โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เบนซ์ GLC ลด4แสน-เพิ่มรุ่นย่อยราคาต่ำ...เทกระจาดดีเซลเก่า

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2562 เวลา 03.05 น.

 

เริ่มเดินกลยุทธ์สายโหดสำหรับเจ้าพ่อตลาดรถหรูเมืองไทย เพราะภายในเดือนมิถุนายนเดือนเดียวมีการปรับไลน์อัพยกแผง โดยรุ่นที่มีการขยับถือเป็นโมเดลหลักในการสร้างยอดขายเสียด้วย

ล่าสุดสร้างความฮือฮาด้วยการเสริมไลน์อัพให้ เอสยูวี “จีแอลซี” รุ่น GLC 220d 4MATIC ราคา 3.04 ล้านบาท ถูกกว่า GLC 250d 4MATIC OFF ROAD หรือตัวเริ่มต้นเดิม 2.5 แสนบาท ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ ขนาด 2.2 ลิตร บล็อกเดียวกันแต่ รุ่น 220d ปรับกำลังลงมาเหลือ 170 แรงม้า (GLC 250d กำลัง 204 แรงม้า)

เมื่อดูจากการเพิ่มไลน์อัพใหม่ให้ GLC แล้ว ชัดเจนว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เตรียมการวางแผนขายทิ้งทวนล็อตใหญ่ เพราะ GLC ใหม่รุ่นเฟซลิฟต์(ไมเนอร์เชนจ์) เตรียมเปิดตัวในไทยปลายปีนี้ ด้วยการปรับการออกแบบภายนอก-ใน และเพิ่มออพชันใหม่ๆ รวมถึงเครื่องยนต์จะเปลี่ยนมาใช้ดีเซลบล็อกใหม่ รหัส OM654 ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบ แทนรหัส OM651 ที่ใช้ในปัจจุบัน

สำหรับ GLC 220d 4MATIC ใช้เครื่องยนต์ดีเซล OM651 แบบ 4 สูบเรียง ความจุกระบอกสูบ 2,143 ซีซี 170 แรงม้า ที่ 3,000- 4,200 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่ 1,400 - 2,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 8.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 210 กม./ชม

“รถยนต์กลุ่มเอสยูวี ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนรุ่นใหม่ และครอบครัวยุคใหม่ที่ชื่นชอบความท้าทายในทุกการขับขี่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการความนุ่มนวลและสะดวกสบายด้วย ซึ่ง GLC 220d 4MATIC จะเข้ามาเสริม พอร์ตโฟลิโอเอสยูวี นอกเหนือไปจากปัจจุบันที่ GLC รุ่นประกอบในประเทศมี 2 รุ่นย่อยแล้ว ได้แก่ GLC 250 d 4MATIC OFF-ROAD และ Mercedes-Benz GLC 250 d 4MATIC AMG Dynamic (ราคา 3.69 ล้านบาท)” นายฟรังค์ ชไตน์อัคเคอร์ รองประธานบริหาร ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์จะปล่อย GLC 220d รุ่นราคาตํ่าออกมา มีความพยายามระบายสต๊อกด้วยแคมเปญแรงๆมาโดยตลอด โดยคนที่ซื้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ GLC 250d ได้ส่วนลดร่วมๆ 4 แสนบาท หรือแคมเปญอย่าง
เป็นทางการที่ใช้สื่อสารคือดอกเบี้ย 0% เมื่อทำสัญญาเช่าซื้อ ระยะเวลา 48 เดือน ด้วยเงินดาวน์ขั้นตํ่า 25%กับบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับ จีแอลซี เฟซลิฟท์เครื่องยนต์ดีเซลใหม่ รหัส OM654 ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบ 194 แรงม้า มีกำหนดทำตลาดในไทยปลายปีนี้ โดยเป็นการประกอบในประเทศทันที จากนั้นในปี 2563 น่าจะได้เห็นขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด ซึ่งอยู่ภายใต้แผนส่งเสริมการลงทุน
ของบีโอไอ ได้สิทธิพิเศษด้านภาษี (จากการลงทุนประกอบรถและแบตเตอรี่ในไทย) เหมือนกับ ซี-คลาส อี-คลาส และเอส-คลาส ที่พร้อมขายรุ่นขุมพลังลูกผสมกันหมดแล้ว

นอกจากแผนระบายทั้งรถยนต์โฉมเก่า และเครื่องยนต์ดีเซลเก่าของ GLC ด้วยกลยุทธ์ที่หนักหน่วงรุนแรง จนลูกค้างง ดีลเลอร์ มึน หรือคู่แข่ง “บีเอ็มดับเบิลยู เอ็กซ์3” ต้องปวดหัว แล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังกระตุ้นยอดขายให้ซาลูนรุ่นดัง “อี-คลาส”

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย หันมาวางเครื่องยนต์ดีเซลให้ “อี-คลาส”  (W213) อีกครั้ง หลังยุติทำตลาดตั้งแต่เปิดตัวรุ่นประกอบในประเทศ และขายแต่ขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริดE 350 e เพียงอย่างเดียว

 

ภายใต้ชื่อรุ่น E 220 d Sport วางเครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหม่ OM654 4 สูบเรียง ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 194 แรงม้า ที่ 3,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600- 2,800 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 7.3 วินาที ความเร็วสูงสุด 240 กม./ชม. ราคา 3.33 ล้านบาท ซึ่งเป็นรุ่นที่ถูกที่สุดของ อี-คลาส

ขณะที่รุ่นปลั๊ก-อินไฮบริด ตัวเริ่มต้น E 350 e Avantgarde ลดราคาลง 4 หมื่นบาท เป็น 3.54 ล้านบาท และเพิ่มอุปกรณ์เช่น  ระบบกันสะเทือนแบบ Agility Control  หน้าจอแสดงผลความละเอียดสูงแบบ Digital widescreen cockpit และ ฟีเจอร์ใหม่ Mercedes me connect

ส่วนรุ่น E 350 e Exclusive ราคาลดลง 3 หมื่นบาทเป็น 3.79 ล้านบาท และตัวท็อป E 350 e AMG Dynamic ราคาเดิม 4.19 ล้านบาท แต่เพิ่มฟีเจอร์ “Mercedes me connect” เช่นกัน

“ความพิเศษของการเปิดตัวรถยนต์ในตระกูลอี-คลาสรุ่นประกอบในประเทศในครั้งนี้ คือการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ของ ‘Mercedes me connect’ บริการเสริมที่เชื่อมโยงลูกค้ากับผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการรวมถึงบริการอื่นๆ ของเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้าไว้ด้วยกัน เช่น Mercedes-Benz emergency call system บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน และระบบวิเคราะห์สภาพรถยนต์ Telediagnostics ที่จะคอยส่งข้อมูลและสถานะของรถยนต์ไปยังศูนย์บริการเมื่อตรวจพบความเสียหาย ระบบตั้งค่ารถยนต์ (Pre-installation for Vehicle Set-up) และระบบสตาร์ตเครื่องยนต์พร้อมเปิดระบบปรับอากาศภายในห้องโดยสารด้วยโทรศัพท์มือถือ (Remote Engine Start for Pre-entry Climate Control)” นายฟรังค์ ชไตน์อัคเคอร์ รองประธานบริหารฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ยอดขาย เมอร์เซเดส-เบนซ์ ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.62) ทำได้ 4,782 คันถือว่ายอดทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ทำได้ 4,757 คัน  

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,480 วันที่ 20 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0