โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปรียบเทียบการกำกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อไม่ให้ฉวยโอกาสในยามวิกฤต

The Momentum

อัพเดต 06 เม.ย. 2563 เวลา 14.50 น. • เผยแพร่ 06 เม.ย. 2563 เวลา 14.50 น. • อดิศักดิ์ สายประเสริฐ

แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ เพื่อให้คนสองกลุ่มนี้จับคู่ความต้องการกัน โดยลดต้นทุนธุรกรรมที่ไม่ต้องเจอหน้าหรือโทรหากัน แพลตฟอร์มที่ว่าอาจจะอยู่ในรูปแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในมือถือก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน อาหาร โรงแรม แท็กซี่ ไปจนถึงร้านอาหารข้างทาง 

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศได้ใช้มาตรการป้องกันการระบาดหลายวิธี ตั้งแต่การปิดสถานที่ที่คนพลุกพล่าน เช่น สถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า ฟิตเนส ร้านอาหาร พร้อมทั้งสนับสนุนWork from Home หรือการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น การใช้Social Distancing หรือ การให้ประชาชนเพิ่มระยะห่างกับคนในสังคมมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัส 

อย่างไรก็ตาม การอยู่บ้านเพื่อเฝ้ารอคอยให้วิกฤตนี้ผ่านพ้นไปก็ไม่ใช่เรื่องที่จะสิ้นสุดในเร็ววัน สิ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงการทำกิจกรรมและธุรกรรมในช่วงวิกฤตโควิด-19 และมีบทบาทสำคัญ คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมผ่านโปรแกรม การสอนออนไลน์ การส่งของ ไปจนถึงการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 

ข่าวการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมในการใช้แอปพลิเคชัน ปรับขึ้นราคาค่าส่งในการสั่งซื้อจำนวนน้อย และค่าธรรมเนียมร้านอาหาร ในช่วงที่ไวรัสระบาดและราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างมาก ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงจนเกิดเป็นดราม่าในสังคมออนไลน์ ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ทำหนังสือเตือนถึงการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งรายอื่น จนกระทั่งแพลตฟอร์มต้องยอมปรับลดค่าธรรมเนียม และยกเลิกการปรับขึ้นราคาค่าส่งทันที

คำถามคือ ทำไมแพลตฟอร์มถึงฉวยโอกาสปรับขึ้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผู้คนทั้งประเทศเผชิญวิกฤตเช่นนี้? 

กรณีUber Eats

ปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมของดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของแพลตฟอร์ม เช่นUber Eats หนึ่งในแอปพลิเคชันสั่งอาหารยอดนิยมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐอนุญาตให้ส่งอาหารต่อได้ในยามที่สถานที่หลายแห่งถูกสั่งปิด 

แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกาUber Eats มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า10% และ มีคนสมัครใช้แอปพลิเคชันหน้าใหม่มากขึ้นถึง30% แต่คนส่งอาหารก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสจากการไปสถานที่ต่างๆ มากกว่าคนปกติ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพและถ้าหากต้องกักตัว14 วัน ก็ไม่ได้ค่าชดเชยจากการเจ็บป่วย เพราะUber บอกว่าคนขับรถในแพลตฟอร์มเป็นผู้รับงานอิสระ ไม่ใช่แรงงานในระบบที่จะได้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานและอำนาจการต่อรองตามที่กฎหมายคุ้มครอง 

รวมไปถึงโครงสร้างราคาใหม่ช่วงวิกฤตโควิด-19 Uber Eats ปรับช่วงราคาค่าส่งอาหารจาก2.49-6.49 $ เป็น0.49-3.99 $ ซึ่งดูเหมือนจะถูกลง แต่Uber Eats กลับแยกค่าส่งอาหาร(delivery fee) กับ ค่าบริการ(service fee) ออกจากกัน โดยจะคิดค่าบริการ15% จากค่าส่งอาหาร การเล่นแร่แปรธาตุให้ดูดีในช่วงวิกฤตนี้เป็นการบีบให้คนสั่งอาหารหลายรายการมากขึ้น แต่ในสถานการณ์ที่คนส่วนใหญ่เผชิญกับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสและการรัดเข็มขัดเงินในกระเป๋าที่รายได้หลายอย่างลดลงฮวบฮาบ การปรับโครงสร้างราคาในช่วงวิกฤตจึงเป็นการทำร้ายผู้ใช้บริการอย่างมาก 

