โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เทคนิคการกระตุ้นยอดอ่อนผักหวานป่าเพื่อเก็บจำหน่าย

รักบ้านเกิด

อัพเดต 12 พ.ย. 2562 เวลา 01.46 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 01.46 น. • รักบ้านเกิด.คอม

ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ใบอ่อนรูปร่างเรียวแคบ ปลายใบแหลม สีเขียวอมเหลือง สามารถนำมาบริโภคได้ หรือนำมาแปรรูปได้หลากหลาย เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงจืด แกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง ชุบไข่ทอด ยำผักหวานป่า ฯลฯ ถือว่าเป็นพืชที่ได้รับความนิยมและให้คุณค่าทางโภชนาการมากมาย ผักหวานป่าจะปลูกมากในพื้นที่ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

คุณทุเรียน คชสีห์ เกษตรกรผู้ปลูกผักหวานป่าในตำบลสร่างโศก อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ได้ปลูกผักหวานป่ามานานกว่า 30 ปี และที่สวนผักหวานป่านั้นได้จัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีผักหวานป่าประจำตำบลสร่างโศก อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ให้ผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลเข้ามาดูได้ ผักหวานป่าเป็นพืชประจำถิ่นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน และสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ทนต่ออากาศ แต่การปลูกนั้นจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ที่สำคัญผักหวานป่าเป็นพืชที่กระทบกระเทือนกับรากไม่ได้ เมื่อรากของผักหวานป่าหัก ขาด หรือโดนกระทบกระเทือนแล้วจะชะงักการเจริญเติบโตและยืนต้นตายในที่สุดนั้นเอง สำหรับวันนี้ทางทีมงานร่วมด้วยช่วยกัน จ.สระบุรี ได้รับคำถามจากสมาชิกทางด่วนข้อมูลการเกษตร *1599 ต้องการทราบเรื่องการกระตุ้น หรือวิธีการเร่งยอดผักหวานป่าให้มียอดนอกฤดูนั้นสามารถทำได้หรือไม่ และวิธีการ และขั้นตอนต่างๆนั้นทำอย่างไร จึงได้มารบกวนคุณทุเรียน คชสีห์ เกษตรกรผู้ปลูกผักหวานป่า ร่วมพูดคุยเพื่อถ่ายทอดความรู้ผ่านทางรายการ Farmer Info ทางด่วนข้อมูลการเกษตร ช่วงคลินิกเกษตร ทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.สระบุรี

คุณทุเรียน คชสีห์ เกษตรกรผู้ปลูกผักหวานป่า กล่าวว่า ผักหวานป่าจะมีผลผลิตหรือยอดอ่อนได้ตลอดทั้งปี แต่อาจจะทำให้ต้นโทรมได้ แต่ถ้าต้องการกระตุ้นยอดอ่อนของผักหวานป่านั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถทำได้ดังนี้ เมื่อผักหวานป่าเจริญเติบโตเต็มแล้ว (อายุของผักหวานป่าที่สามารถเก็บยอดได้ อายุประมาณ 1-2 ปี ) เริ่มทำการตัดแต่งกิ่ง โดยหักปลายกิ่งแขนงทิ้ง โดยให้เหลือกิ่งแค่ 15-20 เซนติเมตร แล้วรูดใบแก่บางส่วนทิ้งไป โดยให้เหลือติดที่กิ่ง กิ่งละ 3-4 ใบเท่านั้น เมื่อทำการตัดแต่งกิ่งแล้วก็ให้น้ำ โดยการให้น้ำกับต้นผักหวานป่านั้นต้องรดน้ำแค่พอดินชื้น (อย่าให้น้ำขังหรือมากเกินไป จะทำให้รากเน่าได้) ให้น้ำจนกว่ายอดอ่อนจะแตกยอดออกมา ประมาณ 1 สัปดาห์ เริ่มมียอดอ่อนแตกออกมา เมื่อยอดอ่อนยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ก็สามารถตัดยอดอ่อนของผักหวานป่าและมัดเป็นกำ ส่งจำหน่ายได้ หลังจากนั้นควรดูแลต้นผักหวานป่าโดยการใส่ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยคอก ต้นละ 1-2 ปิ๊บ หว่านรอบโดนต้นในรัศมี 50 เซนติเมตร พร้อมกับให้น้ำ เพื่อบำรุงให้ต้นผักหวานป่าสมบูรณ์ ไม่โทรม และสามารถกระตุ้นยอดอ่อนนอกฤดูได้
หมายเหตุ : การให้ปุ๋ยต้นผักหวานป่า ควรทำในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่อง และห้ามใช้จอบขุดพรวนรอบโคนต้น เพราะรากของผักหวานป่าจะแพร่อยู่ใต้ดิน อาจจะกระทบกับรากของผักหวานป่า ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับต้นผักหวานป่าได้ และหากต้องทำการกำจัดวัชพืชรอบๆต้นผักหวานป่าให้ใช้วิธีการถอนหรือใช้มีดฟันในแนวราบเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนกับรากของผักหว่านป่านั่นเอง
เรียบเรียงโดย : เพิก กองศรี เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกัน จังหวัดสระบุรี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0