โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เบื้องลึกสหรัฐฯลุยต่อเทรดวอร์ยื้อยาว

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2562 เวลา 05.30 น.

 

สัมภาษณ์

วันที่ 10 พฤษภาคม 2562 สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 6,031 รายการ(ก่อนหน้านี้เก็บไปแล้วจำนวน 1,333 รายการ) ถึงวันนี้ สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนไปแล้วมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังจะเก็บเพิ่มอีก 3 แสนล้านดอลลาร์(คาดประกาศในเดือนกรกฎาคม 2562)

วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 จีนตอบโต้ทันทีด้วยการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ 5-25% มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2562) จำนวน 5,140 รายการ แยกเป็น 2,493 รายการเก็บ 25%, 1,078 รายการ เก็บ 20%, 974 รายการเก็บ 10% และ 595 รายการเก็บ 5% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้า เนื้อหมู แกะ ชา กาแฟ ผลไม้ ไวน์ เบียร์ เครื่องดื่ม ประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ถึงวันนี้จีนเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ ไปแล้วมูลค่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

                                       รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช

 

      

 

 

3 เรื่องหลักที่มาสั่งลุย

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2562 มีโอกาสจะขยายตัว ไม่ถึง 1% ตํ่าสุดรอบ 4 ปี(นับจากปี 2559) เหตุผลหลักที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องทำลุยไฟทำสงครามการค้า(Trade War) กับจีนต่อ เกี่ยวข้อง 3 เรื่องหลักคือ การค้าที่ไม่เป็นธรรม การกระทำและนโยบายที่ไม่สอด คล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศสหรัฐฯ และการกระทำและนโยบายเหล่านี้กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั่นคือ“จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา(IP) ลักลอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ” โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) ได้ออกรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 กล่าวถึงการละเมิดทางการค้าของจีน

โดยสรุปมีตัวละครจีนที่เกี่ยวข้องอยู่“4 กลุ่ม” คือ หน่วยงานรัฐบาล นโยบายอุตสาหกรรม บริษัทเอกชนและนักศึกษา โดยมีกลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายถึง“8 ธุรกิจ” ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรคมนาคม หุ่นยนต์ การบริการข้อมูล ผลิตภัณฑ์ยา มือถือและบริการ การสื่อสารดาวเทียม และธุรกิจซอฟต์แวร์ มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับคือ“National Medium and Long-Term Science and Technology Development Plan (2006-2020) : MLP” และ“State Council Decision on Accelerating and Cultivation the Development of Strategic Emerging Industries” ซึ่งไปโยงกับนโยบายสำคัญ“Made in China 2025” และใช้ความสำเร็จผ่าน“บันได 4 ขั้น” ที่เรียกว่า“IDAR” (Introduce, Digest, Absorb และ Re-innovate ที่ร่วมกันระหว่างหน่วยงานจีนกับบริษัทจีน)

 

5 ประเด็นทำสุดทน

รายงานระบุมีเจ้าหน้าที่ของจีนที่ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด 9 หมื่นคน(ในประเทศ 4 หมื่นคน ในต่างประเทศ 5 หมื่นคน) ระบุถึง“5 ประเด็นสำคัญ” 1. มีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า ขั้นตอนในการทำธุรกิจและเทคโนโลยี เฉพาะความลับทางการค้าของสหรัฐฯ มีการประเมินว่าได้ขโมยไปเป็นมูลค่าตั้งแต่ 1.8-5.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 2. จีนตั้งใจหลีกเลี่ยงกฎหมายการส่งออกของสหรัฐฯ เพราะมีกลุ่มคนที่ทำงานในสหรัฐฯ และส่งข้อมูลกลับไปยังประเทศจีนโดยหลบเลี่ยงกฎหมายฉบับดังกล่าว 3. ประเด็นสินค้าปลอมและการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอ้างว่าจีนเป็นแหล่งสินค้าปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 4. การกำหนดเข้มต่อการลงทุนของต่างชาติ“Foreign Owner Restriction” ของจีน ได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนสหรัฐฯ อย่างมาก

 “ยูเอสทีอาร์ให้ข้อมูลว่า จีนจะห้ามนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมสำคัญๆ เว้นแต่จะร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนเท่านั้นและนักลงทุนจีนต้องสามารถควบคุมการตัดสินใจได้ด้วย และประเด็นสำคัญ ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับจีนระหว่างที่ทำธุรกิจด้วย”

อย่างไรก็ตามหากเราติดตามเรื่องนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนก็มีความตั้งใจจะเปิดโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากคณะกรรมการปฎิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีน   (the National Development and Reform Commission : NDRC) ได้มีกำหนดระยะเวลาในการยกเลิกข้อกำหนดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเมื่อเดือนเมษายน 2561 ว่าจากเดิมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ นักลงทุนต่างชาติต้องลงทุนแบบร่วมทุน (Joint Venture : JV) สัดส่วน 50% ซึ่งข้อกำหนดนี้จะถูกยกเลิกไปในปลายปี 2561 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถยนต์เชิงพาณิชย์จะยกเลิกในปี 2563 และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยกเลิกในปี 2565 แต่ประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นยังอยู่ และ 5.จีนบังคับให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรและเทคโนโลยี อนุญาตให้บริษัทจีนใช้สิทธิบัตรดังกล่าวได้

“ภายใต้ข้อตกลงการถ่าย ทอดเทคโนโลยี ประเด็นสุดท้ายนักลงทุนต่างชาติต้องเปิดเผยข้อมูล รหัสและ source codes ให้กับจีนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ประเด็นข้างต้นคงตอกยํ้าชัดเจนว่า ทำไมสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงดำรงอยู่ต่อไป เพราะประเด็นข้างต้นในมุมมองสหรัฐฯ ยังไม่ได้รับการแก้ไข”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,471  วันที่ 19-22 พฤษภาคม 2562

                                 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0