โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เทคนิคทำนาให้ลดต้นทุน

รักบ้านเกิด

อัพเดต 13 พ.ย. 2561 เวลา 03.19 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2561 เวลา 03.19 น. • รักบ้านเกิด.คอม

คุณอำนาจ สีบัวทอง  เกษตรกรนาอินทรีย์รุ่นใหม่วัย  36 ปี ผู้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำนา  และขยายกิจการนา ข้าว ซึ่งเป็นอาชีพของพ่อแม่  และของตัวเองออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง  โดยนอกจากทำนาแล้ว  ยังมีให้บริการรถเกี่ยวข้าว  บริการรถไถครบวงจร  แปรรูปข้าวสารขายเอง  รวมทั้ง  ปลูกผัก   เลี้ยงปลา  เขาเชื่อว่า เกษตรไม่ควรทำอะไรเพียงอย่างเดียว  ควรมีรายได้จากหลายช่องทาง  เผื่อพืชตัวไหนราคาตก  ก็ยังมีพืชตัวอื่นคอยเสริมได้

*ระยะเริ่มแรกที่ทำนา * คุณอำนาจก็ทำนาตามปกติแบบที่เคยทำตามกันมา เมื่อได้มีความรู้เพิ่มเติมจากการอ่าน การเข้าอบรม ก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำนาให้ลดต้นทุน เพื่อให้เหลือกำไร เนื่องจากเห็นว่าการทำนาปัจจุบันหากยังทำแบบเดิมจะมีต้นทุนการผลิตสูง เมื่อประสบกับภัยธรรมชาติ โรคและแมลงระบาด หรือ ราคาข้าวในท้องตลาดตกต่ำ จะทำให้ขาดทุน ไม่เหลือเงินเพียงพอในการทำนาในฤดูต่อไป ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาอีก จนกระทั่งปัจจุบันเขาสามารถจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกประเด็น ยกเว้นเรื่องระบบน้ำชลประทาน ซึ่งหากระบบชลประทานมีการจ่ายน้ำที่สอดคล้องกับการทำนาของเกษตรกรได้ทุกฤดูกาล ก็จะสามารถลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง

ขั้นตอนในการทำนาลดต้นทุนที่คุณอำนาจใช้  มีดังนี้

1.  การวางแผนการทำนา ก่อนการทำนาในแต่และฤดู จะมีการวางแผนการปลูก เริ่มตั้งแต่การนำดินไปตรวจวิเคราะห์ การเตรียมดิน พันธุ์ข้าวที่จะใช้ วันปลูก การใส่ปุ๋ย การฉีดยา และการเก็บเกี่ยว

2.   การเตรียมดิน ก่อนการเตรียมดิน จะนำดินไปตรวจวิเคราะห์ว่าในดินของเรามีธาตุอาหารอยู่มากน้อยเพียงใด เพื่อสามารถคำนวณการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับที่พืชต้องการ

1) ในการเตรียมดินก่อนการปลูก จะทำการหมักฟางโดยใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย หรือ พ.ด.2 ปล่อยไปตามน้ำเข้านาอัตรา 20  ลิตร/นา 5 ไร่   หมักไว้ 7-10 วัน

2) ใช้รถตีดินปั่นทิ้งไว้  3  วัน  แล้วทำเทือก

 

3.      การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์          

1) ก่อนการปลูก ทำการหาข้อมูลก่อนว่าตลาดช่วงนั้นต้องการข้าวพันธุ์อะไร
2) ตรวจว่ามีสิ่งเจือปน เมล็ดวัชพืชในเมล็ดพันธุ์ข้าวหรือไม่ หากมีคัดสิ่งเจือปนออกโดยการใช้สีฝัด หรือตะแกรงคัดแยกเมล็ดข้าว  3) ทดสอบความงอกของเมล็ดข้าวก่อนการปลูกจริง

4) เตรียมเมล็ดพันธุ์ในการหว่าน โดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์  5 กก./ไร่

4.  การดูแลปฏิบัติในแปลง

1) หลังการทำเทือกให้หว่านข้าวทันที เพื่อให้โคลนเคลือบเมล็ดข้าว ซ่อนนก/หนู ปล่อยทิ้งไว้จนน้ำในแปลงนาใส จึงปล่อยน้ำทิ้ง

2) ถ้าหากแปลงนาที่เคยมีวัชพืชขึ้นเยอะ ให้ใช้สารคุมวัชพืชไม่ให้วัชพืชงอก โดยหลังจากปล่อยน้ำแห้งให้ฉีดยาคุมวัชพืชทันที อย่าทิ้งไว้เกิน 2 วัน ไม่เช่นนั้นวัชพืชจะงอก ยาจะไม่ได้ผล

3) หลังจากหว่านข้าว 4-5 วัน ถ้าไม่มีวัชพืชขึ้น ปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ระดับน้ำประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อคุมวัชพืชอีกครั้ง จะเป็นการลดต้นทุนในการใช้สารคุมฆ่าวัชพืช

4) ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาอย่าให้แห้ง  จนกว่าข้าวจะอายุ 20 วัน  สังเกตสีใบข้าว ถ้ามีสีเขียวอ่อน ให้ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 สูตร 46-0-0 อัตรา 15 ก.ก./ไร่ หรือถ้าดินแปลงนาขาดฟอสฟอรัส  (จากผลการวิเคราะห์ดินก่อนการเตรียมดิน) ใส่ปุ๋ย 16-20-0 และ 46-0-0 โดยใช้ทั้งสองสูตรรวมกันในอัตรา 15 กก./ไร่ เพื่อให้ข้าวเจริญเติบโตดีขึ้น

5) หลังการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ให้ทำการสำรวจแปลงนาอย่าสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบดูโรค แมลงศัตรูพืช แมลงศัตรูธรรมชาติ หากไม่ระบาดมากตัวดีตัวร้ายยังสามารถควบคุมกันได้ก็ไม่ต้องฉีดยา

6) ให้ควบคุมระดับน้ำอย่าให้น้ำขาดกระทั่งข้าวอายุ 30-40 วัน จึงหยุดเติมน้ำ คือให้ลดระดับน้ำลงมาแค่ดินเปียกเพื่อให้ข้าวแตกกอ

7) เมื่อข้าวอายุประมาณ 40-60 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 โดยให้สังเกตข้าวว่ามีสีอ่อนหรือเขียวเข้ม    ถ้าเขียวเข้มยังไม่ควรใส่ปุ๋ยเพราะจะทำให้โรคและเมลงระบาด ถ้าข้าวใบสีเขียวอ่อน ใส่ปุ๋ย สูตร 18-5-20 หรือ 18-4-8  ซึ่งเป็นช่วงที่ควรเน้นให้ธาตุอาหารโปแตสเซียม เพื่อให้ต้นข้าวสะสมอาหาร สร้างรวง ถ้าดินของเรามีความอุดมสมบูรณ์มีอินทรีย์วัตถุเยอะ ใส่ปุ๋ยในอัตรา 20 กก./ไร่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0