โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เธอจะสบายดีไหม ที่นั่นตอนนี้เป็นอย่างไร? : อะไรทำให้ COVID-19 ในญี่ปุ่นยังเงียบงัน

The MATTER

อัพเดต 28 มี.ค. 2563 เวลา 01.43 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 01.37 น. • Thinkers

ระหว่างที่ผมกำลังเขียนงานนี้อยู่ ที่โตเกียวก็เริ่มมีการซื้อของกักตุนของกินกันแล้ว เพราะตั้งแต่วันพุธ ทางผู้ว่ากรุงโตเกียว คุณยูริโกะ โคอิเคะ (Koike Yuriko) ที่ผมเคยเขียนถึง ได้ออกมาประกาศขอความร่วมมือไม่ให้ชาวโตเกียวออกจากบ้านถ้าไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สาเหตุก็คือ ในวันพุธที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีจำนวน 40 คน ถือว่าเกินเท่าตัวของวันก่อนหน้าคือ 17 คน กลายเป็นการเพิ่มแบบก้าวกระโดดจนน่าเป็นห่วงทันที ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ว่าเองก็เตือนมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น

แต่รู้สึกแปลกใจไหมครับว่า พอมานั่งคิดอีกที ญี่ปุ่นเจอกรณีคนที่ติดเชื้อนอกประเทศจีนเป็นประเทศแรกๆ แต่เวลาผ่านไปนานเอาเรื่อง กลับไม่เห็นการพุ่งของตัวเลขผู้ติดเชื้อเหมือนกับประเทศอื่นๆ ปล่อยให้ประเทศที่มาทีหลังแซงหน้ากันไปอย่างไม่เห็นฝุ่น จนเป็นที่มาของความงงของประชาคมโลก รวมถึงสื่อตะวันตกหลายเจ้าที่ต่างก็งงว่า อ่าว ทำไมไม่มีการระบาดครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเหมือนในประเทศอื่นๆ บ้าง

ซึ่งมันก็ชวนงงจริงๆ ขนาดผมอยู่ญี่ปุ่น ตอนช่วงจีนระบาดทีแรกก็เห็นคนพูดคุยกัน พอเริ่มมีเคสที่ญี่ปุ่นก็อย่างที่เห็นว่าเริ่มมีการกว้านซื้อหน้ากากอนามัย และคนก็ใส่กันแบบรัวๆ ยิ่งพอเรือสำราญมาเทียบท่าแล้วคนติดกันในเรือก็ยิ่งดูวุ่นไปใหญ่ แต่พอผ่านมาเดือนกว่าๆ ก็ดูเหมือนอะไรต่อมิอะไรจะค่อยๆ กลับเป็นเหมือนเดิมช้าๆ แน่นอนว่าก็ยังมีหลายบริษัทที่มีนโยบายให้ทำงานจากบ้าน ร้านค้า สถานี ถนน ก็ดูจะโล่งกว่าเดิม แต่ก็ยังเห็นคนออกไปซื้อข้าวซื้อของกันไม่น้อย ยิ่งสัปดาห์ที่แล้วที่อากาศดี ผมออกไปทำธุระไม่ไกลบ้าน ก็เจอคนเต็มสวนสาธารณะ แม้จะไม่ได้นั่งเบียดกัน แต่ก็จัดว่าเยอะไม่น้อยครับ

ก็นั่นล่ะครับ ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อของญี่ปุ่นจะมีเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่ได้เยอะแบบหวือหวาชวนระทึกขวัญ ตัวเลขติดมาแบบนิ่งๆ กราฟก็ไม่ได้ชัน เห็นแล้วเหมือนปั่นจักรยานขึ้นสะพานข้ามทางด่วน เทียบกับประเทศอื่นที่พุ่งขึ้นกะทันหันเหมือนปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ จะว่าไปอยู่นี่ก็รู้สึกเหมือนกบถูกต้ม คือมันไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ตัวเลขผู้ป่วยก็ยังสะสมไปเรื่อยๆ อยู่นะครับ เพียงแต่มันไม่ได้ดูน่าตกใจ แถมช่วงสัปดาห์ก่อนยังดูจะลดด้วยซ้ำ

