอกาสจะไปอยู๋พรรคอื่น หรือตั้งพรรคของตัวเองขึ้นมาไหม

หมอเอ้ก: อุดมการณ์ของ ปชป.ยังตรงกับสิ่งที่ผมเชื่อ และยังไม่เห็นว่าการอยู่กับพรรคนี้ต่อไป จะทำให้เป้าหมายของผมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นวันนี้ผมยังอยู่กับ ปชป. ถามว่ามีโอกาสไปอยู่พรรคอื่นไหม ตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นพรรคไหนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน

ไอติม: ต้องกลับไปถามว่า ผมเดินเข้ามาใน ปชป.เพื่ออะไร ซึ่งของผมมันคือ 3 เหตุผลหลัก 1.) ปชป.เป็นตัวแทนอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง มีระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่เติบโตอย่างรวดเร็ว ภาษีต่ำ แต่มีการกระจายรายได้ มีการกระจายอำนาจ 2.) ปชป.เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ เจ้าของคือสมาชิกพรรค พูดง่ายๆ คือเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ และ 3.) ปชป.เป็นพรรคที่ให้โอกาสกับคน เด็กๆ ที่สนใจอยากจะฝึกงาน ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่อย่างผมได้มีโอกาสเข้ามา shape เพิ่มเติม หรือนำเสนออะไรอย่เสมอ

ตราบใดที่ 3 สิ่งนี้ยังเป็นอยู่ ก็ไม่มีเหตุผลไหนที่ผมจะต้องออกเดินจากพรรคนี้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งหรือไม่

Photo by  Adidet Chaiwattanakul

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0