โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เบื้องลึกภารกิจถ้ำหลวง จากปากฮีโร่ผู้เสี่ยงชีวิตช่วย 13 หมูป่า

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 21 ก.ค. 2561 เวลา 23.35 น.
ต่างประเทศ1879

หลังความสำเร็จของภารกิจช่วยสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ยาวนานกว่าครึ่งเดือน แน่นอนว่ารายละเอียดทุกแง่มุมของภารกิจกู้ภัยที่ “ยากที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ค่อยๆ เผยออกทีละเรื่องสองเรื่อง

ข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดย่อมมาจากปากของผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำกู้ภัยในถ้ำชาวอังกฤษ ผู้รับหน้าที่นำตัวสมาชิกทีมหมูป่าออกมาสู่โลกภายนอก

“เจสัน มัลลินสัน” และ “คริส เจเวลล์” สองนักดำน้ำสมาชิกสภาการดำน้ำกู้ภัยในถ้ำแห่งประเทศอังกฤษ (บีซีอาร์ซี) เล่ารายละเอียดการกู้ภัยกับสื่อของประเทศอังกฤษอย่าง “เดลีเมล์”

 

มัลลินสัน หนึ่งในทีมนักดำน้ำอังกฤษเปิดเผยว่า ก่อนที่ตนจะเดินทางถึงถ้ำหลวง ทางการไทยวางแผนที่จะปล่อยให้เด็กๆ อยู่ในถ้ำจนกว่าน้ำจะลด แต่ด้วยพายุฝนที่จะก่อตัว และระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลง ทำให้มีหนทางเดียวคือการนำเด็กดำน้ำออกมาจากถ้ำ

มัลลินสันในวัย 50 ปี และนักดำถ้ำคู่หู คริส เจเวลล์ วัย 35 ปี สองนักดำน้ำที่ช่วยสมาชิกทีมหมูป่าออกจากถ้ำรวมกันถึง 7 คน เล่าถึงภารกิจที่มีความเสี่ยงสูงที่เกือบจะกลายเป็นหายนะในช่วงเวลาหนึ่ง แม้จะมีการวางแผนเป็นอย่างดีก็ตาม

มัลลินสัน คุณพ่อลูก 1 จากเมืองฮัดเดอร์สฟิลด์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โรยตัวในโรงงานไฟฟ้าระบุว่า ได้รับข้อความเพื่อเข้าร่วม “ภารกิจกู้ภัยในถ้ำที่ยากที่สุดเท่าที่เคยมีมา” โดยมัลลินสันถูกเรียกตัวไปพร้อมกับเจเวลล์ เพื่อไปสมทบกับเพื่อนนักดำน้ำกู้ภัยในถ้ำชาวอังกฤษอย่างริก สแตนตัน และจอห์น โวลันเธน ที่ล่วงหน้ามาก่อนแล้วที่ประเทศไทย

มัลลินสันระบุว่า ตนและเจเวลล์ซึ่งเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 6 กรกฎาคม ต้องทำความคุ้นเคยกับช่องทางของถ้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม 6 ช่วง ความยาวรวมกว่า 1 กิโลเมตร ขณะที่บางช่วงมีช่องทางผ่านที่บีบแคบมากๆ ตลอดทาง 4-5 กิโลเมตรจากปากถ้ำถึงจุดที่ทีมหมูป่าติดอยู่

ภารกิจแรกของทั้งสองคือการตรวจสอบคุณภาพออกซิเจนในบริเวณเนินนมสาว จุดที่ทีมหมูป่าติดอยู่ภายใน ซึ่งหลังจากการตรวจสอบ ทั้งสองพบว่าอากาศนั้นเบาบางมากๆ

“เพียงคุณเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การก้าวขึ้นจากน้ำเดินขึ้นไปบนเนินชัน เท่านั้นก็ทำให้เหนื่อยแล้ว เนื่องจากอากาศที่เบาบาง คุณจะหอบและเหงื่อออกง่ายกว่าปกติเหมือนกับอยู่ในพื้นที่สูง” มัลลินสันระบุ

และจากสภาพภายในถ้ำทำให้มัลลินสัน คิดขึ้นมาในช่วงหนึ่งเช่นกันว่า “เด็กบางคนอาจจะไม่รอด”

 

สองนักดำน้ำชาวอังกฤษระบุว่าการเสียชีวิตของจ่าเอกสมาน กุนัน อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยซีลของไทย เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทางการไทยตัดสินใจเปลี่ยนแผนเพื่อนำเด็กดำน้ำออกมา หลังจากทำทุกวิถีทางแล้ว