จนหลายคนก็เริ่มมองว่า

ญี่ปุ่นจะสามารถ Flatten the Curve ได้แล้ว

โดยที่ไม่มีการระบาดครั้งใหญ่ด้วยซ้ำ

ถ้ามองด้วยสายตาแบบไม่ไว้วางใจ แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเองหลายต่อหลายคนก็คิดอย่างนี้คือ รัฐพยายามปิดบังข้อมูลตัวเลขผู้ป่วยอยู่รึเปล่า ซึ่งของแบบนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานาที่คนชอบคิดกันไป ยิ่งปีนี้ญี่ปุ่นจะจัดแข่งโอลิมปิก พอมีโรคระบาดแบบนี้ขึ้นมาการพยายามปิดบังตัวเลขผู้ป่วยที่แท้จริง เพื่อที่จะให้นานาชาติรู้สึกว่า "ญี่ปุ่นปลอดภัยนะ" ก็ดูเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักขึ้นมาเหมือนกัน

ซึ่งพอสุดท้ายแล้ว โอลิมปิกประกาศเลื่อนไปจัดแข่งปีหน้า มิตรสหายผมก็รีบเตือนว่า ตัวเลขพุ่งแน่นอน รีบๆ เตรียมตัวไว้ และพอประกาศเมื่อวันอังคาร ตัวเลขผู้ติดเชื้อในโตเกียวก็พุ่งขึ้นทันทีในวันพุธตามที่ได้บอกไปแล้ว ยิ่งทำให้ฟังดูน่าเชื่อเข้าไปใหญ่ แต่พอมามองอีกที โรงพยาบาลญี่ปุ่นเต็มไปด้วยผู้ป่วยรึเปล่า ก็ไม่ แล้วมีการขนเอาศพไปทิ้งไหม ก็ไม่ ถ้ารัฐบาลจะปิดตัวเลขผู้ป่วยจริง แล้วผู้ป่วยเหล่านั้นจะไปอยู่ไหน ยิ่งในยุคที่ทุกคนมีอุปกรณ์สื่อสาร ถ้ามีการซ่อนคนป่วยจริงแล้ว การไม่เห็นข้อมูลแบบนี้หลุดออกมาเลย ก็ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์นั่นล่ะครับ

แต่สิ่งที่หลายชาติ รวมถึงคนญี่ปุ่นเองก็ยังคลางแคลงใจรัฐบาลญี่ปุ่นก็คือ การไม่ได้ทำการตรวจหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 อย่างเข้มงวด ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพในการตรวจหาผู้ป่วยเต็มที่ เทียบกับเกาหลีที่พอมีการระบาดที่แดกูก็จัดการตรวจตรวจกันอย่างเข้มงวดและเยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

ข้อโต้แย้งของญี่ปุ่นก็คือ เมื่อการตรวจหาไวรัสไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้รับการตรวจ ทางรัฐก็ต้องคำนึงถึงการใช้การตรวจให้มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ใช้การหว่านแหตรวจ เพราะเปลืองโดยใช้เหตุ ไม่มีอาการหนักจริงๆ ไม่ได้ไอแห้งติดต่อกัน ไข้ขึ้นไม่สูงมาก ไม่ได้ตรวจหรอกครับ ถ้ามีอาการน่าสงสัย หรือมีความเสี่ยง แต่ยังไม่หนักมาก หรือไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดอักเสบแล้ว ส่วนใหญ่ก็ได้แต่กลับไปเฝ้าระวังอาการที่บ้าน ฟังดูอาจจะน่าห่วง แต่เอาจริงๆ แล้วนี่เป็นแนวทางที่เขาเลือกใช้

