โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เทรนด์ยุคใหม่ “แรงงานต้องเปลี่ยน องค์กรต้องปรับ”

Money2Know

เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 09.48 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เทรนด์ยุคใหม่ “แรงงานต้องเปลี่ยน องค์กรต้องปรับ”

พฤติกรรมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยส่วนใหญ่อยากทำงานอิสระมากกว่างานประจำแม้จะได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าก็ตาม ขณะที่องค์กรใหญ่อย่าง SCG พยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้สอดรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และรีสกิลให้แรงงานเก่า เพื่อเป็นการรักษาพนักงานเอาไว้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จัดเสวนาในหัวข้อ”ประเทศไทยจะรับมืออย่างไรกับแรงงานที่หายไป” ภายในวงเสวนาประกอบด้วย นพ.สุรเดช วลีอิทธิ รองปลัดกระทรวงแรงงาน, นายฑวิณฑร์ สมงาม ผู้อำนวยการ นักงานการบุคคลกลาง บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย หรือ SCG และ นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระบุว่าในปี 2558 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็น 16% ของประชากรทั้งประเทศ และยังคาดการณ์ว่าในอีก 80 ปีข้างหน้าจำนวนสัดส่วนผู้สูงอายุอาจพึ่งสูงถึง 52% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน สสช. ยังเก็บข้อมูลจากประชากรวัยเจริญพันธ์ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 34 ล้านคนในประเทศไทย พบว่าคนจำนวนดังกล่าวมีอัตราเป็นโสด 39% หย่าร้าง 6.92% และสมรส 53.96% ซึ่งในจำนวนของกลุ่มที่สมรสพบว่ามีคู่สมรสที่มีลูกหลังแต่งงานในอัตรา 50/50 นั่นหมายความว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะการเกิดใหม่ของประชากรชะลอตัว และผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นปัญหาส่งตรงถึงตลาดแรงงานไทยนั่นเอง

นพ.สุรเดช กล่าวว่าในสถานการณ์ปัจจุบันคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เข้าทำงานช้าลง ขณะที่คนมีอายุ 45 ปีขึ้นไปกลับออกจากงานเยอะขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามยุคสมัย โดยคนในยุคนี้ไม่นิยมทำงานประจำ ส่วนใหญ่ชอบงานอิสระที่เป็นเจ้านายตัวเองไม่มีหัวหน้าถึงแม้ว่าค่าตอบแทนจะน้อยกว่าการเป็นพนักงานประจำก็ตาม

อีกหนึ่งปัญหาที่ตลาดแรงงานกำลังเผชิญนั่นคือความต้องการของสถานประกอบการ กับแรงงานมักไม่ตรงกัน และยังมีปัญหาการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบกับกับงานเฉพาะด้านเท่านั้น

ขณะเดียวกันแรงงานไทยในภาคตะวันออกในขณะนี้ก็ได้มีการพัฒนาฝีมือเพื่อรองรับโครงการ EEC แต่เชื่อว่าปริมาณอาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยกรมแรงงานพยายามร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนในการนำเครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาให้ความรู้กับแรงงานไทย เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารให้ทันยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพของ SMEs โดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องที่ยังขาดประสิทธิภาพ ในส่วนของแรงงาน กระทรวงแรงงานก็ได้มีการเสนอให้มีการจ้างงานเสริมในบางเวลา ซึ่งก็จะมีการออกมาตรการช่วยปรับขึ้นค่าแรงต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้อาจมีมาตรการเพิ่มระยะเวลาเกษียณในแต่ละสาขาอาชีพออกไปตามความเหมาะสม โดยจะมีเบี้ยประกันดูแลแรงงานที่จ่ายประกันสังคมหลังเกษียณด้วย ในขณะที่แรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกัน กระทรวงแรงงานก็มีทางเลือกให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกของประกันสังคม หรือ กอช. เพื่อที่จะได้รับสิทธิในการดูแลจากรัฐบาลเหมือนเช่นแรงงานในระบบด้วย

ขณะที่หลายฝ่ายกำลังพูดถึงการเร่งเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศ เพื่อที่จะทำให้ตลาดแรงงานไทยมีศักยภาพในอนาคต แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้การเกิดเพิ่มขึ้นตามที่คาดหวังไว้นั้น ตนเองคิดว่าเป็นเรื่องของนโยบายที่ยังไม่สามารถจูงใจประชาชนได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องออกมาตรการที่สร้างความจูงใจมากกว่านี้

ด้าน นายฑวิณฑร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน SCG มีพนักงานทั้งหมดกว่า 5 หมื่นคน ที่ทำงานอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งใน SCG มีพนักงานที่อายุเยอะเป็นจำนวนมาก โดยจากค่าเฉลี่ย 5 ปีหลังมานี้ นับว่า SCG รับพนักงานใหม่น้อยลงทุกปี

