โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เบรคไฮสปีดเชียงใหม่ หัวหิน "นิรุฒ มณีพันธ์" ลุยพัฒนาที่ดินรถไฟ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 03 ก.ค. 2563 เวลา 00.31 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 13.23 น.
106087035_272830780828336_5439561809388228002_n

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า โปรเจ็กต์ลงทุนต่างๆของ ร.ฟ.ท. ภายในปีนี้คาดว่าจะผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง วงเงินรวม 263,453.57 ล้านบาทก่อน สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยคำถามสำคัญคือ การลงทุนระดับแสนล้านบาท ประเทศจะใช้ประโยชน์จากรถไฟทางคู่สายนี้อย่างไร จึงได้เร่งส่งคำตอบกลับไปแล้ว และเท่าที่คุยนอกรอบถือว่ายังเป็นไปด้วยดี จะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติโครงการภายในปีนี้

ประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่

ส่วนรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท หลังคณะกรรมการกำกับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธานเห็นควรให้แบ่งสัญญาก่อสร้างโครงการใหม่เป็น 10 สัญญานั้น

แต่เมื่อไม่มีการพูดคุยต่อ ร.ฟ.ท.จึงตัดสินใจว่า จะยืนยันแนวทางเดิมตามที่ครม.เคยมีมติให้แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ซึ่งทั้ง 3 ช่วงจะรวมทั้งงานระบบและงานโยธาไว้ด้วยกัน ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม.วงเงิน 26,704 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วง เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 17,482 ล้านบาท

“ได้เสนอเรื่องกลับมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าจะมีการเสนอ ครม.รับทราบถึงแนวทางดังกล่าวอีกครั้งภายในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนช่วงบ้านไผ่ – นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อร่างทีโออาร์ คาดว่าช่วงปลายปีนี้น่าจะเปิดประมูลได้”

ขณะที่ไอเดียการสร้างมอเตอร์เวย์ควบรถไฟทางคู่ เป็นเรื่องที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษา แต่คาดว่าแนวเส้นทางน่าจะเป็นแนวที่ไม่เคยมีโครงการมอเตอร์เวย์และรถไฟพาดผ่านมาก่อน ส่วนแนวรถไฟเดิมคงเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่คงต้องรอให้ สนข.ศึกษาความเป็นไปให้แล้วเสร็จก่อน

อีก 3 เดือนเคาะรูปแบบเดินรถสายสีแดง

ส่วนความคืบหน้าของการจัดรูปแบบเดินรถสายสีแดง เบื้องต้นคณะทำงานที่มีนายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเป็นประธานยังอยู่ระหว่างศึกษา 2 รูปแบบ คือ การให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เข้ามาบริหาร หรือจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) คาดว่าจะสรุปผลได้ภายใน 2-3 เดือนนี้

สำหรับการขยายเวลาการก่อสร้างสายสีแดงสัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างรางรถไฟ, ระบบไฟฟ้าและส่งกำลัง, ระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบติดต่อสื่อสาร, ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร มูลค่าสัญญา 32,399.99 ล้านบาท จะขยายให้ไปก่อน 87 วัน จากที่ขอมา 512 วัน อยู่ระหว่างให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. พิจารณาอยู่ หากบอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติตามที่เสนอมาคือ 512 วัน จะทำให้กำหนดเวลาระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาเลื่อนออกไปเป็นประมาณกลางปี 2564

นอกจากนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าวจะศึกษาถึงรูปแบบการบริหารสถานีกลางบางซื่อและการจัดรูปแบบประมูลส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง วงเงินรวม 23,417.61 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202.18 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6,645.03 ล้านบาทด้วย ซึ่งทั้งหมดจะได้รู้พร้อมกัน ส่วนจะรวบงานทั้งหมดมาทำ PPP หรือไม่ ขอให้รอผลการศึกษาก่อน

เบรกไฮสปีด “เชียงใหม่-หัวหิน”

นายนิรุฒยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน สัญญาที่ 2.3 (สัญญาการวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ได้ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ประมาณ ต.ค.นี้

ขณะที่การปรับแก้แบบสถานีอยุธยาตามที่กรมศิลปากรมีข้อกังวลและส่งผลต่อรายงาน EIA ไม่ผ่านการพิจารณานั้น เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะทำหนังสือตอบกลับไปที่กรมศิลปากร เพื่อยืนยันการก่อสร้างสถานีอยุธยาให้อยู่ในจุดเดิม ไม่ย้ายออกตั้งนอกเมือง เพราะร.ฟ.ท.จะไม่รื้อสถานีเดิมออกแน่นอน แต่จะเป็นการสร้างครอบสถานีเดิมทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างทำหนังสือตอบกลับอยู่

ในส่วนรถไฟความเร็วสูงอีก 2 เส้นทาง คือช่วงกรุงเทพ – เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กม.และช่วงกรุงเทพ – หัวหิน ระยะทาง 211 กม. ยังไม่มีแผนยกเลิกโครงการ แต่จะเกิดได้เมื่อไหร่ยังไม่ทราบ ขอประเมินผลรถไฟความเร็วสูงไทยจีนให้ได้ก่อน

พลิกที่ดินสร้างรายได้เพิ่ม

นอกจากนี้ นายนิรุฒ กล่าวต่อถึงการพัฒนาที่ดินว่า เท่าที่สแกนที่ดินทั้งหมดของ ร.ฟ.ท.ประมาณ 240,000 ไร่ พบว่ามีประมาณ 20,000 ไร่ที่เหมาะกับการนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ คิดเป็นรายได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งตนคิดว่ารายได้ตรงนี้ยังน้อยไปมาก เพราะที่ดินของร.ฟ.ท.บางส่วนอยู่ใจกลางเมือง แต่เข้าใจว่าปัญหาที่ร.ฟ.ท.เจอมาแก้ไม่ง่าย ทั้งเรื่องบุกรุก และการต่อรองกับผู้เช่าเดิม

แต่เชื่อว่าหากสามารถบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบมากขึ้น ร.ฟ.ท.จะมีรายได้มากขึ้นโดยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีใหญ่ อาทิ สถานีกลางบางซื่อ สถานีแม่น้ำ สถานีมักกะสัน

ส่วนอัตราค่าเช่า อาจจะต้องพิจารณาอีกทีในภายหลัง เพราะอาจจะกระทบกับภาระค่าครองชีพของประชาชน ทั้งนี้ คาดว่าการจัดประเภทและบริหารจัดการที่ดินจะสรุปได้ภายในปีนี้ ส่วนการทำแผนฟื้นฟูภาระหนึ้สิน1.67 แสนล้านขององค์กร ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะยังไม่ได้แตะส่วนไหนของแผนเป็นพิเศษ องค์ประกอบเดิมยังอยู่ทั้งหมด แต่เท่าที่เห็นแผนดังกล่าวเป็นแผนที่ดี และทุกอย่างจะเดินหน้าต่อ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0