เพื่อไม่ทำให้หน่วยงานทางสาธารณสุขของญี่ปุ่น

ต้องเจอกับงานหนักเกินจนไม่สามารถเดินหน้าต่อได้

และถ้าเรายังอยู่ที่เรื่องปิดตัวเลขก็มีเสียงจากทางญี่ปุ่นว่า ถ้าถูกมองว่าปิดตัวเลขก็ไม่แปลก เขาตรวจน้อยกันจริงๆ เพราะแทนที่จะตรวจ COVID-19 เขาเลือกตรวจและรักษาตามอาการก่อน ยิ่งถ้ามีอาการเรื่องปอด ญี่ปุ่นเขาก็พร้อมที่จะทำการ CT Scan แบบรัวๆ เพื่อหาจุดปัญหาและรักษาไป ทำให้ตัวเลขของคนป่วยด้วย COVID-19 ไม่ได้น้อย แต่คนทีป่วยและเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบมีเท่าไหร่อันนี้ก็ไม่ทราบได้ เพราะเขารายงานทุกสามปีครับ คงต้องรออีกนาน แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อมองเผินๆ จากสภาพของสถานพยาบาลของญี่ปุ่นทั้งหลายก็ดูเหมือนว่า สถานการณ์จะไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก ยังสามารถดำเนินงานไปตามปกติได้ จะบอกว่าปิดตัวเลขก็ได้ เพราะกลายเป็นคนป่วยโรคอื่นไปแทน แต่ก็ยังอยู่ในขอบข่ายที่เขาควบคุมได้

จะมองว่าแนวทางแบบญี่ปุ่นกำลังใช้คล้ายกับแนวทาง Herd Immunity ของอังกฤษโดยไม่ได้ตั้งใจก็ว่าได้ แต่ที่ญี่ปุ่นพร้อมกว่าก็คือ 'ปริมาณเตียงผู้ป่วยต่อประชากร' ญี่ปุ่นพร้อมมากเพราะมีถึง 13 เตียงต่อประชากร 1,000 คน เยอะเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีเกาหลีตามติดมา หลังจากนั้นก็เป็นรัสเซียกับเยอรมันที่ 8 เตียงส่วนอังกฤษนั้น 2.5 เตียงครับ ส่วนไทยไม่พบข้อมูลเพราะเขามีแค่ 40 ประเทศ เมื่อมองเรื่องความพร้อมในการรับมือในส่วนนี้ของญี่ปุ่นก็อาจจะมองว่าพร้อมกว่าอังกฤษประเทศเจ้าของไอเดีย

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนมองว่า ที่ญี่ปุ่นไม่พบการระบาดหนักเป็นเพราะความโชคดีส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งก็คือการที่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเองไม่ได้เน้นแตะเนื้อต้องตัว หรือเข้าถึงตัวกันมากนัก ยิ่งคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งอยู่ตัวใครตัวมันกันเยอะมาก ทำให้การติดต่อจากการสัมผัสกันเกิดได้น้อยมากตามไปด้วย

รวมไปถึงตัวชาวญี่ปุ่นเองก็จัดว่าเป็นประเทศที่หมกมุ่นกับความสะอาดเอาเรื่อง ถ้าไม่นับบางกลุ่มส่วนน้อยที่ดูเหมือนจะไม่สนใจอะไร

โดยรวมแล้วญี่ปุ่น

ก็สามารถรักษาความสะอาดได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะ

การเพิ่มความเข้มงวดในการทำความสะอาดและมีแอลกอฮอล์ล้างมืออยู่หลายจุดก็ถือว่าช่วยควบคุมการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี โดยที่ญี่ปุ่นไม่ได้ต้องทำอะไรต่างไปจากที่ปฏิบัติอยู่แล้ว

และในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักเช่น ฮอกไกโด ก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็วจนสถานการณ์คลี่คลายได้ ในขณะที่ในพื้นที่อื่นก็มีการประกาศปิดสถานศึกษา และขอให้บริษัทที่มีศักยภาพ ให้พนักงานทำงานจากบ้านด้วย รวมไปถึงการพยายามระงับการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ การจัดการปัญหาแบบกึ่งตื่นตัวและตื่นตูม แม้จะมีผลเสียอยู่บ้างแต่ก็ช่วยระงับการระบาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งสำหรับโตเกียวแล้ว การจัดการระงับไม่ให้ทุกคนออกจากบ้านก็ดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก การพยายามควบคุมด้วยวิธีนี้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (อย่าลืมว่าปริมาณคนในโตเกียวนี่มีมหาศาลเลยนะครับ)

ปัจจัยทั้งหลายที่ว่ามา ก็ส่งผลให้ตัวเลขของญี่ปุ่นไม่ได้พุ่งสูง แถมยังดูท่าทางจะลดลงด้วย ต่อให้บอกว่าปิดตัวเลข แต่หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของเขาก็ยังรับไหว กลายเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของชาวโลก

ถ้าไม่เกิดเรื่องเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา…

ด้วยความเป็นกบถูกต้ม ชาวญี่ปุ่นเองก็เริ่มจะชินชาไม่รู้ว่าน้ำจะร้อนขึ้นหรือเย็นลง จึงค่อยๆ กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พอซากุระบานเต็มที่พร้อมอากาศสุดสบาย ทำให้คนแห่ออกไปชมซากุระกันอย่างเนืองแน่น คือต่อให้ไปไม่เท่าเดิม แต่ด้วยความที่โตเกียวเป็นเมืองใหญ่คนเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าอย่างไรสวนก็แน่นอยู่ดี ทำให้ตัวผู้ว่าเองก็บอกว่า นี่คือจุดชี้ชะตาของชาวญี่ปุ่นก็ว่าได้ เพราะเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดการระบาดหนักได้ แม้จะเป็นพื้นที่เปิดและอากาศถ่ายเทได้ดี แต่แต่ความเสี่ยงก็ยังสูงอยู่ดี (ยังไม่นับการจัดแข่งมวย K-1 ในฮอลที่มีคนดู 6,500 คน) สองสัปดาห์หลังจากนี้จะเป็นตัววัดว่าญี่ปุ่นจะรอดจริง หรือที่สั่งสมไว้มันจะมาระเบิดเอาตอนนี้

ก็คงบอกได้แค่ว่า ต้องคอยดูกันครับ ที่ผ่านมาผมก็มองว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มนิ่งๆ แล้ว เพราะดูเหมือนจะคุมอยู่ ในขณะที่ประเทศอื่นลำบากกันมาก เอาจริงๆ ก็ไม่อยากจะไปโทษการชมดอกซากุระอย่างเดียว เพราะอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย แต่ก็นั่นล่ะ ผ่านมาไม่ถึงสัปดาห์ตัวเลขก็เพิ่มแล้ว ยังดีที่วันถัดมาไม่ได้เพิ่มไปเป็นเท่าตัว แต่ยังพอๆ กัน นั่นก็ทำให้ผู้ว่าโตเกียวออกมาของร้องให้ไม่ออกจากบ้านในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ในขณะที่จังหวัดรอบๆ ทั้ง คานากาวะ จิบะ และไซตามะ ก็ออกมาขอความร่วมมือจากชาวจังหวัดว่าช่วงสุดสัปดาห์นี้ กรุณาอย่าเดินทางไปโตเกียวถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

ญี่ปุ่นจะสามารถผ่านสามสัปดาห์วิกฤตนี้ไปได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นการระบาดคลื่นลูกที่สองที่น่ากลัวกว่าเดิม ตอนนี้ก็คงไม่มีใครตอบได้ ก็ได้แต่ดูกันไปก่อนล่ะครับ (ส่วนผมนี่ของกินอะไรพร้อมหมดล่ะครับ ทำงานอยู่บ้านไปรัวๆ แฮ่)

อ้างอิงข้อมูลจาก

japansubculture.com

japantoday.com

japantimes.co.jp

japantimes.co.jp

thehill.com

reuters.com

japantimes.co.jp

asiatimes.com

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0