สาเหตุหลักก็คือเทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์หลายอย่าง จึงไม่จำเป็นต้องรับพนักงานเพิ่มเหมือนสมัยก่อนแล้ว ขณะที่พนักงานเก่าที่ยังอยู่ในองค์กรก็มีตวามท้าทายที่ต้องปรับตัวตามเทคโนโลยี แต่บางคนก็ไม่สู้และยอมลาออกไปเป็นจำนวนไม่น้อย

ความยากของ SCG คือหาพนักงานใหม่ที่ตรงกับงานยากมากขึ้น จึงจำเป็นต้องไปใช้แรงงานต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาทำงานแทน ซึ่ง SCG มองว่า สิ่งสำคัญของพนักงานในยุคนี้คือการรีสกิล และสามารถทำงานอื่นทดแทนงานประจำของตัวเองได้ โดย SCG ก็มักใช้วิธีนี้กับพนักงานของตัวเอง เพื่อที่จะรักษาพนักงานเอาไว้จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพราะ SCG มีมาตรการที่ต้องการดูแลพนักงานให้ถึงที่สุดและไม่ต้องการปลดใครออกเพราะจะสร้างภาระให้กับสังคม

ทั้งนี้ SCG ดูแลพนักงานในองค์กรมาโดยตลอด แต่อีกด้านก็เป็นผลเสียสำหรับองค์กรเช่นกัน เพราะพนักงานบางคนอาจย่ามใจเพราะคิดว่าอย่างไรก็ได้อยู่ต่อ

“SCG พยายามปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรมาตลอด เช่น ไม่ต้องให้พนักงานบางแผนกเข้าทำงานที่สำนักงานทุกวัน เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นมีเวลาไปทำธุรกิจอย่างอื่นเป็นของตัวเองบ้าง เนื่องจากปัญหาที่ SCG พบบ่อยที่สุดสำหรับพนักงานอายุน้อยคือมักจะมาขอลาออกโดยไม่มีเหตุผลที่น่าพึงพอใจ เช่นเบื่องาน โดยที่ยังไม่มีแผนสำรองว่าจะไปทำอะไรต่อ นั่นเป็นปัญหาที่ SCG ไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะจะส่งผลกระทบต่อสังคมด้วยเช่นกัน”

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ SCG พยายามปรับตัวให้ทันกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนรรุ่นใหม่ในสมัยปัจจุบัน ขณะที่คนรุ่นเก่าที่อยู่กับองค์กรมานาน SCG พยายามให้พนักงานเหล่านั้นรีสกิลของตนเอง เพราะ SCG ไม่ได้ขายปูนอย่างเดียวเหมือนยุคก่อนหน้านี้แล้ว แต่หันมาขายระบบ Solution และต้องอาศัยช่องทาง แพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น

การทำรีสกิลให้กับพนักงาน SCG ใช้ระบบ Ai เข้ามาตรวจจับพนักงานเป็นรายบุคคลว่าแต่ละคนมีความถนัดด้านใด จึงจะเลือกงานใหม่ที่เหมาะสมให้ แต่ก็ยังมีความน่าเป็นห่วงสำหรับพนักงานบางคนที่เรียนรู้ช้า และใจไม่สู้กับการเรียนรู้สื่งใหม่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการทำรีสกิลไม่สามารถทำได้ 100%

แต่กระนั้น SCG ก็พยายามหาหลักสูตรใหม่ให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถของพนักงาน ซึ่งส่วนตัวมองว่าการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันทั้งตัวพนักงานและองค์กร

นพ.บัญชา หล่นความเห็นทิ้งท้ายว่า“ในระยะยาวที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานจะตกงานมากขึ้น เพราะในอนาคตตลาดจะต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง ขณะเดียวกันพบว่าเด็กประถมในบางพื้นที่มีระดับ IQ ไม่ถึง 100 เสียด้วยซ้ำ”

ทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยยังด้อยพัฒนาในเรื่องของศักยภาพของเด้กในประเทศอยู่ไม่น้อย ซึ่งจะส่งผลระยะยาวไปถึงตลาดแรงงานที่จะได้แรงงานที่ทักษะน้อยเข้าไปทำงาน และในอนาคตเด็กเหล่านี้ก็อาจตกงานจากความต้องการของนายจ้างที่ต้องการทักษะสูงขึ้นโดยที่คนเหล่านี้ไม่สามารถยกระดับความสามารถของตัวเองตามที่ตลาดต้องการได้

ทั้งนี้ จำนวนผู้สูงอายุในประเทศก็เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเฉลี่ยปีละ 3 แสนคน ซึ่งเป็นอีก 1 ปัญหาที่ทำให้แรงงานขาดแคลน โดยปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่กำลังกระทบกับตลาดแรงงานอย่างรุนแรง และกำลังรอการแก้ไขด้วยกันทั้งสิ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0