โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เทศมองไทย : ความผิดพลาด ของ "พีต้า"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 14 ก.ค. 2563 เวลา 08.37 น. • เผยแพร่ 14 ก.ค. 2563 เวลา 08.37 น.
เทศมองไทย 2082

ชื่อเต็มๆ ของ “พีต้า” คือ “พีเพิล ฟอร์ เอธิคัล ทรีตเมนต์ ออฟ แอนิมอล” แปลเป็นไทยได้ความว่า กลุ่ม “ประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม” กลายเป็นข่าวคราวในเมืองไทย เพราะเพิ่งจัดทำรายงานว่าด้วยการบังคับลิงให้ปีนขึ้นเก็บมะพร้าว ล่ามโซ่ “เยี่ยงทาส” จนเกิดปฏิกิริยาขึ้นทั่วหัวระแหงของประเทศไทยในเวลานี้

เหตุที่เกิดปฏิกิริยาในทางลบขึ้นต่อพีต้าในประเทศไทยอย่างที่เห็นกันนั้น เพราะรายงานที่พีต้าอ้างว่าเป็นผลงานการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ของตนเองในสวนมะพร้าว 8 แห่งในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้นั้น มีความผิดพลาดในข้อเท็จจริงและข้อคิดที่ไม่เหมาะไม่ควรอยู่หลายจุดนั่นเอง

คนที่รู้เรื่องดี ล้วนยืนยันตรงกันว่า ถ้าหากไม่มี “วาระซ่อนเร้น” ใดๆ ความผิดพลาดบกพร่องที่ปรากฏอยู่ในรายงานของพีต้าชิ้นนี้ ก็คงเกิดจากความ “ไม่รู้” เป็นสำคัญ

รายงานชิ้นนี้จึง “ผิวเผิน” และเต็มไปด้วย “อารมณ์ความรู้สึก” มากกว่า “ข้อเท็จจริง”

จนไม่ควรเรียกว่าเป็นรายงานสืบสวนสอบสวนด้วยซ้ำไป

 

ตัวอย่างที่เห็นกันชัดเจนประการหนึ่งก็คือ ข้ออ้างที่บอกว่า “ลิงเหล่านี้ถูกพรากมาจากบ้านและครอบครัวตั้งแต่ยังเป็นทารกโดยผิดกฎหมาย”

ข้อเท็จจริงก็คือ ลิงกังนั้น “เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535” มา 17 ปีแล้วครับ ใครขืนทำอย่างนั้น ไม่เพียงนำมาเลี้ยงไม่ได้เท่านั้น ยังจะถูกจับกุมฐานมีสัตว์ป่าอนุรักษ์อยู่ในครอบครองด้วยอีกต่างหาก

ลิงกังที่นำมาใช้ฝึกกันนั้นเป็นลิงเลี้ยงครับ เกิดจากพ่อลิงแม่ลิงที่อยู่กับคนนี่แหละ ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ-แม่ แล้วก็ฝึกการปีนและเก็บมะพร้าวไปด้วย เหมือนนักเรียนไปโรงเรียน

ลิงเลี้ยงเหล่านี้นับวันจะมีน้อยลง เพราะมีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวน้อยลงทุกที หลงเหลือสวนมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บอยู่ไม่มากหรอกครับ เป็นสวนเก่าที่ปลูกมะพร้าวพันธุ์ดั้งเดิม ต้นสูงๆ นั่นแหละครับ

ลิงเก็บมะพร้าวที่หลงเหลืออยู่ ทำงานเก็บมะพร้าวได้วันละมากที่สุดก็แค่ 200-300 ลูก ไม่ใช่วันละเป็นพันอย่างที่พีต้านำมาอ้างเอาไว้

 

ที่พีต้าอ้าง “แหล่งข่าวในอุตสาหกรรม (มะพร้าว)” บอกเอาไว้ว่า “มะพร้าวส่วนใหญ่ที่มาจากประเทศไทยเป็นมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บ” จึงเป็นเรื่องที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง

อันที่จริง พีต้าก็สรุปเอาไว้ชัดเจนมากตอนท้ายรายงานว่า “การใช้คนเก็บ หรือใช้อุปกรณ์เช่นรถยกไฮดรอลิกเก็บมะพร้าว” ทำให้การเก็บมะพร้าวออกมาดี มีประสิทธิภาพมากกว่าใช้ลิงเก็บมากนัก “เป็นเพราะคนรู้ว่าลูกไหนแก่พอเหมาะ ลูกไหนยังอ่อนอยู่” และการเก็บมะพร้าวโดยใช้คนกับเครื่องจักรกลนั้น ยังทำให้ได้มะพร้าวที่ดี ไม่มีรอยแตกช้ำด้วยอีกต่างหาก

ก็เพราะเหตุผลเหล่านี้นี่แหละครับ ที่ทำให้สวนมะพร้าว ทั้งพัฒนาสายพันธุ์ให้ต้นเตี้ยลงให้เหมาะกับการใช้แรงงานคนสำหรับจัดเก็บ แล้วก็เก็บกันทั้งทะลาย ไม่ได้เก็บกันเป็นลูกๆ เหมือนใช้ลิงเก็บ เร็วกว่า ดีกว่า ลิงเลยหมดอาชีพไปโดยปริยาย

อุตสาหกรรมมะพร้าว ใช้มะพร้าวปีหนึ่งนับล้านๆ ตัน ขืนยังใช้ลิงที่หลงเหลืออยู่ไม่มาก เก็บไม่ทันกินเขาหรอก

ทั้งๆ ที่รู้ดี ทำไมพีต้าไม่คิดจะสอบถาม สืบหาข้อเท็จจริงต่อ? ประเด็นนี้ชวนให้คิดมากครับ

 

เอ็ดวิน วีก นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า จากมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย บอกกับผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์สเกี่ยวกับเรื่องเก็บมะพร้าวไว้ว่า ตั้งแต่มีการทำสวนมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมสำหรับส่งออกไปยังสหภาพยุโรป การใช้ลิงเก็บก็ลดน้อยลงมากแล้ว

“ผมเชื่อจริงๆ ว่ายังคงมีคนใช้ลิงเก็บมะพร้าวอยู่ แต่ในช่วงอย่างน้อย 15 ปีที่ผ่านมา มันลดลงในอัตราที่ใหญ่โตมากแล้ว”

ทีมงานสอบสวนของพีต้าบอกว่า สอบถามจาก “แรงงานในสวน” ก็ได้รับรู้ว่า มะพร้าวที่ลิงเก็บได้ส่งขายให้เพื่อผลิตกะทิสำเร็จรูป “อร่อยดี” แล้วก็ “ชาวเกาะ”

นึกว่าแหล่งข่าวของพีต้าจะเป็น “อินไซเดอร์” มาจากไหน ที่แท้ก็ถามจากคนสวนนี่เอง

ผมคิดอยู่ตงิดๆ ว่า กะทิสำเร็จรูปที่เป็นที่รู้จักกันดีจน “ติดปาก” คนไทยทั้งสองยี่ห้ออาจซวยไป เพราะคนรู้จักมากเท่านั้นเอง

กลายเป็นการหยิบเอาเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก ไปเป็นข้ออ้างสำหรับการแบนอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยไปซะงั้น

 

สิ่งที่ผมคิดว่าพีต้าใจดำอำมหิตกับอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยอย่างมากก็คือ ในตอนท้ายของรายงานชิ้นนี้ที่ท้าทายเอาไว้ว่า ให้ “ชาวเกาะ” กับ “อร่อยดี” ส่งหลักฐานไปพิสูจน์ ถ้าหากที่ถูกกล่าวหา “ไม่เป็นความจริง”

ผมไม่ได้เป็นห่วงบริษัทกะทิสำเร็จรูปสองบริษัทนั่นหรอกครับ เพราะเชื่อว่าข้อพิสูจน์นั้นมีอยู่จริง และสามารถพิสูจน์ให้เห็นกันได้

ที่ผมกังขาก็คือว่า ถ้าพิสูจน์ได้แล้ว พีต้าจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร?

แต่ละปีไทยส่งออกกะทิสำเร็จรูปมูลค่าสูงถึง 12.3 พันล้านบาท 8 เปอร์เซ็นต์เป็นการส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ

แล้วจู่ๆ คิดจะใช้รายงานชิ้นเดียวมาทำลายกันง่ายๆ อย่างนี้ ไม่ “ขาดจริยธรรม” มากไปหน่อยหรือครับ?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0