โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เบื้องหลัง CRG ร่วมทุน "Salad Factory" ต่อจิ๊กซอว์กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ

Positioningmag

อัพเดต 27 ก.พ. 2563 เวลา 03.18 น. • เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 15.57 น.
CRG ร่วมทุนกับ Salad Factory กลายเป็นร้านอาหารน้องใหม่ในเครือ เติมพอร์ตร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ตั้งเป้าขยายสาขา 50 แห่งใน 5 ปี ปั้นรายได้ 1,000 ล้าน

ไม่ใช่เข้าซื้อ แต่เป็นร่วมทุน

กลายเป็นทิศทางใหม่ของเหล่าบรรดาเชนธุรกิจร้านอาหารต่างมีการเสริมพอร์ตตัวเองด้วยแบรนด์ใหม่ๆ จะมีรูปแบบทั้งสร้างแบรนด์ใหม่เอง และการซื้อกิจการ หรือนำเข้าแบรนด์จากต่างประเทศ เพื่อเป็นทางลัดในการทำตลาด โดยที่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทางบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) หนึ่งในธุรกิจในเครือ "กลุ่มเซ็นทรัล" ได้เดินเกมนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยการจับมือกับร้าน "Salad Factory (สลัดแฟคทอรี่)" แต่เป็นโมเดลในลักษณะร่วมทุน ไม่ใช่การซื้อกิจการเหมือนอย่างกรณีที่เครือใหญ่ซื้อร้านอาหารก่อนหน้านี้

โดยที่มีการเปิดบรัทใหม่ "บริษัท กรีนฟู้ดแฟคทอรี่ จำกัด" CRG เข้าร่วมทุนในสัดส่วน 51% ด้วยเงินลงทุนราว 140 ล้านบาท ส่วนอีก 49% เป็นกลุ่มครอบครัวของเจ้าของร้าน Salad Factory ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า "การสร้างความเติบโตคือหนึ่งในกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของ CRG ที่เน้นการเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ทั้งการซื้อแบรนด์ธุรกิจซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ และร่วมทุน ตลอดจนการพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาเอง เพื่อเข้าถึง และขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคเนื่องจากยังมีธุรกิจอาหารอีกหลายตัวที่มีช่องว่างที่จะสามารถช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มนักลงทุนใหม่กลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนร่วมกัน"

โดยทาง CRG ช่วยนำเงินทุน โนว์ฮาว บุคลากร และประสบการณ์ในวงการร้านอาหารมาช่วยต่อยอดให้ร้านอาหารใหม่ๆ ให้เติบโตได้ สำหรับร้าน Salad Factory เป็นร้านสลัดเพื่อสุขภาพ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556 สาขาแรกอยู่ที่เมืองทองธานี ตอนแรกเป็นอาคารพาณิชย์เล็กๆ เปิดได้ 2 ปี ก็ย้ายไปที่โครงการบีไฮฟ์ที่อยู่ในเมืองทองธานีเหมือนเดิม มีคอนเซ็ปต์ความใส่ใจตั้งแต่การคัดเลือกคัดสรรวัตถุดิบจากฟาร์มออแกนิกที่เจ้าของฟาร์มเป็นผู้ปลูก และส่งขายเองไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำสลัดหรือซอสต่างๆ แบบ homemade ที่ทางร้านทำเองทั้งหมดกว่า 20 ชนิด ให้ลูกค้าได้เลือกทานตามชอบ ปัจจุบันมีเมนูมากกว่า 200 รายการ ที่ไม่ได้มีแค่สลัด ได้แก่ เมนูข้าว, สเต็ก, สปาเก็ตตี้ ฯลฯ สามารถเข้าถึงได้ทุกเจนเนอเรชั่น ทานได้ทั้งครอบครัว ในคุณภาพกับราคาที่เข้าถึงได้

ทางด้าน ปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด กล่าวว่า "ได้พูดคุยกับทาง CRG ได้ปีกว่าๆ ก็ตกลงร่วมทุนกัน มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จากเป็นเจ้าของ แต่ต้องมาอยู่ภายในเชนร้านอาหาร แต่สิ่งที่ต้องการ และบอกกับ CRG เพียงแค่อย่างเดียวคือ ต้องการทำให้ร้านยั่งยืน ทาง CRG ก็ช่วยวิเคราะห์จุดอ่อน และจุดแข็ง โดยการจับมือร่วมธุรกิจกับ CRG จะช่วยซัพพอร์ตเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้หลายๆ ด้าน และจะสามารถช่วยให้ Salad Factory สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และขึ้นเป็น Top of mind ของผู้บริโภคได้"

เติมพอร์ตเซ็กเมนต์เพื่อสุขภาพแบรนด์แรก

ถ้าถามว่าทำไม CRG ถึงเลือก Salad Factory เข้ามาอยู่ในครอบครัว ต้องบอกว่าตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพเป็นอะไรที่หอมหวานมาในยุคนี้ ไม่ได้จำกัดแค่อาหาร แต่รวมไปถึงบริการ สินค้าต่างๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์การดูแลสุขภาพ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยอมจ่าย เมื่อมาดูภาพรวมตลาดอาหาร และเครื่องดื่มสุขภาพปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท เติบโต 2.4% โดยที่เทรนด์อาหารปี 2563 ผู้บริโภคจะเน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นจึงมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