ภายใต้โครงสร้างราคาUber Eats ผสมค่าอาหาร ค่าบริการ ภาษี ค่าส่งอาหาร แล้วแปลงส่วนผสมเหล่านี้เป็นราคาช่วงหนึ่ง แล้วจับคู่กับประวัติผู้รับงาน จับคู่กับความต้องการของตลาด ระยะทาง และประวัติของผู้ซื้อด้วยอัลกอริธึมAlex Rosenblat นักชาติพันธ์ุวรรณาเทคโนโลยีที่ศึกษาวิจัยคนขับUber มาเป็นเวลาหลายปีมองว่าUber บิดเบือนราคาด้วยระบบอัลกอริธึมขนาดใหญ่ ซึ่งละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐอเมริกาและสามารถทำลายคู่แข่งได้ด้วยการใช้อัลกอริธึม

จะสู้กับดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างไร

เมื่อลองย้อนกลับมาดูกรณีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใกล้ตัวมากขึ้นอย่างในประะเทศมาเลเซียGrab ได้ประกาศซื้อUber ในปี2018 แต่Grab เองก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักในมาเลเซีย และถ้าหากจะสั่งอาหารจากแพลตฟอร์ม คนมาเลเซียส่วนใหญ่จะนิยมFoodPanda ซึ่งในพบว่าในช่วงเดือนตุลาคม ปี2019 มีการเคลื่อนไหวประท้วงFoodPanda ทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์

ในเดือนกันยายนFoodPanda ได้ทดลองเปลี่ยนระบบการคิดคำนวณรายได้ของคนส่งอาหาร จากการคิดด้วยระยะเวลาที่ส่งอาหาร เปลี่ยนเป็นแบบใหม่ที่คิดจากจำนวนรอบของการส่งอาหาร โดยผู้บริหารFoodPanda อ้างเหตุผลว่าระบบใหม่จะทำให้คนส่งอาหารมีโอกาสสร้างรายได้เยอะขึ้น ในขณะเดียวกันระบบใหม่ก็จูงใจให้คนส่งอาหารทำงานเยอะขึ้น ขับรถเร็วขึ้นเพื่อทำรอบ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อผู้ใช้ถนนด้วยระบบการจูงใจแบบนี้ 

คนส่งอาหารจำนวนมากไม่พอใจกับระบบใหม่ก็ประท้วงด้วยการรวมตัวกันหยุดส่งอาหาร ผู้ใช้บริการก็รับไม่ได้กับการที่แพลตฟอร์มปรับการคิดรายได้เพื่อทำกำไรเช่นนี้ ชาวเน็ตจึงตอบโต้ด้วยการโพสต์‘รูปลบแอปฯFoodPanda’ ออกจากมือถือ จากการโพสต์รูปได้ขยายกลายเป็นการเคลื่อนไหวออนไลน์ที่มีผู้ร่วมแคมเปญจำนวนมาก รวมไปถึงการสร้างแฮชแท็ก#DeleteFoodPanda และ#UninstallFoodPanda จนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ 

แน่นอนว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการที่ภาครัฐไม่ได้ออกกฎหมายกำกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบใหม่นี้ให้เกิดความเป็นธรรมอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่น่าสนใจในกรณีFoodPanda คือ คนสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มก็สู้ร่วมกับคนส่งอาหารไปด้วยกันด้วยแคมเปญต่างๆ ในโลกออนไลน์ การต่อสู้ร่วมกันเช่นนี้ก็จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้ดิจิตัลแพลตฟอร์มยอมรับเงื่อนไขและปรับนโยบาย แต่คำถามใหญ่สำหรับการออกแบบการกำกับแพลตฟอร์มก็ยังคงอยู่

แล้วจะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมอย่างไร?

