โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เทศมองไทย : การบินไทย ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 14 ธ.ค. 2563 เวลา 10.46 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 08.04 น.
การบินไทย-เกาหลี

กรณีที่เกิดขึ้นกับการบินไทย หรือไทย แอร์เวย์ส อินเตอร์เนชั่นแนลนั้นได้รับความสนใจจากทั่วโลก ในทางหนึ่งนั้น กรณีนี้สามารถนับเนื่องได้ว่าเป็นผลพวงอันตรายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความลำบากยุ่งยากแสนสาหัสให้กับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

ก่อนหน้าการบินไทย มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว 2 รายคือ อาเวียงกา สายการบินที่เก่าแก่ที่สุดของโลกและของภูมิภาคอเมริกาใต้ กับเวอร์จิ้น ออสเตรเลีย

ในอีกทางหนึ่ง การบินไทยเป็นสายการบินที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันในระดับโลก ชนิดที่เมื่อ “กาลครั้งหนึ่ง” เคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสายการบินที่ดีที่สุดของโลกเลยเชียว

ผมหยิบเรื่องราวที่ปีเตอร์ แจนส์เซน เขียนถึงการบินไทยเอาไว้เมื่อ 19 พฤษภาคม เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เอเชียไทม์ส ไฟแนนซ์ มาบอกกล่าวกัน ด้วยเหตุที่ว่าข้อเขียนนี้ไม่เพียงสะท้อนภาพลักษณ์ของการบินไทยในสายตาคนนอกไว้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น

ยังแจกแจงถึงที่มาของปัญหาหมักหมมเอาไว้อีกต่างหาก

 

ผมขอเริ่มจากความเห็นของลูซี่ แมตซิก ผู้อำนวยการบริหารบริษัท เอเชีย เทรลส์ คอมปะนี และวีไอพี เจ็ตส์ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมานานถึง 50 ปี ที่ระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งการบินไทยเคยเป็นหนึ่งสายการบินที่ดีที่สุดในโลก มีประสิทธิภาพสูง มีการบริหารจัดการเหมาะสมและมีคนกุมบังเหียน “ปัญหาในตอนนี้ก็คือไม่มีใครบริหารการบินไทยอย่างแท้จริงอีกแล้ว” แมตซิกระบุ

ข้อวิพากษ์อีกประการต่อการบินไทยนอกเหนือจากนั้นคือ การมี “เจ้านาย” เยอะมาก แต่หาคนที่รู้เรื่องธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมการบินได้น้อยเต็มทีในจำนวนมากๆ นั้น

แจนส์เซนบอกว่า ในสถานะรัฐวิสาหกิจ การบินไทย “ขึ้นชื่อลือชา” มากในเรื่องของการแทรกแซงทางการเมือง ตั้งแต่อำนาจในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ที่ “โดยธรรมเนียม” แล้ว มักตกอยู่กับกระทรวงคมนาคมและกองทัพอากาศ

ยกตัวอย่างไว้ด้วยว่า บอร์ดชุดปัจจุบัน มีพลเรือน 5 คน มีพลอากาศเอกอยู่ด้วยถึง 3 นาย

แมตซิกบอกว่า กองทัพอากาศไม่เคยต้องทำกำไร ดังนั้น คนจากกองทัพอากาศก็เลยไม่กังวลสนใจกับการขาดทุน

แล้วก็ยกตัวเลขมาแสดงไว้ให้เห็น ปี 2017 ขาดทุน 2,110 ล้านบาท, ปี 2018 ขาดทุน 11,600 ล้านบาท ปี 2019 ขาดทุน 12,000 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วย ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2020 ระหว่างตุลาคมปีที่แล้วจนถึงมีนาคมปีนี้ ขาดทุนไปแล้ว 18,000 ล้านบาท

บรรยง พงษ์พานิช ซีอีโอของกลุ่มเกียรตินาคิน ภัทระ ไฟแนนเชียลบอกว่า “เมื่อปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากถึง 40 ล้านคน สายการบินทุกสายได้กำไร ยกเว้นการบินไทย ซึ่งขาดทุน 12,000 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19”

สิ่งที่บรรยงต้องการเห็นก็คือ การเป็นมืออาชีพ เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการในรูปแบบที่เป็นเอกชนมากกว่าที่ผ่านมา และเชื่อว่า ภายใต้กระบวนการขอความคุ้มครองเพื่อฟื้นฟูกิจการจากศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ของการบินไทยสามารถบังคับให้การบินไทยทำงานเป็นเอกชนมืออาชีพได้มากขึ้นกว่าเดิม

 

ปีเตอร์ แจนส์เซน ไม่ลืมตั้งข้อสังเกตเรื่องคอร์รัปชั่นในองค์กรของการบินไทย โดยยกตัวอย่างกรณี “สำนักงานคดีฉ้อฉลร้ายแรง” ของประเทศอังกฤษ ที่ใช้เวลาสอบสวนนาน 4 ปีแล้วออกมาเปิดโปงเมื่อมกราคม 2017 ว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ของอังกฤษได้จ่ายสินบนให้กับทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทยหลายคนเพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายเครื่องยนต์ ที 800 ระหว่างปี 1991 จนถึง 2005

แจนส์เซนบอกว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินคดี หรือสอบสวนสืบสวนต่อเนื่องในไทย

อีกตัวอย่างก็คือ การจัดซื้อเครื่องบินที่สวาปามน้ำมันมหาศาลอย่างแอร์บัส เอ 340-500 2 ลำ ที่จนถึงเวลานี้ยังคงจอดทิ้งเอาไว้ ใช้ก็ไม่ได้ใช้ ขายก็ยังไม่ได้ขาย

เขาบอกว่า ในบรรดารัฐวิสาหกิจ 58 แห่งของไทย การบินไทยตกเป็นหนี้เป็นสินมากที่สุด แต่ที่เหลือก็ใช่ว่าไม่เคยจะตกอยู่ในภาวะท้าทายหนักหนาสาหัสอย่างที่การบินไทยเผชิญอยู่

“มีความหวังกันว่า กรณีการบินไทยอาจนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยไปทั้งหมด ทำให้ทุกอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยจำเป็นต้องรีดไขมันทิ้งทุกหยดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้นี้” แจนส์เซนสรุปเอาไว้อย่างนั้น

ในฐานะของผู้ใช้บริการการบินไทยมาเนิ่นนาน ได้แต่ขอให้การฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

กลายเป็นแบบอย่างที่ดีของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ของประเทศต่อไป

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0