โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เทศมองไทย : ไทยแล้ง-แล้งแค่ไหน? "นาซ่า" มีคำตอบ!

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 23 ก.พ. 2563 เวลา 00.54 น. • เผยแพร่ 23 ก.พ. 2563 เวลา 00.54 น.
seasiadrought_smap_202038

สัญญาณแล้งหนักหนาสาหัสของเมืองไทยเริ่มส่อให้เห็นมาตั้งแต่ราวกลางปีที่แล้ว

รายงานสถานการณ์ของสำนักงานเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหภาพยุโรป (อีซีเอชโอ) ผ่านทางรีลีฟเว็บ เมื่อ 23 กรกฎาคม ระบุว่าผลการวัดระดับน้ำในลำน้ำโขง ตามจังหวัดริมขอบโขงทางตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหลายออกมาตรงกันที่ 1.5 เมตรเท่านั้น

ถือเป็นระดับน้ำของลำน้ำโขงที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี

กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยรายงานเอาไว้ในช่วงนั้นว่า ไทยอาจเผชิญหน้ากับภาวะแล้งหนักที่สุดในรอบ 10 ปี

ถึงวันที่ 3 ธันวาคม สถานีวัดระดับน้ำที่หนองคายและมุกดาหาร ยังคงอยู่ในระดับไม่ถึง 2 เมตร ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านหน้าน้ำหลากมาไม่นาน

18 ธันวาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของไทย ประกาศภาวะภัยแล้งใน 54 อำเภอของ 11 จังหวัด ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดทางเหนืออย่างเชียงราย ไปจนถึงจังหวัดทางภาคอีสานและภาคตะวันออกของประเทศ

รัฐบาลไทยตระหนักว่า หลายจังหวัดกำลังเผชิญกับภัยแล้ง ซึ่งส่อเค้าว่าจะ “หนักหนาสาหัสกว่าปีที่ผ่านมา”

จึงประกาศจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งขึ้นมา จัดส่งรถบรรทุกน้ำและจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำให้กับหมู่บ้านราว 4,120 หมู่บ้านใน 80 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดทางเหนือ อีสาน ภาคกลางตอนบนและจังหวัดทางตะวันตกของประเทศ

ประกาศจัดทำบ่อบาดาล 520 บ่อ ซึ่งรวมทั้ง 85 บ่อที่มหาสารคามเพียงจังหวัดเดียว

กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า ไทยอาจเผชิญหน้ากับสถานการณ์แล้งจัดที่หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 40 ปีในราววันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

 

สถานการณ์ภัยแล้งถูกกลบไปจากความสนใจของคนไทยไปชั่วขณะในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่กระนั้นก็ยังมีตัวเลขล่าสุดเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ แสดงให้เห็นว่าวิกฤตภัยแล้งไม่ได้บรรเทาเบาบางลงตามไปด้วย แต่ขยายวงครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นถึง 21 จังหวัด ทางเหนือ อีสาน และภาคกลางของประเทศ ถูกประกาศเป็นเขตวิกฤตภัยแล้ง รวมทั้งสิ้น 5,809 หมู่บ้าน ใน 67 กิ่งอำเภอ กับ 127 อำเภอ

สถานการณ์เหล่านั้น ทำให้ผมให้ความสนใจกับข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ของสหรัฐอเมริกามากเป็นพิเศษ เมื่อนาซ่าเผยแพร่แผนที่ผ่านดาวเทียมที่ถูกกำหนดให้ตรวจวัด “ปริมาณน้ำ” ในดินออกมาเป็นครั้งแรก

แผนที่ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เป็นผลงานของดาวเทียมเพื่อภารกิจ Soil Moisture Active Passive หรือ SMAP ของสำนักงาน Earth Obervatory ในสังกัดนาซ่าโดยเฉพาะ

เป็นการตรวจวัดปริมาณน้ำหรือความชื้นในอาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เรื่อยมาจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง

แล้วนำมาแสดงให้เห็นสภาวะความชื้นในดินว่าอยู่สูงหรือต่ำกว่าค่าปกติ

ถ้าดูแผนที่ซึ่งตีพิมพ์ประกอบนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าพื้นที่สีขาวนั้นคือพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำในดินปกติ (มีค่าเป็น 0)

ส่วนที่แสดงเป็นสีเขียวจางไปจนถึงเขียวเข้มนั้นแสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำในดินบริเวณดังกล่าวมีมากกว่าระดับปกติ (สูงสุดคือ 2)

ส่วนสีน้ำตาลจากจางไปสู่น้ำตาลเข้มนั้นคือปริมาณน้ำหรือความชื้นในดินที่ต่ำกว่าระดับปกติ สูงที่สุดคือสีน้ำตาลเข้ม เท่ากับ -2

ไม่ปรากฏสีเขียวไม่ว่าในระดับใดอยู่บนอาณาบริเวณที่เป็นประเทศไทยในแผนที่ของนาซ่าเลยนะครับ ที่เห็นกันเป็นสีน้ำตาลจากอ่อนไปหาเข้มนั้นคือสภาพพื้นที่ซึ่งมีความชื้นในดินต่ำกว่าปกติ เพราะภาวะแล้งจัดที่สุดในรอบ 40 ปี สืบเนื่องจากภาวะฝนตกน้อยกว่าปกติ และหน้าฝนหรือหน้ามรสุมมีระยะเวลาสั้นกว่าปกติ

เนื่องจากหน้าฝนมาช้ากว่าปกติ 2 สัปดาห์และหมดฝนเร็วกว่าปกติถึง 3 สัปดาห์

 

ภาพแผนที่แสดงความชื้นในดินของนาซ่าที่ว่านี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังครอบงำเข้าหาคนไทยหลายล้านคนในอีกไม่ช้าไม่นาน เพราะคนเหล่านี้คือบรรดาเกษตรกรที่ทำมาหากินแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา

ในรายงานของไอบีไทม์ส ที่จัดทำประกอบแผนที่ของนาซ่าดังกล่าวนี้บอกเอาไว้ว่า ผลผลิตทางการเกษตรของไทยย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งนี้ไปด้วย ที่น่าวิตกที่สุดเป็นผลผลิตอ้อยสำหรับใช้ผลิตน้ำตาล เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งใน “ผู้ส่งออกน้ำตาล” รายใหญ่ที่เป็นหลักของโลก

ภัยแล้งครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ผลผลิตน้ำตาลของประเทศลดลงราว 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นไปอีกในอนาคต

แม้ว่าจนถึงขณะนี้จะแพงขึ้นมา 35 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ นี่เพิ่งจะผ่านเข้าหน้าแล้งมาเพียง 2 เดือน ระดับน้ำในแหล่งน้ำสำรองยังต่ำขนาดนี้ ความชื้นในดินยังต่ำขนาดนี้

อีกหลายเดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไรกัน?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0