ทาง CRG เองมีร้านอาหารในหลายเซ็กเมนต์ ได้แก่ QSR, เบเกอรี่, อาหารไทย และอาหารญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีเซ็กเมนต์อาหารเพื่อสุขภาพอย่างจริงจัง จึงเป็นการเดินเกมเพื่อหาแบรนด์เข้าเติมพอร์ตร้านอาหารให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ปิยะพงศ์ เล่าถึงเหตุผลที่เลือกร้าน Salad Factory ว่า หลักการเลือกของ CRG จะดูพาร์ทเนอร์ ดู Passion ของเจ้าของแบรนด์เป็นหลัก ตอนนี้กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพมีการเติบโตตลอด มีผู้เล่นไม่เยอะ อย่าง Sizzler จะเป็นคอนเซ็ปต์ต่างชาติ แต่ในตลาดยังไม่มีร้านสลัดแบบไทยๆ มากเท่าไหร่ มีออีก 2 แบรนด์เท่านั้น กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพนี้ CRG ยังไม่เคยมี เป็นการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่เป็นครั้งแรก สามารถสร้างการเติบโตในอนาคตได้ สอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความนิยมกับอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารคลีน ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้อาหารสุขภาพจัดอยู่ใน Top 5 ของอาหารยอดนิยมของผู้บริโภคในช่วงปีที่ผ่านมา ขึ้นจาก Top 10 เมื่อ 4-5 ปีก่อน

ถ้าถามว่าทำไม CRG ไม่เลือกสร้างแบรนด์เอง แต่เลือกที่จะลงทุนกับ Salad Factory ปิยะพงศ์บอกว่า "กลุ่มอาหารสุขภาพทำเองยาก วัตถุดิบเป็นผัก ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรม เรื่องนี้ควบคุมฟ้าฝนยาก ถ้าถามว่าปั้นเองได้หรือไม ต้องบอกว่าการหาคนมี Passion มาปั้นแบรนด์ กับการที่มีคนที่พร้อมอยู่แล้ว มีคนที่วิ่งเก่งอยู่แล้ว เพียงแค่หารองเท้าดีๆ ให้เขาใส่มันดีกว่า" * โดยที่ Salad Factory เป็นแบรนด์ที่ 16 ของ CRG ถือว่าอยู่ในทำเนียบของแบรนด์ที่ปั้นเอง ไม่ได้ซื้อเชนจากต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ได้ทำมาแล้ว 5 แบรนด์ ได้แก่ อร่อยดี, เดอะ เทอเรช, ซอฟต์แอร์, เกาลูน และสุกี้เฮาส์ *

โตไปด้วยกัน ธุรกิจ-ชุมชน

ปิยะบอกว่า จุดเด่นของ Salad Factory คือ การทำธุรกิจที่เน้นชุมชน มีการทำ Contract Farming กับเกษตรกรโดยตรง ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันมีการทำ Contract Farming จำนวน 7-8 ไร่ มีกระจายในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, เชียงใหม่, วังน้ำเขียว, พะเยา และเพชรบูรณ์ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการรับผลผลิต เพราะมีเรื่องลมฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน ถ้าภาคไหนเจอแดดเจอฝน มีปัญหาเรื่องผลผลิต จะได้ไม่กระทบเรื่องการส่งสินค้า

ทุกวันนี้ทางร้านได้รับซื้อผักจากไร่เดือนละ 6 ตัน และคาดว่าจะเพิ่มไปถึงเดือนละ 8-9 ตัน ถ้ามีการขยายสาขาเพิ่มในอนาคต "ความท้าทายในตอนี้คือการทำให้ทุกคนโตไปด้วยกันทั้งธุรกิจ และฟาร์มเจ้าของวัตถุดิบ ถ้าไปคุยกับฟาร์มเจ้าใหญ่ๆ มันง่าย มีกำลังการผลิตเยอะอยู่แล้ว แต่เราเลือกจากฟาร์มรายเล็กๆ เพื่อให้โตไปด้วยกัน ได้สัมผัสกับผู้คน ถ้าร้านโต ฟาร์มก็โต มีบางฟาร์มที่ขยายพื้นที่ไปข้างๆ ชาวบ้านก็มีพื้นที่ทำกินมากขึ้น กลายเป็นธรกิจชุมชน ซึ่งโมเดลมันสวยมาก ทำด้วย Passion คนไทย ใช้ทรัพยากรคนไทย ให้ชุมชนโตไปด้วยกัน"

เตรียมขยาย 50 สาขาใน 5 ปี ต้องมีรายได้พันล้าน

หลังจาก CRG เข้าร่วมลงทุนใน Salad Factory แล้ว มีแผนที่จะขยายร้าน 50 สาขา ภายใน 5 ปี และต้องมีรายได้ 1,000 ล้านบาท โดยเน้น 4 กลยุทธ์ด้วยกัน ได้แก่ 1. เน้นสร้างสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก 2. ขยายสาขาเข้าศูนย์การค้าและแหล่งชุมชน 3. ขยายครัวกลางเพื่อเตรียมการขยายสาขา และ 4. พัฒนาร้านรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่นอกจากนี้ ยังพร้อมขายช่องทางการจำหน่าย รวมถึงพัฒนาสินค้าพร้อมทาน (Ready To Eat)

ปัจจุบัน Salad Factory มีทั้งหมด 7 สาขา ได้แก่ Bee Hive เมืองทองธานี, โรบินสัน ศรีสมาน, Crystal Park เลียบทางด่วนรามอินทรา,   The Crystal ราชพฤกษ์, Mega Bangna,  Sena Fest เจริญนคร และ The Mall งามวงศ์วาน ในปี 2562  Salad Factory มีรายได้รวม 167 ล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้เติบโต 10% โดยที่ปีก่อนๆ เติบโต 7% และในปีนี้จะขยาย 4 สาขา เน้นทำเลศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มลูกค้าหลักของร้านส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มครอบครัว โดยมีการใช้จ่ายต่อบิลเฉลี่ย 200-300 บาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0