เคทลีน เธเลน(Kathleen Thelen) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งMIT มองว่า การจะกำกับUber หรือแพลตฟอร์มจิจิทัลในบริการการขนส่งต่างๆ ในแต่ละประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเชิงสถาบันและการต่อสู้ของผลประโยชน์ภายในประเทศ เพราะในแง่หนึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ได้เข้ามาขูดรีดส่วนเกินแบบเทาๆ จากช่องว่างการกำกับระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่ยังหาข้อยุติเรื่องนโยบายและการกำกับไม่ได้ เธเลนได้ศึกษาเปรียบเทียบการขยายตัวของUber ผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบในสามประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสวีเดน ซึ่งพื้นฐานที่แตกต่างก็ให้ผลลัพท์ที่ต่างกันดังนี้ 

อเมริกา หยวนหยวน

สหรัฐอเมริกาแม้จะดูเหมือนเศรษฐกิจเสรีที่ไม่ค่อยกำกับตลาด แต่ในกรณีของแท็กซี่นั้นมีการกำกับที่เข้มงวด แต่ละเมืองจะมีการกำหนดจำนวนแท็กซี่ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องไว้อย่างชัดเจน การเกิดขึ้นของUber ในซานฟรานซิสโก ปั่นป่วนบริษัทรถแท็กซี่ในสหรัฐฯ อย่างมาก ผู้ขับUber รายใหม่ที่ไม่มีใบขับขี่สาธารณะเกิดขึ้นมหาศาล 

ด้วยการอนุญาตอยู่ที่ระดับมลรัฐ หลายเมืองในสหรัฐฯ เช่น แอตแลนตา ดัลลาส เซนซ์ปีเตอร์สบวก จึงได้ลงนามเป็นพาร์ตเนอร์กับUber ส่วนมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่Uber กำเนิดขึ้นที่นี่ ราคาค่าบริการของUber ถูกกำกับโดยCalifornia Public Utility Commission หรือ คณะกรรมการกำกับระบบสาธารณูปโภคของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในฐานะที่เป็นบริษัทเครือข่ายการขนส่ง(Transportation Network Company) ที่จะถูกกำกับตั้งแต่การอนุญาต รายได้ และความปลอดภัย 

แม้จะมีการกำกับUber แต่ก็มีประเด็นที่ถกเถียง คือ ถ้าคนขับUber ไม่รู้โครงสร้างราคาและการตั้งราคาอย่างตรงไปตรงมาของUber แล้วคนขับจะรู้ได้อย่างไรว่ารายได้นั้นเป็นธรรม ไม่ถูกแพลตฟอร์มเอาเปรียบมากเกินไป หรือถ้าคนขับUber ที่ได้คะแนนสูงมากๆ อยากจะตั้งราคาค่าบริการด้วยตัวเองล่ะ 

เยอรมนี ไม่เอา?

เยอรมนีกำกับแท็กซี่เข้มงวดเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ให้สัมปทานการวิ่งรถแท็กซี่ในจำนวนจำกัด แต่เยอรมันไม่เปิดรับแอปฯ เรียกรถเทียบเท่าสหรัฐฯUber สามารถบุกตลาดในปี2013 ได้เพียงบางเมืองเท่านั้น เช่น เบอร์ลิน ฮัมบรวก โคลึน สตุทการ์ต 

แรกเริ่มUber ตีตลาดในเยอรมนีด้วยUber’s limo ซึ่งให้เลือกได้เฉพาะรถหรูราคาล้านขึ้นไปเท่านั้น แต่พอUber เริ่มตีตลาดรถทั่วไปด้วยUberPop ซึ่งมีค่าบริการที่ถูกกว่าจนเทียบเท่ากับแท็กซี่ ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากแข่งขันกับเครือข่ายแท็กซี่ที่เข้มแข็งและมีการพัฒนาแอปฯ เรียกรถของตัวเองมาระยะหนึ่งแล้วUber จึงเริ่มถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จนกระทั่งยอมแพ้ที่จะให้บริการในเยอรมนี 

ด้วยโครงการการกำกับระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมาก เยอรมนีจึงต้องการรักษาการกำกับดูแลให้กับตลาดแท็กซี่เดิมUber ทดลองให้บริการได้ไม่ถึงหนึ่งปีก็ถูกแบนทั้งประเทศ  ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลเยอรมันได้พิพากษาห้ามไม่ให้Uber ดำเนินดิจิทัลแพลตฟอร์ม เนื่องจากบริการแพลตฟอร์มของUber ได้ละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของเยอรมนี 

สวีเดน ต้องกำกับ?

