โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เทียบชัดๆ! กองทุน SSF ดีกว่า LTF จริงไหม? 

The Bangkok Insight

อัพเดต 07 ธ.ค. 2562 เวลา 14.44 น. • เผยแพร่ 08 ธ.ค. 2562 เวลา 02.30 น. • The Bangkok Insight
เทียบชัดๆ! กองทุน SSF ดีกว่า LTF จริงไหม? 

ประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษี (Tax Fund) รูปแบบใหม่ ซึ่งจะมีกองทุนใหม่ที่ชื่อว่า Super Saving Fund (SSF)มาแทน LTF ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป คำถาม คือ กองทุน SSF คืออะไร ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ แล้วเมื่อเทียบกับกองทุน LTF มีข้อดี ข้อเสียต่างกันอย่างไรบ้าง ลองมาดูกัน

กองทุน SSF คืออะไร ? 

เริ่มแรกมาดูก่อนว่าเงื่อนไขและรายละเอียดสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับ SSF มีอะไรบ้าง โดยได้สรุปออกมาเป็นข้อๆ ให้แล้วดังนี้

- กองทุน SSF มีชื่อเต็มว่า Super Saving Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว 

- รูปแบบกองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้ง ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนรวม ทำให้มีความยืดหยุ่นและหลากหลายเรื่องนโยบายกองทุน

- เงื่อนไขลดหย่อนภาษีของ SSF ให้สิทธิ์ลดหย่อนที่ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท (เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) 

- ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อ และไม่บังคับซื้อต่อเนื่องทุกปี 

- เพียงแต่มีเงื่อนไขต้องถือหน่วยลงทุน 10 ปีขึ้นไปนับจากวันที่ซื้อ ถึงจะสามารถขายคืนได้

- เริ่มลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งช่วงเริ่มต้นจะให้สิทธิประโยช์ 5 (2563-2567) หลังจากนั้นการคลังจะพิจารณาอีกที

ข้อดีของ SSF เมื่อเทียบกับ LTF

1. ลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท 

ต่างจาก LTF ที่กำหนดให้ต้องลงทุนในหุ้นไทย 65% ซึ่งจุดนี้เป็นการปลดล็อคให้ SSF สามารถกระจายความเสี่ยง และมีความคล่องตัวได้ดีกว่า รวมถึงนักลงทุนที่จะมีตัวเลือกหลากหลายขึ้น สำหรับการวางแผนการเงินให้เหมาะกับตัวเอง

2. เพิ่มสัดส่วนลดหย่อนภาษีเป็น 30% ของเงินได้

การที่ SSF ให้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ เทียบกับ LTF ที่ให้ 15% ของเงินได้ ทำให้กลุ่มรายได้ปานกลางสามารถซื้อได้เต็มเงื่อนไขง่ายขึ้น เพราะเพดานใช้สิทธิ์เต็มพิกัดของรายได้จะลดลงมาเหลือประมาณ 6 แสนบาท จากเดิมที่ต้องมีรายได้ต่อปีสูงถึง 3.3 ล้านบาทถึงจะใช้สิทธิ์ได้เต็มพิกัด

ข้อเสียของ SSF เมื่อเทียบกับ LTF

1. ต้องถือนานขึ้นเป็น 10 ปี

เงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนของ SSF อยู่ที่ 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ต่างจาก LTF ที่ถือแค่ 7 ปีปฏิทินเท่านั้น (LTF สามารถใช้เทคนิคซื้อปลายปีขายต้นปีทำให้เหลือเวลาถือแค่ 5 ปีเศษ) แปลว่า SSF ต้องถือนานกว่า LTF เกือบ 5 ปีเลย

2. ลดวงเงินซื้อสูงสุดเหลือ 2 แสนบาท

วงเงินสูงสุดที่ซื้อ SSF เหลือเพียง 2 แสนบาท จากเดิมที่ LTF ให้สูงถึง 5 แสนบาท แสดงว่า

กลุ่มคนที่รายได้สูงจะถูกบังคับให้ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีได้น้อยลง รวมถึงสิทธิลดหย่อนภาษีที่จะหายไป 3 แสนบาทด้วยกัน

3. วงเงินสูงสุดถูกนำไปรวมกับ RMF  

เกณฑ์ใหม่คือวงเงินลดหย่อนของ SSF จะถูกนำไปรวมกับกองทุนเกษียณอายุต่างๆ รวมถึง RMF ด้วย โดยกำหนดเพดานไว้ที่ 5 แสนบาท จากเดิมที่ LTF กับ RMF จะแยกวงเงินกัน ทำให้สามารถลดหย่อนได้มากถึง 1 ล้านบาท

นั่นแปลว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดจะเป็นคนทำงานประจำที่มีรายได้สูง ซึ่งเดิมสามารถซื้อ LTF + RMF ลดหย่อนได้ 1 ล้านบาท แต่ปีหน้าจะเหลือแค่ 5 แสนบาทเท่านั้น

4. เม็ดเงินในตลาดหุ้นไทยหายไปไม่มากก็น้อย

เนื่องจาก SSF ไม่ได้จำกัดว่าต้องลงทุนหุ้นไทยเหมือน LTF จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า กองทุน SSF จะต้องมีการทำ Asset Allocation กระจายไปยังสินทรัพย์อื่นๆ แน่นอน เพื่อประสิทธิภาพของกองทุน 

กรณีนี้บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะลดลงไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี จากปกติเม็ดเงิน LTF เฉลี่ยประมาณ 34,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นลบต่อตลาดหุ้นในระยะยาวมากกว่าที่คิด

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตากันว่าโลกที่ไม่ LTF ของตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมา LTF เป็นทั้งตัวช่วยสร้างเสถียรภาพและเม็ดเงินอัดฉีดให้แก่ตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0