โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เต้านมผู้หญิง อย่างไรจึงสวย? วิเคราะห์ถอดแก่นจากบทชมความงามในวรรณคดี

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 05 ก.ย 2564 เวลา 09.12 น. • เผยแพร่ 05 ก.ย 2564 เวลา 07.00 น.
จิตรกรรม ความรัก ผัวเมีย

ในบทชมความงามของนางต่างๆ ในวรรณคดีไทยเรานั้น ส่วนมากท่านจะชมอย่างหลวมๆ, ไอ้โน่นนิด ไอ้นี่หน่อย แล้วก็สรุปว่า “งามอย่างนางฟ้า” บ้าง, “นางในใต้ฟ้าไม่มีสอง” บ้าง, “นางในธรณีไม่มีเหมือน” บ้าง, “นางในกรุงศรีไม่มีเทียม” บ้าง, “งามสิ้นสารพางค์” บ้าง, “สวยบาดตา” บ้าง, เช่น

นางจันท์สุดา (บทละคอนเรื่องคาวี) :-

“พระพินิจพิศโฉมจันท์สุดา    นางในใต้ฟ้าไม่มีสอง
ผิวเนื้อเรื่อเหลืองเรืองรอง    พักตร์ผ่องเพียงดวงจันทรา
อรชรอ้อนแอ้นเอวองค์       เนตรขนงน่ารักเป็นหนักหนา”.

นางรจนา (สังข์ทอง) :-

“พิศโฉมพระธิดาวิลาวัณย์            ผุดผาดผิวพรรณดังดวงเดือน
งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์     นางในธรณีไม่มีเหมือน”.

นางพิมพิลาไลย (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“เณรใจบึกบึกนึกเป็นครู่           เหมือนเคยเล่นกับกูกูจำได้
ชื่อว่าสีกาพิมพิลาไลย             สาวขึ้นสวยกะไรเพียงบาดตา”.

นางศรีมาลา (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“คนนี้แน่แล้วที่เราฝัน             รูปโฉมโนมพรรณหาผิดไม่
น้องเอ๋ยรูปร่างช่างกะไร          นางในกรุงศรีไม่มีเทียม”.

เมื่อท่านไม่กล่าวถึงอย่างนี้ ก็ยากที่จะวิเคราะห์ ว่าอย่างไรจึงสวย.

อย่างนางบุษบาที่ว่ากันว่าสวยๆ ก็เหมือนกัน, ท่านก็ชมอย่างรวบๆ ว่า :-

“พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง       ดังดวงจันทร์วันเพ็งประไพศรี
อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์              ดังกินรีลงสรงคงคาไลย
งามจริงพริ้งพร้อมทั้งสรรพางค์       ไม่ขัดขวางเสียทรงที่ตรงไหน”.

นางจินตะหราก็เช่นกัน :-

“ดวงเอ๋ยดวงยิหวา                  งามอย่างนางฟ้ากระยาหงัน
นวลละอองผ่องพักตร์ผิวพรรณ   ดังบุหลันทรงกลดหมดมลทิน
งามเนตรดังเนตรมฤคมาศ        งามขนงวงวาดดังวงศิลป์
อรชรอ้อนแอ้นดังกินริน          งามสิ้นทุกสิ่งพริ้งพร้อม”.

นางเกษรา (พระอภัยมณี) :-

“ดูจิ้มลิ้มพริ้มเพราดังเหลาหล่อ       พระทรวงศอสองขนงดังวงศิลป์
นวลละอองสองปรางอย่างลูกอิน    ช่างงามสิ้นสารพางค์สำอางองค์”.

แต่ก็มีบางบท ที่ท่านกล่าวอย่างรวบรัด แต่ก็เห็นความสวยและความตึง-เต่ง. เช่น

นางบุษมาลี (รามเกียรติ์ ร. ๒) :-

“ทรงโฉมประโลมเลิศลักขณา        พักตราจิ้มลิ้มยิ้มแย้ม
ผิวเนื้อนวลละอองเป็นสองสี        โอษฐนางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม
ขอบขนงก่งเหมือนดังเดือนแรม    ทั้งสองแก้มเพียงพระจันทร์วันเพ็ง
เอวบางร่างรัดกำดัดสวาท          ผุดผาดสารพัดครัดเคร่ง”.

อย่างนี้ไม่ใช่ “ตึง” เป็นบางส่วน, แต่ตึงทั้งตัว.

มีบ้างเหมือนกันที่ท่านกล่าวถึง, แต่บอกแต่ว่า “งาม”, ไม่รู้งามอย่างไร เช่น

นางมณโฑ (รามเกียรติ์ ร. ๑) :-

“พินิจพิศทั่วทั้งอินทรีย์            มีลักษณ์พริ้มพร้อมวิไลวรรณ
งามพักตร์งามขนงงามเนตร     งามเกศงามจุไรงามถัน
งามโอษฐ์งามแก้มงามกรรณ    งามพรรณผิวเนื้อดังทองทา”.

มีเป็นอันมากที่กล่าวถึง และเอาไปเปรียบกับดอกบัว เช่น

พระเพื่อนพระแพง (พระลอนรลักษณ์) :-

“โอษฐ์นางอย่างสีลิ้นจี่จิ้ม       งามพริ้มเพราสมคมสัน
เกษาดำระยับขลับเป็นมัน      ทนต์นั้นเทียมสีมณีนิล
สองถันสันทัดสัตบุษ            เพิ่งผุดพ้นท่าชลาสินธุ์
ขึ้นบังใบใสสดหมดมลทิน     ภุมรินมิได้มาใกล้เคียง”.

