โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เที่ยววันหยุด รอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล

MThai.com

เผยแพร่ 13 ต.ค. 2562 เวลา 06.39 น.
เที่ยววันหยุด รอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล
Travel.MThai อยากชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยววันหยุด รอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล กันค่ะ ซึ่งแต่ละที่มีความสำคัญและอยู่คู่บ้านเมืองเรามาช้านาน

หากวันหยุดนี้ไม่มีแพลนไปไหน Travel.MThai อยากชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวรอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล กันค่ะ  พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านเมืองเรามาช้านาน มีการสร้างโบสถ์ วัด เพื่อให้ผู้คนมาสักการะ เสริมศิริมงคล และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งก็จะมีวัดเก่าแก่มากมายที่สร้างในสมัยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ซึ่ง 10 วัดประจำรัชกาลนี้ เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องและมีความผูกพัน จึงถือวัดทั้ง 10 เป็นวัดประจำรัชกาลของแต่ละพระองค์

เที่ยววันหยุด รอบเมืองกรุง

ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 1

สักการะ : พระพุทธไสยาส(พระนอน) ขนาดเท่ากับพระอุโบสถ และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ, พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว, พระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า ด้วยประสงค์ตั้งมั่นแน่วแน่ว่า นี่จะเป็นพระนครอย่างถาวร เป็นต้น

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตั้งอยู่ : ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวังแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนครกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 2

สักการะ : พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, พระปรางค์วัดอรุณ

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา จนมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม”

ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ตั้งอยู่ : ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร

การเดินทาง : 

  • รถยนต์ส่วนตัว กรณีเดินทางมาจากถนนปิ่นเกล้า ให้ข้ามสะพานอรุณอมรินทร ผ่านโรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ วัดเครือวัลย์ กรมสารวัตรทหารเรือ โดยวัดอรุณฯ อยู่ทางฝั่งซ้ายมือ
  • ทางเรือ ขึ้นเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนคร บริเวณท่าเตียน
  • รถประจำทาง รถประจำทางที่ผ่านวัดอรุณฯ ได้แก่ สาย 19, 57 และ 83

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 3

สักการะ : พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร, พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อวัดจอมทอง เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงเทพมหานคร พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชโอรส ซึ่งหมายถึง พระราชโอรสคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ตั้งอยู่ : ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 4

สักการะ : พระพุทธสิหังคปฏิมากร, ปาสาณเจดีย์, ปราสาทยอดปรางค์

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก

ตั้งอยู่ : ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 5

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

มีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด

อีกทั้งมี สุสานหลวง ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักของวัดด้านทิศตะวัน โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้นั้นเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม

อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้ สุนันทานุสาวรีย์ รังษีวัฒนา เสาวภาประดิษฐาน สุขุมาลนฤมิตร์

ตั้งอยู่ : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 6

สักการะ : หลวงพ่อโต, พระพุทธชินสีห์

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร  พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์เป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่สยามมกุฎราชกุมาร

ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่ สร้างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน ถัดออกไปเป็นวิหารเก๋งจีน นอกจากนี้ก็มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง บริเวณรอบเจดีย์มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง คือ พระไพรีพินาศ

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผนวชและประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดเกล้าฯ ให้ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร โดยเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธนาราวันตบพิตร”

ตั้งอยู่ : ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร บวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 7

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นอกจากจะเป็นพระอารามหลวง ประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้ว ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วย

ภายในมี พระพุทธอังคีรส เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พระนาม “พระพุทธอังคีรส” แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กระไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์

ที่ฐานบัลลังก์กระไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาไลย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ตั้งอยู่ : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 8

เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ จนมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”

ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

ที่พระวิหารมี “พระศรีศากยมุนี” เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วย สำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยาบานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงามรอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ หลังจากสักการะในวัดสุทัศน์ฯแล้ว แนะนำให้เดินมาที่เสาชิงช้า เพื่อ สรงน้ำพระพักตร์เทวรูปที่ซุ้ม และข้ามไปที่ศาลากลางเพื่อสรงน้ำ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งปีนี้ย้ายสถานที่จากสนามหลวงเป็นที่หน้าศาลากลาง บริเวณลานคนเมือง

ตั้งอยู่ : 146 ริมถนนตีทอง 1 ถนนบำรุงเมือง หน้าวัดออกทางถนนอุณากรรณ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
วัดประจำรัชกาลที่ 9

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. 2538 เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคมสีมา และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษในปี พ.ศ. 2542  เดิมเป็นที่ลุ่มว่างเปล่า ขอบเขตที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อที่ทั้งหมด 8 – 2 – 54 ไร่

พระอุโบสถ โปรดให้สร้างด้วยความเรียบง่าย และประหยัด แรกเริ่มการออกแบบพระอุโบสถมีขนาดใหญ่โต และเมื่อนำแบบพระอุโบสถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทอดพระเนตร มีรับสั่งให้ย่อลง ให้มีขนาดกะทัดรัด สอดคล้องกับลักษณะของชุมชน ด้วยไม่โปรดสิ่งที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น

มีพระราชประสงค์ให้วัดนี้เป็นวัดของชุมชนพระราม 9 เพื่อให้ประกอบศาสนกิจ เน้นให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นสำคัญ อีกทั้งสภาพพื้นที่ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างเป็นวัดใหญ่ ลดงบประมาณจากที่ตั้งไว้ เดิม 57 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นพระราชนิยมที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นเพียงการใช้ประโยชน์สูงสุดที่สำคัญ และมีพระราชประสงค์ให้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชนอีกด้วย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ชวนเที่ยว “วัดของพ่อ” วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก , วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก สถานปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ

ตั้งอยู่ : เลขที่ 999 ซอย 19 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ

บดินทรเทพยวรางกูร
วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต)
วัดประจำรัชกาลที่ 10

วัดนี้เดิมทีคหบดีชาวลาวเป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2379 เล่ามาว่าเป็นวัดร้างมาก่อนชาวลาวท่านนี้อพยพมาสมัยเวียงจันทร์แตก หลังจากคหบดีท่านนี้ถึงแก่กรรมวัดนี้เลยร้าง เนื่องจากไม่มีใครอุปถัมภ์ ประกอบกับเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพลง เลยไม่มีใครสืบสาน และก็สมัยก่อนนั้นวัดนี้อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นทุ่งนาส่วนใหญ่

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ (พระอิสริยยศขณะนั้น) รับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นอารามหลวง ได้พระราชทานนามว่า วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร

ขอบคุณข้อมูลและภาพ  th.wikipedia.org, amazingthaitour, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , gotoknow, TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง, dhammathai, dhammajak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0