โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยป้องกันการเสี่ยงสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้จริง?

Rabbit Today

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 04.26 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 04.26 น. • ธีรภัทร์ เตชะเอื้อย
เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยป้องกันการเสี่ยงสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้จริง?

สังคมผู้สูงอายุนับวันยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ย่อมมีผลกับสมอง โดยเฉพาะโรคสมองเสื่อมตามอายุ แล้วผู้สูงอายุในยุค 4.0 นี้ จะมีเทคโนโลยีอะไรช่วยให้ห่างไกลโรค ‘สมองเสื่อม’ ในผู้สูงอายุ ได้บ้างมั้ยนะ

เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการรักษามากมายกระจายตัวอย่างทั่วถึง และการให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุที่หลายฝ่ายต่างตื่นตัวมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว หรือทางภาครัฐก็ดี และที่สำคัญเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่เพียงแค่รักษาผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว แต่สามารถป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมอีกด้วย  

โรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นโรคที่ปกติมากๆ ในทางกายภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอวัยวะที่ผ่านการใช้งานมานานย่อมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกันกับสมอง แต่ก็มีหลายวิธีที่ช่วยชะลออาการสมองเสื่อม หรือป้องกันอาการสมองเสื่อมได้อย่างดีเลยทีเดียว

เทคโนโลยีช่วยลดอาการเสี่ยงสมองเสื่อมยังไงกันนะ?

เทคโนโลยีของเกมนี่ไงใครว่าเกมไม่มีประโยชน์ นอกจากช่วยคลายเครียดได้แล้ว ยังช่วยลดอาการสมองเสื่อมได้อีกต่างหาก ไม่เชื่อลองถามคุณยาย ฮามาโกะ โมริ ดูก็ได้ คุณยายเป็นชาวญี่ปุ่นวัย 89 ปี คุณยายบอกว่าเล่นเกมมานานตลอด 40 ปี เล่นมาตั้งแต่เกมตลับ เกมคอนโซล เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ฮั่นแน่! เกิดไม่ทันน่ะสิหลายเอ๋ย

คุณยาย ฮามาโกะ ยังบอกอีกว่าการเล่นเกมนั้นเหมือนได้เกิดใหม่ เพราะแน่นอนว่าการเล่นเกมต้องใช้การฝึกฝนและการเรียนรู้อยู่ตลอด ในขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นไปกับมัน ทำให้ร่างกายและสมองทำงานอยู่ตลอดเวลาเปรียบเสมือนการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการดำเนินชีวิตของคุณยาย ฮามาโกะ ที่เป็นเคล็ดลับทำให้สุขภาพกายและใจแข็งแรงจนมีอายุยืนยาว

ฮามาโกะ โมริ เล่นเกมช่วยป้องกันการเสี่ยงสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ฮามาโกะ โมริ เล่นเกมช่วยป้องกันการเสี่ยงสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

หากพูดถึงเทคโนโลยีสุดล้ำในการเล่นเกมยุคปัจจุบัน VR (Virtual Reality) นี่ละถือว่าสุดในด้านอารมณ์และความรู้สึกจริงๆ แต่ใครจะไปนึกว่า VR ถูกนำมาประยุกต์เป็นทางเลือกในการช่วยรักษา ฟื้นฟู และป้องกันอาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ เพราะเนื่องจากการถูกกระตุ้นด้วยภาพและเสียงที่สมจริงทำให้ความทรงจำบางส่วนกลับมาฉายเป็นภาพให้ได้เห็นอีกครั้ง

โรงพยาบาลประสาทแห่งหนึ่งในเมืองนอร์ทแฮมพ์ตัน (Northampton) ประเทศอังกฤษ ได้ทดลองใช้ VR ที่จำลองการขี่มอเตอร์ไซค์แบบมองได้ 360 องศา กับคุณปู่ความจำเสื่อมคนหนึ่ง ปรากฏว่าคุณปู่คนนี้จำได้ว่าตัวเองเคยเป็นสิงห์ 2 ล้อมาก่อน และยังสามารถบอกกับทีมแพทย์ได้อีกว่าเคยถูกตำรวจจับ เพราะซิ่งเร็วเกินกำหนดนั่นเอง แหม่…คุณปู่! ตอนรุ่นๆ ก็ไม่เบาเหมือนกันนะเนี่ย

จาก 2 กรณีนี้ทำให้เห็นอะไรบางอย่างในกลไกการทำงานของสมองอย่างชัดเจน คือถ้าสมองไม่ถูกกระตุ้นหรือเรียกอีกอย่างว่าออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ท้ายที่สุดแล้วมันก็จะทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ และเมื่อบวกกับอายุที่มากขึ้นของมัน สุดท้ายก็หนีสัจธรรมไม่พ้น ต้องเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาอยู่ดี แต่จะดีกว่าถ้ายังคงรักษาให้มันทำงานอยู่ถึงแม้เครื่องอาจจะเดินช้าก็ตาม

อาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ โรคสมองเสื่อมที่รักษาให้หายขาดได้ และโรคสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด

นายแพทย์อิทธิพล ตะวันกาญจนโชติ แพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา ที่มีความสนใจพิเศษเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ อธิบายว่า “ภาวะสมองเสื่อมชนิดที่รักษาได้นั้น ส่วนมากมักมาจากโรคทางกายซึ่งหลายครั้งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เช่น กลุ่มที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตัน (Vascular dementia) ซึ่งมีสาเหตุจากความดันไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร และดูแลร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย อาการคล้ายโรคสมองเสื่อมก็จะดีขึ้นหรือหายไป”

ส่วนภาวะสมองเสื่อมอีกแบบที่ไม่สามารถรักษาได้ มักเกิดจากพยาธิสภาพบางประการในสมอง “มีทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าความผิดปกติของสมองดังกล่าว เกิดจากการก่อตัวอย่างผิดปกติของโปรตีนอะไมลอยด์ในเนื้อสมองซึ่งในสมองคนสูงอายุทั่วไป สามารถพบโปรตีนดังกล่าวได้ แต่จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์”

ผู้สูงอายุที่อาจเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมควรดูแลตัวเองดังนี้ (ลูกหลานควรจะรับรู้เป็นอย่างยิ่ง)

  • กินอาการที่ดีเพื่อบำรุงสุขภาพ
  • ดูแลรักษาตัวเอง สุขภาพกายและใจ เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว
  • ฝึกสมองและใช้งานอย่างสม่ำเสมอ คนสูงอายุก็เหมือนรถเก่า จอดไว้นานๆ ทำให้เสื่อมสภาพไว หากไม่หมั่นสตาร์ทบ่อยๆ เครื่อง (สมอง) อาจไม่ทำงานอีกเลย รถที่พังจึงเปรียบเสมือนสมองที่เสื่อม ดังนั้นต้องฝึกใช้สมองอยู่เป็นประจำ เพื่อสมองจะได้แข็งแรงไม่เสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อมได้ง่าย

ต่อให้มีเทคโนโลยีที่ล้ำค้ำฟ้าขนาดไหน หากคนในครอบครัวไม่รักและไม่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะอ่อนหรือแก่ก็ย่อมไม่มีความสุข ท้ายที่สุดอาจกลายเป็นปัญหาของสังคม ลูกหลานนี่ละคือเครื่องมือที่ดีที่สุดที่สามารถเติมเต็มความรักและความอบอุ่นให้สังคมคนวัยชรา แก่ตัวเมื่อไหร่ก็เหมือนย้อนกลับไปวัยเด็กอีกครั้งพวกเขาจึงต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นธรรมดา

อ้างอิง: www.bumrungrad.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0