โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'เบร็กซิต'ตัวเร่งบริษัทญี่ปุ่นถอนทุนหนีอังกฤษ ล่าสุดคือ'ฮอนด้า' ก่อนหน้ามีทั้งนิสสัน-พานาโซนิค-โซนี่

Manager Online

อัพเดต 19 ก.พ. 2562 เวลา 15.58 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2562 เวลา 15.58 น. • MGR Online

เอเอฟพี – นักวิเคราะห์ชี้คลื่นการย้ายออกจากอังกฤษของพวกบริษัทชั้นนำแดนอาทิตย์อุทัย ทั้งพานาโซนิค, โซนี่, นิสสัน ล่าสุดคือฮอนด้า ไม่ได้เป็นเพราะ “เบร็กซิต” เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ช่วยเร่งเร้าการตัดสินใจ

ในวันอังคาร (19 ก.พ.) ฮอนด้า มอเตอร์เป็นบริษัทญี่ปุ่นแห่งล่าสุดที่ส่งสัญญาณอันตรายถึงอุตสาหกรรมทุกแขนงของอังกฤษ ด้วยการประกาศปิดโรงงานในเมืองสวินดอน ที่ว่าจ้างพนักงานราว 3,500 คนเพื่อทำการผลิตรถ “ซีวิค” มากว่า 24 ปี

เจ้าหน้าที่แดนยูเนียนแจ๊กรีบออกมาปัดกระแสการกล่าวโทษโจมตี “เบร็กซิต” หรือการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ ว่าเป็นตัวการของเรื่องนี้ เช่น จัสติน ทอมลินสัน สมาชิกสภาสามัญจากสวินดอนที่บอกว่า การตัดสินใจของฮอนด้าเป็นไปตามแนวโน้มโลก และเสริมว่า ค่ายรถแห่งนี้กำลังถ่ายโอนปฏิบัติการผลิตทั้งหมดในยุโรปกลับญี่ปุ่น

กระนั้น เซจิ ซูกิอูระ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยโตไค โตเกียว บอกว่า ดูเหมือนฮอนด้าตระเตรียมเรื่องนี้มานานแล้ว แต่พอมาเกิดกรณีเบร็กซิต ก็อาจผลักดันให้บริษัทตัดสินใจเร็วขึ้น

ซาโตรุ ทาเคดะ นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์ของบริษัทวิจัย ทีไอดับเบิลยู ในโตเกียว ตั้งข้อสังเกตว่า ฮอนด้ามีการขบคิดพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับโรงงานในสวินดอนมาหลายปีแล้ว แต่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปอาจบีบให้บริษัทตัดสินใจในตอนนี้

นอกจากฮอนด้าแล้ว ก่อนหน้านี้นิสสัน มอเตอร์ยังประกาศยุติการผลิตในโรงงานที่เมืองซันเดอร์แลนด์

ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นราว 1,000 แห่งดำเนินงานอยู่ในอังกฤษ และว่าจ้างพนักงาน 140,000 คน

และแม้ไม่ได้มีเพียงบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยเท่านั้นที่ถอนตัวจากอังกฤษ แต่ประวัติการลงทุนยาวนานของญี่ปุ่นในประเทศนี้ที่เริ่มต้นขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองสุดขีดปลายทศวรรษ 1980 ทำให้คลื่นการตีจากครั้งนี้สร้างผลกระทบรุนแรงมากขึ้น

ซูกิอูระระบุว่า ค่ายรถญี่ปุ่นถูกดึงดูดเข้าสู่แดนยูเนียนแจ๊กจากสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจภายใต้ยุคผู้นำอนุรักษนิยมหญิงเหล็ก มาร์กาเร็ต แทชเชอร์ ในทศวรรษ 1980 ตลอดจนถึงการที่อังกฤษสามารถเข้าถึงตลาดยุโรป แต่สถานการณ์ตอนนี้กลับตรงกันข้าม

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมยานยนต์และสภาพแวดล้อมการค้าโลก เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นลดขนาดหรือยุติกิจการในอังกฤษ

นอกจากนั้นข้อตกลงการค้าอียู-ญี่ปุ่นที่มีผลบังคับใช้ในเดือนนี้ยังลดแรงจูงใจให้บริษัทญี่ปุ่นต้องเข้าไปดำเนินงานในยุโรปเพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร

ทาเคดะสำทับว่า บริษัทญี่ปุ่นยังประสบปัญหาจากการต่อสู้กับเจ้าถิ่น เช่น โฟล์คสวาเกน ผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนี

ธนาคารชั้นนำของญี่ปุ่นทยอยออกจากลอนดอนเช่นเดียวกัน และเดือนที่แล้ว ฮิตาชิประกาศระงับปฏิบัติการในโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ในเวลส์

บริษัทใหญ่เหล่านี้ยืนยันว่า เบร็กซิตไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินใจ

โยซูกุ สึชิดะ นักวิจัยจากบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ชี้ว่า หนึ่งในเหตุผลของการถอนตัวคือการไม่ไว้วางใจในอังกฤษ ซึ่งรวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่กำลังชุลมุนวุ่นวาย เขายังคาดว่า บริษัทอื่นๆ ที่ใช้อังกฤษเป็นฐานบุกภาคพื้นยุโรปจะพิจารณาถอนตัวจากแดนยูเนียนแจ๊กเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น เรียกร้องให้อังกฤษให้ความกระจ่างแก่บริษัทญี่ปุ่น และกล่าวว่า ทั่วโลกต่างหวังว่า อังกฤษจะสามารถหลีกเลี่ยงการถอนตัวจากอียูในแบบที่ปราศจากข้อตกลง

ซูกิอูระยังคาดว่า อนาคตการลงทุนในอังกฤษจะอึมครึมอีกนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังปราศจากความชัดเจนเกี่ยวกับเบร็กซิต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0