โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เที่ยวชุมชน ตามรอยประวัติศาสตร์ ณ คลองบางกอกน้อย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 29 ม.ค. 2563 เวลา 10.49 น. • เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 10.49 น.
DSC_0680

การท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบเมื่อมาเยือนกรุงเทพมหานครก็คือ การใช้บริการเรือหางยาวล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าไปในคลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ แต่นักท่องเที่ยวที่ล่องเรือชมสองฝั่งแม่น้ำนั้นไม่ค่อยได้ขึ้นฝั่งไปสัมผัสวิถีชุมชน หรือไปชมอะไรที่อยู่ลึกเข้าไปจากริมฝั่งน้ำ

กระทรวงวัฒนธรรมเล็งเห็นว่า มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวพระบรมมหาราชวังและแถบแม่น้ำเจ้าพระยาปีละหลายล้านคน และนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งก็นิยมนั่งเรือท่องเที่ยวด้วย คงจะดีหากสามารถทำให้นักท่องเที่ยวขึ้นจากเรือไปเที่ยวชุมชนริมฝั่งน้ำ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจึงไปตรวจราชการ และสำรวจความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชนริมคลองบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งทีมงาน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ก็ถือโอกาสนี้ตามไปสำรวจเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวริมคลองบางกอกน้อยด้วย

บางกอกน้อย ในความรับรู้ของคนไทยยุคหลังมานี้คงนึกถึงตำนานความรักของอังศุมาลินกับโกโบริเป็นอันดับแรก ทันทีที่เรือล่องเข้าปากคลองบางกอกน้อยจึงมีคนถามขึ้นมาว่า “โกโบริตายตรงไหน” แล้วคนขับเรือก็ชี้ไปที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยที่อยู่ฝั่งซ้ายมือ

นอกจากฉากหลังเรื่องราวความรักใน “คู่กรรม” เราอยากชวนไปค้นหาว่าบางกอกน้อยมีอะไรน่าสนใจซ่อนอยู่บ้าง

จุดแรกเลยขอแนะนำ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” ถ้าเราเข้าไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา พิพิธภัณฑ์จะอยู่ฝั่งขวามือ เราสามารถมองเข้าไปเห็นเรือพระราชพิธีสีทองอร่ามจอดเรียงรายอยู่ด้านใน ถ้าใครอยากชมกับตาใกล้ ๆ ว่าเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้นมีขนาดใหญ่และสวยงามแค่ไหน แนะนำให้มาที่นี่เลย รับรองว่าได้ชมแบบใกล้ ๆ ไม่ผิดหวังแน่นอน นอกจากได้ชมเรือแล้วก็ยังมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับเรือพระราชพิธีให้ศึกษาด้วย

จุดที่สอง “มัสยิดอันซอริซซุนนะห์” (มัสยิดหลวงบางกอกน้อย) อยู่ข้าง ๆ กันกับพิพิธภัณฑ์เรือ เดินไม่กี่นาทีก็ถึงแล้ว มัสยิดนี้มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมาก ก่อนจะมีมัสยิดนี้ ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่บริเวณคลองบางกอกน้อยมีกุฎีเล็กเรียกว่า “กะดีแขก” เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้ขอใช้พื้นที่กุฎีเล็กสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อย โดยพระราชทานที่ดินฝั่งตรงข้ามซึ่งเคยเป็นโรงเรือหลวงเก่าให้สร้างกุฎีหรือสุเหร่าขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2435 ซึ่งก็คือมัสยิดอันซอริซซุนนะห์ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เอง มัสยิดแห่งนี้จึงได้ชื่อเป็น “มัสยิดหลวง” เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ที่ชุมชนมัสยิดอันซอริซซุนนะห์มีอาหารมุสลิมอร่อย ๆ อย่างซาโมซารสชาติเข้มข้น และขนมปังยาสุมที่เป็นเมนูขึ้นชื่อประจำชุมชน ถ้ามาที่นี่แล้วไม่ได้ชิมถือว่าพลาดเลยล่ะ

สถานที่ถัดไปที่จะชวนไปเยือนคือ “วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร” พระอารามหลวงชั้นโทที่ตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 และมีท่าจอดเรือในคลอง ถ้าใครจะเดินทางทางน้ำก็สะดวกดี

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดทอง” มีข้อมูลชวนขนลุกว่าในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกจากค่ายบางแก้วมาประหารชีวิตที่วัดนี้

เนื่องจากตั้งอยู่บนแผ่นดินธนบุรี วัดนี้จึงมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้สักการะกราบไหว้ด้วย

*ไฮไลต์ของวัดทองอยู่ที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่สวยงาม และมีสตอรี่ที่น่าสนใจมาก เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดนี้ พระองค์ทรงให้สุดยอดช่างเขียนแห่งยุค 2 คนมาเขียนภาพประชันกันในโบสถ์นี้ โดยกั้นผ้าม่านไว้ตลอดการเขียนภาพเพื่อไม่ให้แต่ละฝั่งมองเห็นไอเดียและลวดลายภาพวาดของกันและกัน *

นอกจาก 3 สถานที่น่าสนใจที่ว่ามา ชุมชนริมคลองบางกอกน้อยยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น “ตลาดวัดทอง” ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่มีอาหารอร่อยฝีมือชาวบ้านในชุมชนให้ลิ้มรส, “วัดศรีสุดาราม” หรือ “วัดชีปะขาว” ซึ่งมีสตอรี่น่าสนใจมาก เพราะเป็นวัดที่พระอาจารย์ชีปะขาวมาสร้างไว้ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และยังมี “วัดนายโรง” ซึ่งสร้างโดยเจ้าของโรงละครนอกที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 4

หลังจากเยี่ยมชมหลายจุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่า บางกอกน้อยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าแต่ละจุดยังไม่ถูกเชื่อมโยงให้เป็นเส้นทางเดียวกัน ยังขาดการแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว จุดขึ้น-ลงเรือก็ยังไม่สะดวก หลังจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางสายวัฒนธรรม โดยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หารือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการทำโปรแกรมกิจกรรมท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หารือกรมเจ้าท่า ในการปรับปรุงท่าเรือ สำหรับส่วนไหนที่สามารถใช้งบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรมได้ก่อน กระทรวงก็จะดำเนินการไปก่อน

ฝั่งคนในชุมชนได้สะท้อนปัญหาให้ฟังว่า มีนักท่องเที่ยวนั่งเรือเข้ามาเที่ยวในคลองจำนวนไม่น้อย แต่เหตุผลที่นักท่องเที่ยวไม่ได้ขึ้นฝั่งมาเที่ยวชุมชน เพราะว่าเรือนำเที่ยวไม่อนุญาตให้จอดขึ้นฝั่ง ถ้าหากว่าธุรกิจเรือนำเที่ยวร่วมมือกับชุมชน พานักท่องเที่ยวจอดตามท่าต่าง ๆ ก็คงจะดี

เมื่อภาครัฐเริ่มสนใจจะส่งเสริมแล้ว ก็ต้องรอดูว่าเส้นทางท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมและวิถีชุมชนบางกอกน้อยจะได้รับการส่งเสริมอย่างไร และจะ “เกิด” หรือ “ไม่เกิด”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0