สวีเดนมีความพิเศษที่แตกต่างจากทั้งสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี เนื่องจากมีการเปลี่ยนการกำกับตลาดแท็กซี่ตั้งแต่ปี1990 โดยการยกเลิกโควตาแท็กซี่บนท้องถนน แท็กซี่แต่ละคันสามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ และอนุญาตให้มีคนขับแท็กซี่อิสระแบบที่ไม่ต้องสังกัดบริษัทหรือสมาพันธ์ได้ การเปลี่ยนแปลงการกำกับนี้จึงถือเป็นโอกาสของแอปฯ เรียกรถ เช่นUber อย่างปฏิเสธมิได้ 

การเข้ามาของดิจิทัลแพลตฟอร์มในสวีเดนทำให้มีการปรับเปลี่ยนการกำกับตลาดแท็กซี่เพื่ออนุญาตให้แอปฯ เรียกรถซึ่งรวมถึงUber ให้บริการในสวีเดนได้ รวมทั้งการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมถึงการคำนวณราคาค่าบริการแบบใหม่ที่นอกเหนือจากราคาแบบระบบมิเตอร์ของแท็กซี่ ซึ่งการตั้งราคาทั้งสองแบบจะต้องคำนึงถึงการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

สิ่งสำคัญที่เป็นที่การถกเถียงกันในสวีเดน ก็คือ จะเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างไร? เนื่องจากผู้ขับรถUber มีความได้เปรียบในการแข่งขันแล้วยังสามารถหลบเลี่ยงภาษีจากรายได้ในแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งสังคมสวีเดนให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและสวัสดิการสังคม การจ่ายภาษีอย่างเท่าเทียมจึงสำคัญมากกว่าการคิดว่าUber จะผลักภาระให้ผู้บริโภคโดยการขึ้นค่าบริการเพิ่มจากภาษีที่ต้องจ่าย 

ในการจัดเก็บภาษีนั้นUber ได้ร่วมมือกับหน่วยงานจัดภาษีของสวีเดน(Swedish Tax Agency) ในการสร้างระบบลงทะเบียนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการค่าบริการในแต่ละเที่ยว โดยการหักภาษีโดยตรงจากแพลตฟอร์ม ซึ่งการทำให้แอปฯ เรียกรถโดยถูกกฎหมายในแง่หนึ่งก็ช่วยให้ประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และผู้ที่ขับUber ก็อาจจะได้การคืนภาษีจากการทำงานผ่านแพลตฟอร์มได้ด้วย 

แล้วประเทศอื่นๆ ต้องทำอย่างไร

การออกแบบระบบการกำกับแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นอยู่กับบริบทและพลังทางสังคมของแต่ละประเทศ เธเลนยังได้เสนออีกว่า ความท้าทายของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่21 อยู่ที่การจัดการกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีช่องว่างการกำกับระบบเศรษฐกิจหรือมีการบริหารระบบเศรษฐกิจที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี แพลตฟอร์มดิจิทัลก็จะอาศัยช่องว่างเหล่าเข้าไปขูดรีดส่วนเกินจากผู้เล่นรายเดิมได้ตลอดเวลา 

สิ่งที่เธเลนคาดการณ์ คือ ในอนาคตอันใกล้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การกำกับระบบเศรษฐกิจในระดับโลก ซึ่งสังคมต้องมาคิดเรื่องการกำกับดิจิทัลให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พร้อมเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที 

อ้างอิง

Rosenblat, A. (2018). Uberland: how algorithms are rewriting the rules of work. Univ of California Press.

Thelen, K. (2018). Regulating Uber: The politics of the platform economy in Europe and the United States. Perspectives on Politics, 16(4), 938-953.

Rahman, K. S., & Thelen, K. (2019). The rise of the platform business model and the transformation of twenty-first-century capitalism. Politics & Society, 47(2), 177-204.

https://otcc.or.th/news/2020/04/01/

https://www.reuters.com/article/us-uber-court/german-court-bans-ubers-ride-hailing-services-in-germany

https://www.wsj.com/articles/uber-is-testing-a-feature-that-lets-some-california-drivers-set-fares-11579600801

https://www.uber.com/se/en/drive/tax-information/

https://techcrunch.com/2020/03/16/the-hidden-cost-of-food-delivery/

https://www.nytimes.com/2020/02/26/technology/personaltech/ubereats-doordash-postmates-grubhub-review.html

https://www.theverge.com/2019/3/19/18272791/uber-eats-new-booking-delivery-service-fees-confusion-meaning

https://www.thestar.com.my/tech/tech-news/2019/10/08/users-boycotting-foodpanda-after-company-maintains-new-payment-scheme-that-upset-riders

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0