โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เถียงไปเถียงมา! "ระฆัง" วัดพระแก้ว เอามาจากไหนกันแน่?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 07 พ.ย. 2564 เวลา 12.01 น. • เผยแพร่ 05 พ.ย. 2564 เวลา 16.47 น.
ระฆังวัดพระแก้ว

หอระฆังที่เห็นในภาพเป็น หอระฆัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้รับการยกย่องว่าเป็นหอระฆังที่มีรูปทรงงดงาม ฝีมือการประดับกระเบื้องก็ประณีต ตามประวัติกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้รื้อหอระฆังที่สร้างไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ 1 แล้วสร้างใหม่ในที่เดียวกัน ในหนังสือจดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในการฉลองพระนครครบรอบ 200 ปี พุทธศักราช 2525 (กรมศิลปากร) ได้อธิบายต่อไปอีกว่า ในครั้งนั้น

“ให้แขวนระฆังซึ่งขุดพบคราวทรงปฏิสังขรณ์วัดระฆังโฆษิตามราม กล่าวกันว่าเป็นระฆังที่มีเสียงกังวานไพเราะอย่างยิ่ง”

เรื่องระฆังนี้เป็นปัญหา เพราะมีกล่าวไว้ไม่ตรงกัน ฝ่ายวัดระฆังโฆสิตารามก็ว่าเอามาจากวัดระฆัง ฝ่ายวัดสระเกศก็ว่าเอามาจากวัดสระเกศ จะจริงเท็จอย่างไรก็ไม่ทราบ บางทีอาจจะเป็นระฆังที่เอามาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ครั้นรื้อหอระฆังสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ก็อาจเปลี่ยนระฆังด้วยหรือเปลี่ยนมาก่อนนั้นก็ได้ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะมีกลอนเพลงยาวของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ กล่าวถึงระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดารามตอนหนึ่งว่า

“ถึงจะทุ่มหนักเบาก็บันดาล
ส่งกังวานเสนาะลั่นไม่พลิกแพลง
แต่แรกหล่อมาก็นานจนปานนี้
สิบเจ็ดปีที่เป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสง”

กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2344-2399) ฉะนั้นที่กล่าวว่าระฆังหล่อมาได้นาน 17 ปี จึงเป็นระฆังที่หล่อใหม่อย่างแน่นอน ไม่ใช่ระฆังที่วาเอามาจากวัดสระเกศหรือวัดระฆังที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะหล่อไว้เมื่อไรไม่พบหลักฐาน

ผู้ที่รู้เรื่องการหล่อระฆังอีกคนหนึ่งก็คือ นายมี กวีมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เขียนจดหมายเหตุพรรณนาถึงระฆังวัดพระแก้วไว้ตอนหนึ่งว่า

“องค์ระฆังแขวนห้อยร้อยเหล็กห่วง อยู่กลางดวงดาวยาววา ๑ ถึงคอเหล็กล้วนปิดทอง ลงมาคล้องหน่วงห่วงนาคหลังระฆังทองหล่อปากแลคอค่างแลขอบรอบไปล้วนใสขัดหมดจด ผ้าพาดและรัดประคดแลปุ่มนั้นปิดสุวรรณคำเปลวล้วน โดยส่วนสูงศอกคืบ ๕ นิ้ว กว้างศอก ๔ นิ้ว ขึ้นลอยลิ่วลั่นชื่อลือเสียงสำเนียงเสนาะ เมื่อถึงยามย่ำบันเดาะเพราะดังเป็นกังวาน วิเวกหวานวังเวงเง่งแว่วเข้าแก้วหู เป็นที่ชูชื่นใจไพร่ฟ้าวงศาสุรศักดิ เคยประจักษ์จำสำเหนียกสำเนียงไก่เมื่อตี ๑๑…”

และอีกตอนหนึ่งเล่าประวัติว่า

“ด้วยเดิมที่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรอนันตคุณวิบุลเลิศฟ้าที่ล่วงแล้วนั้นทรงหล่อ พร้อมด้วยพระหน่อสุริวงเสนาองคนางใน ถอดกำไลแหวนทองแลเงินแลนากนั้นหลากหลาย ใส่ละลายหล่อหลอมพร้อมเพรียงเสียงจึงดี ด้วยพระบารมีภินิหารอันทรงหล่อต่อตั้ง มาครั้งนี้เล่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรวิริยาทึก โดยลึกซึ้งแสนละเอียดสุขุมภาพมาทรงปฏิสังขรณ์ ก็ยิ่งวัฒนาถาวรวิจิตรโจกระฆังทั้งจังหวัด คู่บารมีพระศรีรัตนปฏิมากรมรกฏ ซึ่งพระอินทรองค์ทรงรจนามาแต่งตั้ง ใครได้ฟังก็เป็นมงคลควรเงี่ยหูชื่นชูใจ”

ตามประวัติอาจเป็นได้ว่าระฆังได้หล่อเมื่อรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความก็ดูเกี่ยวข้องกันดี สรุปว่าเรื่องระฆังที่เล่ากันมาดังกล่าวข้างต้นไม่เป็นความจริง

ที่มา: คอลัมน์ “รูปเก่าเล่าเรื่อง” โดย ส.พลายน้อย เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 23 เมษายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0