การตัดสินใจดังกล่าวทำให้สมาคมกู้ภัยผู้ติดถ้ำของอังกฤษต้องขอกำลังสนับสนุนจากองค์กรกู้ภัยในถ้ำของยุโรปเพื่อรวมตัวนักดำน้ำจำนวนมากเพื่อสนับสนุนภารกิจครั้งสำคัญนี้

มัลลินสันเล่าว่า หลังจากมีการทดสอบกับเด็กในสระว่ายน้ำนอกถ้ำแล้ว นักดำน้ำแต่ละคนจะเข้าไปเตรียมความพร้อมเด็กๆ และโค้ชทีมหมูป่าให้ใส่ชุดยาง ตรวจหน้ากากดำน้ำ โดยมัลลินสันระบุว่าเด็กได้รับยาคลายเครียดก่อนที่ตนจะรับหน้าที่พาเด็กคนแรกออกมาก่อน

“พวกเขากล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ ผมไม่เห็นเลยว่าพวกเขาตกใจกลัวแม้แต่นิดเดียว” มัลลินสันเล่า

และว่า เป็นการดำน้ำแบบนักดำน้ำ 1 คนต่อเด็ก 1 คน ซึ่งแตกต่างจากรายงานของสื่อก่อนหน้านี้

รายงานระบุว่า ในช่วงแรกของการดำน้ำเป็นช่วงที่ยาวที่สุดราว 320 เมตร อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ค่อนข้างกว้าง ทำให้นักดำน้ำสามารถ “หิ้ว” เด็กๆ ไปโดยใช้เชือกนำทางไปตลอดเส้นทางโดยใช้เวลาราว 20 นาที

“เด็กแต่ละคนจะใส่เสื้อชูชีพ ทำให้เราสามารถจับสายที่ด้านหลังของเสื้อได้ และระหว่างเด็กและตัวผมมีเชือกคล้องระหว่างกัน

นอกจากนี้ยังต้องจับเชือกนำทางเอาไว้ตลอด ไม่เช่นนั้นก็อาจจะหลงทางได้” มัลลินสันระบุ

 

นักดำน้ำใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมงเพื่อนำเด็กแต่ละคนไปถึงมือเจ้าหน้าที่อเมริกันและไทยที่ฐานบัญชาการในโถง 3 และนั่นเป็นเส้นทางใต้น้ำที่ยาวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในน้ำที่ขุ่นข้นเหมือนกับกาแฟ

ในวันที่ 10 กรกฎาคม วันที่เหลือเด็ก 4 คนและโค้ชอีก 1 คนที่เนินนมสาว มัลลินสันตัดสินใจทำงานแข่งกับเวลาโดยดำน้ำสองเที่ยวเพื่อนำเด็กคนสุดท้ายออกมา และเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วโค้ชของเด็กทีมหมูป่าอะคาเดมีนั้นออกมาเป็นคนที่ 9 ไม่ใช่คนที่ 13 อย่างที่สื่อเข้าใจก่อนหน้านี้

ด้านคริส เจเวลล์ เล่าด้วยว่า ขณะที่ตนกำลังนำเด็กคนรองสุดท้ายออกจากโถงสี่เพื่อมุ่งหน้าไปยังโถง 3 นั้น เกิดเหตุน่าตกใจขึ้นเมื่อมือของตนหลุดออกจากเชือกนำทางในน้ำที่ขุ่นจนมองอะไรไม่เห็น

เจเวลล์ต้องใช้เวลาอยู่นานถึง 4 นาทีในการหาเชือกนำทาง ก่อนที่จะสามารถคว้าเจอสายไฟที่เชื่อมระหว่างโถง 3 และโถง 4 เอาไว้ได้ และใช้สายไฟดังกล่าวนำทางกลับสู่เส้นทาง และนำเด็กออกมาสู่อิสระได้ในที่สุด

ทั้งมัลลินสันและเจเวลล์ระบุว่า พวกเขาทั้งคู่พยายามไม่ให้ต้องตกอยู่ในห้วงของอารมณ์เพื่อการทำงานด้วยความสุขุมเยือกเย็น

ทว่ามัลลินสันยอมรับว่าในการดำน้ำช่วงสุดท้าย ตนรู้สึกจุกขึ้นมาในอกด้วยความตื้นตัน และคิดว่าตนสามารถทำภารกิจที่ยากลำบากนี้ได้สำเร็จ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0