โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เบื้องหลังคู่ในตำนาน เจ้าพระยายมราช-ท่านผู้หญิงตลับ ทำไมเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาวแห่งยุค

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 มี.ค. 2566 เวลา 03.58 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2566 เวลา 09.36 น.
ภาพปก - เจ้าพระยายมราช ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม
เจ้าพระยายมราช และ ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม

ประเพณีอันเกี่ยวกับพิธีมงคลสมรสมีมากมายหลากหลาย ในบรรดาพิธีต่างๆ อันปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งเก่าก่อนมี “พิธีปูที่นอนบ่าวสาว” ด้วย รายละเอียดของประเพณีเป็นไปตามสมัยนิยมแต่ยังหลงเหลือเค้าลางบางอย่างที่ปฏิบัติกันมา อาทิ การปิดประตูห้องเมื่อประกอบพิธีปูที่นอนบ่าวสาวซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า ช่วงหนึ่งนั้นการประกอบพิธีมักปิดประตูไม่ให้ใครเข้าดู โดยทรงตั้งข้อสังเกตว่า ได้รับอิทธิพลมาจากห้วงเวลาหนึ่งซึ่งเจ้าพระยายมราช และท่านผู้หญิงตลับ คู่สามีภรรยาที่บุคคลต่างๆ มักเชิญไปประกอบพิธีได้ปฏิบัติจนช่วงหลังกลายเป็นวิถีสืบเนื่องกันมาด้วยหรือไม่

เจ้าพระยายมราช (ปั้น ต้นสกุล สุขุม) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2405 ในสกุลคฤหบดีในเมืองสุพรรณบุรี รับราชการพลเรือนเป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้รับเลือกเป็นพระอาจารย์และพระอภิบาลในพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ อีกทั้งยังรับตำแหน่งแทนเป็นผู้ช่วยสถานทูตลอนดอนในช่วงที่ตำแหน่งว่างลง กระทั่งได้เลื่อนขั้นเป็นเลขานุการชั้น 1 ใน พ.ศ. 2431 ท่านได้กราบทูลขอให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังเป็นกรมหมื่น เป็นเถ้าแก่สู่ขอท่านผู้หญิงตลับ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแนะนำให้เจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ทรงพระเมตตาเป็นเถ้าแก่สู่ขอท่านผู้หญิงตลับ

ส่วนท่านผู้หญิงตลับ เป็นธิดาของพระยาชัยวิชิตสิทธิศักดา มหานคราภิบาล (นาค ณ ป้อมเพ็ชร) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยา ศึกษาในโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง เมื่อมารดาคือคุณหญิงนวน สกุล ณ ป้อมเพ็ชร ถึงแก่กรรมก็ลาออกมาดูแลบ้านเรือน ทำให้รู้จักเรื่องการปกครองภายในบ้านตั้งแต่เด็ก

ในประวัติท่านผู้หญิงตลับที่เจ้าพระยายมราชแต่งขึ้น ยังมีเนื้อความพูดถึงการพิธีที่ทำเมื่อครั้งแต่งงานพิสดาร ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์อ้างถึงว่า เริ่มด้วยพิธีสงฆ์สวดมนต์และฉันที่เรือนหอ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า การอันแตกต่างนี้นั้นเป็นเพราะ เดิมทีนั้นการสวดมนต์เลี้ยงพระเป็นพิธีสำหรับขึ้นอยู่เรือนใหม่ ขณะที่การแต่งงานสมรสนั้นยังไม่มีพระสงฆ์มาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า เป็นอิทธิพลที่ทำให้การแต่งงานในเวลาต่อมาเริ่มปรับเปลี่ยนด้วยหรือไม่

นอกเหนือจากเรื่องการพิธีสงฆ์เมื่อแต่งงานแล้ว พิธีทางฝ่ายคฤหัสถ์ ยังมีเรื่องว่าด้วย พิธีปูที่นอนบ่าวสาว ด้วย ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งนั้น เจ้าพระยายมราช และท่านผู้หญิงตลับ ถือว่าเป็นคู่ที่มีเกียรติได้รับเชิญปูที่นอนบ่าวสาวอย่างต่อเนื่อง เหตุผลที่มาที่ไปของความนิยมนี้อาจต้องกล่าวไปถึงคุณสมบัติของคู่สามีภรรยาที่จะมาปูที่นอนให้บ่าวสาวในพิธีแต่งงานเพิ่มเติม

เป็นธรรมเนียมและวิถีปฏิบัติกันมาช้านานแล้วว่า ผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญผู้มีเกียรติซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาอาวุโสให้ทำพิธีปูที่นอนในห้องหอ คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเลือกถือกันว่าต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่แต่งงานอยู่กินกันมาจนแก่เฒ่า มีฐานะดีและมีลูกหลานที่เลี้ยงง่าย และลูกๆ ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายคุณสมบัติของผู้ปูที่นอนบ่าวสาวไว้ว่า

“ต้องทรงคุณสมบัติประกอบกันหลายอย่าง เป็นต้น แต่ต้องได้อยู่ด้วยกันอย่างคู่ผัวเมียมาแต่ยังเป็นหนุ่มสาวจนแก่ด้วยกันอย่าง 1 อยู่เป็นสุขสำราญร่วมใจกันมามิได้ร้าวฉานอย่าง 1 สามารถตั้งตัวได้เป็นหลักฐานและมีบุตรธิดาที่จะสืบสกุลวงศ์อย่าง 1 และเป็นผู้อยู่ในศีลธรรมด้วยอย่าง 1 ถ้าว่าโดยย่อคือผู้ซึ่งทรงคุณสมควรจะเป็นเยี่ยงอย่างแก่บ่าวสาวเมื่ออยู่ด้วยกันต่อไป…”

