โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"เทรดวอร์"พ่นพิษ!แรงงานน้ำตาตกในรง.จ่อเลิกจ้างอีก

เดลินิวส์

อัพเดต 23 ก.ย 2562 เวลา 15.34 น. • เผยแพร่ 23 ก.ย 2562 เวลา 11.10 น. • Dailynews
ชี้สงครามการค้าสหรัฐ – จีนออกฤทธิ์พ่นพิษแรง โรงงานจ่อเลิกจ้างแรงงานอีกเพียบ ทั้งพื้นที่สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยองระส่ำ หลังยอดออเดอร์ตก ได้รับพิษสงครามการค้า แถมเจอศึกหนักโดนบาทแข็งเล่นงานอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดสถานการณ์โรงงานใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จ.สมุทรสาคร บริษัท เอเพ็กเซอร์คิต (ไทยแลนด์) ผู้ประกอบกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีน เลิกจ้างพนักงาน 217 ราย  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานที่อายุงานยังไม่ครบ 120 วัน  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ สร้างความกังวลให้กับแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก หวั่นเกรงว่า จะถูกเลิกจ้างกะทันหันลักษณะเดียวกับบริษัท เอเพ็กเซอร์คิต (ไทยแลนด์) อีก

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการติดตามสถานการณ์สงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐฯและจีน ของส.อ.ท. เปิดเผยว่า  สถานการณ์การเลิกจ้างแรงงานลักษณะเดียวกับบริษัท เอเพ็กเซอร์คิต (ไทยแลนด์) มีแนวโน้มจะเห็นได้อีก โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ไปยังจีน เพื่อนำไปประกอบแล้วส่งต่อให้สหรัฐฯ ซึ่งมีหลายแห่งในพื้นที่สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้ยอดคำสั่งซื้อหายไปเยอะมาก ประกอบกับค่าเงินบาทก็แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ยิ่งกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันเข้าไปอีก ทางส.อ.ท.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป ที่สำคัญตอนนี้ไม่อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรง อาจยิ่งส่งผลกระทบผู้ประกอบการเข้าไปอีก

“สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับบริษัท เอเพ็กเซอร์คิต(ไทยแลนด์) ผู้ประกอบกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อผลิตและส่งไปยังสหรัฐฯ จึงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จีน - สหรัฐ ทำให้ยอดออเดอร์ลดลง จึงต้องปรับตัวโดยการเลิกจ้างเริ่มจากลูกจ้างที่อยู่ในกลุ่มช่วงทดลองงาน (โปร) 4 เดือนตามกฎหมายแรงงาน เพราะไม่ต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น จึงต้องเลิกจ้างกลุ่มนี้ก่อน ส่วนพนักงานประจำ ยังไม่เลิกจ้าง เพราะเห็นว่า สถานการณ์ต่อไป หากทางจีน และสหรัฐฯ เจรจาต่อรองกันได้ สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติ ยอดคำสั่งซื้อจะกลับเข้ามา ถ้าขาดแรงงาน ก็จะกลับมารับใหม่ได้”

สำหรับมาตรการการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จะเริ่มจากเบา ไปหนัก เช่น เริ่มจากลดโอที ลดชั่วโมงการทำงานลง ลดแรงงานกลุ่มคนที่อยู่โปร ทำงานไม่ถึง 4 เดือน หากสถานการณ์กลับมาดีขึ้น ก็จะเปิดรับสมัครใหม่ ยกระดับขึ้นมาก็จะลดกำลังแรงงานที่ใช้เทคโนโลยีแทนได้ ถึงหนักสุด คือ ปิดโรงงานบางแห่ง หรือปิดสาขาที่ไม่จำเป็น และถ้ายังมีปัญหาอีกก็ปิดโรงงาน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0