โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เทศมองไทย : การท่องเที่ยวอาเซียน ในยุคหลังโควิด-19

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 07.41 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 07.41 น.
เทศมองไทย 2076

โควิด-19 แม้จะเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลก แต่ส่งผลกระทบต่อแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงมากเช่นไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งมวล ย่อมได้รับผลกระทบสูงมากไปด้วย เมื่อโควิดทำเอาการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้วูบลงหนักหนาสาหัสถึง 36 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี-2 ปีที่ผ่านมา

วิกฤตโควิดกลายเป็นคำถามหลายคำถามและคำตอบหลายคำตอบมากสำหรับการท่องเที่ยว ไม่จำเพาะแต่ไทย แต่ครอบคลุมไปทั่วทั้งอาเซียน

“จอห์น เพนนิงตัน” แห่ง “อาเซียนทูเดย์” พูดถึงเรื่องนี้ไว้หลายแง่มุมมากเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

เขาชี้ให้เห็นว่า การท่องเที่ยวอาเซียน ถึงจะได้รับผลกระทบหนักและใหญ่หลวงอย่างไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยมีประสบการณ์กับปัญหาในท่วงทำนองเดียวกันมาในอดีต

อินโดนีเซียเคยเผชิญปัญหาก่อการร้ายลอบวางระเบิดที่ลอมบอก ภาคการท่องเที่ยวที่นั่นใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะฟื้นฟูความมั่นใจของนักท่องเที่ยวคืนมาได้เมื่อปี 2018

ย้อนหลังไปไกลกว่านั้น ไทยและอินโดนีเซียก็เคยใช้เวลานานนับปีๆ เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวของตัวเองจากสึนามิถล่มในปี 2004

คำถามคือ การท่องเที่ยวในย่านอาเซียนจะฟื้นตัวได้เมื่อใด?

 

คําตอบแรก บริษัทที่ปรึกษาและข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอย่าง “ทัวริสต์อีโคโนมิกส์” เชื่อว่าจะไม่ฟื้นคืนสู่ระดับปกติจนกว่าจะถึงปี 2023

คำตอบถัดมานั้น เพนนิงตันบอกว่า นักเศรษฐศาสตร์อินโดนีเซียหลายคนเชื่อว่า ภาวะแห้งแล้งนักท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ปี

ถ้าคำนึงถึงว่า ในแต่ละประเทศอาเซียน การท่องเที่ยวก่อให้เกิดการจ้างงานมหาศาล คำตอบทั้งสองนี้ก็ถือเป็นข่าวร้ายดีๆ นี่เอง

ไม่มีข่าวดีบ้างหรือ? ก็มีอยู่บ้าง อย่างเช่นผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ในหมู่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่ง 53 เปอร์เซ็นต์ยืนยันว่า ต้องการออกไปเที่ยวต่างประเทศในปีนี้

ในจำนวน 35 เปอร์เซ็นต์ข้างต้นนี้ มีอยู่ถึง 71 เปอร์เซ็นต์ที่ระบุชัดเจนว่า ประเทศไทยคือเป้าหมายลำดับแรก

แล้วการท่องเที่ยว-นักท่องเที่ยวยุคหลังโควิดจะออกมาหน้าตาอย่างไรกัน?

 

คําตอบก็คือ แตกต่างออกไปมากอย่างยิ่ง เพนนิงตันบอกว่า ตัวนักท่องเที่ยวที่มาถึงจะเยาว์วัยลง คนหนุ่มสาวจะกลายเป็นหัวหอกในการท่องเที่ยวยุคหลังโควิด เพราะ “ความกลัว” จะกลายเป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจผู้สูงอายุทั้งหลาย โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว

เครื่องบินโดยสารก็ดี โรงแรมที่พักและสถานบริการนักท่องเที่ยวอื่นๆ ทั้งหลาย จะยัง “จำเป็นต้อง” คงมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างกัน พร้อมทั้งมาตรการรักษาสุขอนามัยอยู่ต่อไป

ประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว “จำเป็นต้องมีแผนรองรับในการรักษาเยียวยานักท่องเที่ยวถ้าหากเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา”

เพนนิงตันชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมี “ต้นทุน” ทั้งสิ้น

 

ตัวอย่างเช่น สายการบินจำเป็นต้องบินด้วยผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของความจุ จึงจะ “คุ้มทุน” หากการรักษาระยะห่างระหว่างกัน หมายถึงว่า สายการบินไม่สามารถบินเช่นนั้นได้ ผลก็คือ ราคาตั๋วต่อที่นั่งก็จะต้องสูงขึ้น หรือไม่ก็จำกัดเที่ยวบินลง

โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว อาจจำเป็นต้องทำความสะอาดเพิ่มขึ้น บ่อยขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพื่อการนี้เพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้างเหล่านั้นย่อมเป็นต้นทุนซึ่งอาจถูกส่งผ่านให้กับนักท่องเที่ยวในรูปของการขึ้นค่าที่พัก เป็นต้น

หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ยังไม่คาดหมายนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่เริ่มรณรงค์การท่องเที่ยวภายในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก

มาเลเซียเตรียมการโปรโมตการท่องเที่ยวในประเทศตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป แม้ว่าตอนนี้ยังไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้อยู่หมัดก็ตาม

ฟิลิปปินส์ก็เตรียมการพร้อมสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อนอื่น ผ่าน “การตลาดแบบกำหนดเป้าที่มีประสิทธิภาพ” คือคำยืนยันของเบอร์นาเดตเต โรมูโล-ปูยัต รัฐมนตรีท่องเที่ยวของประเทศ

ในขณะที่ไทยเรา เพนนิงตันบอกว่า เตรียมแผนออกใบรับรองด้านสุขอนามัยให้กับโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า มีการบริหารจัดการถึงระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัย

ไม่งั้นรับนักท่องเที่ยวไม่ได้

 

คําถามสุดท้ายของเพนนิงตันคือ ความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเป็น “สิ่งจำเป็น” สำหรับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

คำตอบก็คือ มีข้อบ่งชี้ถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ยกระดับเพิ่มขึ้นในวิกฤตโควิด “บนพื้นฐานของความจำเป็นมากกว่าเป็นการเลือกที่จะทำ”

ดังนั้น อาจเป็นไปได้ที่ภาคการท่องเที่ยวทั่วอาเซียนจะร่วมมือกันเพื่อการนี้ กำหนดและปรับตัวเข้ากับเทรนด์ใหม่

เพื่อรังสรรค์แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดแล้วดำเนินการตามนั้นครับ

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0