ธรรมเนียมปฏิบัติในการปูที่นอนและส่งตัวเจ้าสาว จากเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า“พิธีการส่งตัวมักทำกันตอนกลางคืน ถ้าหากมีการเลี้ยงฉลองสมรสตอนกลางคืนจะต้องมีการเลิกก่อนถึงฤกษ์ส่งตัวเล็กน้อยเพื่อคู่บ่าวสาวจะได้มีเวลาเตรียมตัว” อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่า การปูที่นอนบ่าวสาวเป็นแบบพิธีซึ่งมีมาแต่โบราณ หลายชาติพันธุ์ก็มีพิธีนี้อยู่ในการแต่งงานด้วย

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าขั้นตอนเตรียมเสาะหาผู้ปูที่นอนนั้นอาจเสี่ยงภัยกันเล็กน้อย อาทิ พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าไว้ว่า หากคู่ผัวเมียอยู่แล้วเกิดแตกร้าวขึ้นมาภายหลังก็จะไม่ใคร่ได้เชิญผู้ปูที่นอนมาอีกต่อไป หรือคู่ใดถึงแก่กรรมไปคนหนึ่ง คนที่ยังอยู่ก็ไม่ได้รับเชิญอีก คล้ายกับถูกถอดขาดจากหน้าที่ไป ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้มีคู่สามีภรรยาที่มักได้รับเชิญเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาวในสมัยหนึ่งเหลือไม่มากเลย

ในยุคสมัยหนึ่งคู่สามีภรรยาที่ได้รับเกียรติเชิญเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาวอย่างต่อเนื่องเป็นที่รู้จักกันดีก็คือเจ้าพระยายมราช และท่านผู้หญิงตลับ สำหรับท่านผู้หญิงตลับ เป็นที่รับทราบกันว่า ไม่เพียงแต่เป็นสตรีที่ได้รับยกย่องทั้งในแง่การบ้านการเรือนและกิจการบ้านเมืองมาทุกสมัย ตั้งแต่วัยเยาว์ มีเรือน จนถึงผู้สูงอายุ

การงานในครอบครัวถือได้ว่าเป็นภรรยาที่ยอดเยี่ยม อัธยาศัยหนักแน่น ยึดถือความชอบธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงต่ออำนาจเมื่อสามีเป็นใหญ่และเจริญในหน้าที่การงานตามลำดับ ไม่เคยประพฤติบกพร่องให้สามีห่วงใย เห็นได้จากเมื่อครั้งเจ้าพระยายมราช เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ก็เคียงข้างสามีออกสู่สมาคมชั้นสูงอย่างมั่นใจโดยรักษามารยาท การวางตัวที่ถูกกาลเทศะ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับจึงได้รับเกียรติเป็นผู้ใหญ่ปูที่นอนบ่าวสาวอย่างยาวนาน แม้แต่ครั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดพิธีแต่งงานหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ บุตรของกรมพระยาดำรงฯ กับหม่อมราชวงศ์หญิงสอิ้ง สนิทวงศ์ ในพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช ก็ทรงได้ยินเรื่องว่าสมัยนั้นมีผู้เชิญเจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับปูที่นอนบ่าวสาวกันแล้ว จึงทรงเชิญเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับเป็นผู้ปูที่นอนบ่าวสาวในการแต่งงานหม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพกับหม่อมราชวงศ์หญิงสอิ้ง สนิทวงศ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม การพิธีครั้งนั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่สามารถเข้าไปชมการพิธีได้ดั่งประสงค์เนื่องจากเจ้าพระยายมราช แจ้งว่า อยากทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาวให้เป็นศิริมงคลด้วยน้ำใจบริสุทธิ์ ถ้ามีคนคอยดูอาจทำให้ไม่มีสมาธิ คล้ายกับการเล่นละคร ไม่เป็นศิริมงคลจริง ด้วยความเกรงใจ ทำให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชวนกันออกจากห้องไปจนเหลือแค่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับ เมื่อเสร็จพิธีจึงเปิดประตูออกมาข้างนอก กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้ว่า

“การทำพิธีปูที่นอนบ่าวสาวในชั้นหลังมาได้ยินว่าผู้ปูที่นอนไม่ยอมให้ใครดูเหมือนอย่างครั้งนั้น จะได้แบบของเจ้าพระยายมราชไป หรือท่านจะได้แบบมาจากใคร ข้าพเจ้าหาทราบไม่ แต่เจ้าพระยายมราชกับท่านผู้หญิงตลับได้มีเกียรติในการรับเชิญปูที่นอนบ่าวสาวสืบมาช้านาน”

เรียกได้ว่า ท่านผู้หญิงตลับและเจ้าพระยายมราชนั้นเป็นครอบครัวตัวอย่างในหมู่เจ้านาย ท่านผู้หญิงตลับมีชีวิตร่วมกับเจ้าพระยายมราช 42 ปีเศษ และถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2475 ในวัย 62 ปี ขณะที่เจ้าพระยายมราช อสัญกรรมเมื่อพ.ศ. 2481

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ. “ประวัติ เจ้าพระยายมราช (ปั้น เล็กสุขุม) ภาคที่ 1. ในคนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 4. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น. ชมรมดำรงวิทยาฯ จัดพิมพ์

“การแต่งงานแบบไทย”. ilovethaiculture กระทรวงวัฒนธรรม. ออนไลน์. เข้าถึง 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562.

สายไหม จบกลศึก. “ท่านผู้หญิงยมราช”. ใน นารีมีคุณ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2529 (สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ จัดพิมพ์)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0