นางแก้วดารา (รามเกียรติ์ ร. ๑) :-

“พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งดวงจันทร์    พิศขนงดั่งคันธนูศิลป์
พิศเนตรดั่งเนตรมฤคิน                พิศทนต์ดั่งนิลอันเรียบราย
พิศโอษฐโอษฐเอี่ยมดั่งจะแย้ม       พิศนาสิกแสล้มเฉิดฉาย
พิศปรางดั่งปรางทองพราย          พิศกรรณคล้ายกลีบบุษบง
พิศถันดั่งดวงประทุมาศ              พิศศอวิลาศดั่งคอหงส์
พิศกรดั่งงวงคชาพงศ์                 พิศทรงทรงงามจำเริญตา”

นางมิสาประหมังกุหนิง (ดาหลัง) :-

“นวลละอองผ่องแผ้วเพียงจันทร์     เมื่อวันเพ็งเปล่งเปรื่องไม่ราคิน
พิศเกศดังปีกแมลงทับ                 จุไรรับกับขนงดังก่งศิลป์
นาสาดังขอคชรินทร์                   เนตรน้องดังนิลมณีดี
โอษฐ์พริ้มตะละชาดแต้ม            ยิ้มแย้มดังสลับทับทิมสี
พระทนต์เรียงเรียบระเบียบดี      เป็นแสงสีดำขลับระยับตา
กรรณน้องดังกลีบบุษบง           ศอกลมสมทรงดังเลขา
เต้าตั้งดังดอกประทุมา             กลิ่นกล้าขึ้นพ้นชลที
กรน้องดังงวงไอยเรศ              เมื่อประเวศกระหวัดหญ้าพนาศรี
นิ้วหัตถ์งามแฉล้มแช่มช้อยดี     ทั้งอินทรีย์สมควรเร่งยวนใจ”.

นางบุษมาลี (รามเกียรติ์ ร. ๑) :-

“เห็นนางทรงลักษณ์วิไลวรรณ       ผิวพรรณเพียงเทพอัปษร
พักตร์ผ่องดังดวงศศิธร              แน่งน้อยอรชรทั้งอินทรีย์
ขนงก่งค้อมดังวาด                  โอษฐ์เอี่ยมดังชาดเฉลิมศรี
นัยน์เนตรเพียงเนตรมฤคี          ปรางเปรียบมณีพรายพรรณ
ลำคอดั่งคอราชหงส์               เอวองค์ดังกินรีสวรรค์
สองกรดังงวงเอราวัณ             สองถันดังดวงประทุมทอง”.

นางกากี (กากีคำฉันท์) :-

“กรคืองวงคช นิ้วน้อยช้อยชด นะแน่งน้อยทรง
วรลักษณ์สรัพสรรพ์  พิศถันคือบง- กชมาศผจง ตูมเต่งดวงมาลย์”

นางลาวทอง (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“เต้าตั้งดังดอกประทุมา     เมื่อกลีบแย้มผกาเสาวคนธ์”.

นางสร้อยฟ้า (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“นางโฉมยงองค์นี้เป็นลูกหลวง
พึ่งเป็นสาวรุ่นร่างกระจ่างดวง     ดูสองถันนั้นเป็นพวงผกาทิพย์
เหมือนโกมุทเพิ่งผุดหลังชลา      พอต้องตาเตือนใจจะให้หยิบ”

สวยอย่างไรหรือ นมเหมือนดอกบัว. ลองตัดดอกบัวครึ่งดอกแล้วเอาตั้งบนอกราบๆ ดูซิ ว่ามันงามอย่างไร, เห็นได้แต่ความตูมตั้งอย่างเดียว. แต่เนื้อหนังมังสาของคนนั้นมันไม่อำนวยให้เป็นเช่นนั้น.

และก็มีไม่น้อย ที่ชมตรงๆ ตามธรรมชาติ เช่น

ธิดาท้าวมคธ (เสือโคคำฉันท์) :-

“ดวงนมอันครัดเคร่ง       ตเต้าเต่งทั้งสองสม
แน่งนวยสลวยกลม        ศุภสวัสดิไพบูลย์”

นางเมรี (กาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ) :-

“พิศเนื้อเนื้อเกลี้ยง  พิศนมนมเพียง  เต่งเต้าตรึงตรา”.

นางประทุมวดี (ลิลิตเพ็ชรมงกุฎ) :-

“โอษฐเสียวสรวลว่าแย้ม     ยวนรับ
ศอดั่งศอหงส์ขยับ           ปีกหร้อน
ถันายุคลาคับ                ทรวงเต่ง เต้าแม่
สรัพสรรพางค์อ่อนอ้อน   นิ่มเนื้อนวลผจง”

นางวิมาลา (ไกรทอง) :-

“สองเต้าเต่งตั้งอยู่ทั้งคู่     พิศดูนงรามงามขำ
ดูสง่าน่าเล่นเคล้นคลำ    จับจูบลูบทำให้อิ่มใจ”

 

นางพิมพิลาไลย (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“ว่าพลางเกลียวกลมสมสนิท     กอดชิดจูบถนอมหอมกระแจะ
เต้าเคร่งเต่งตั้งดังจะแยะ        เลียมและโลมลูบให้หลับพลัน”

นางสายทอง (ขุนช้าง-ขุนแผน) :-

“จูบแก้มแนมนมขยำยั้ง          เต้าตั้งเต่งโตอล่างฉ่าง
เอนเอียงเคียงกอดสอดนาง     เป่ามนต์พลางลูบหลังให้ลานใจ”

ดังได้กล่าวแล้ว ว่านมคนนั้นเป็นเนื้อหนังมังสา จะให้ตั้งเด๊ะอย่างดอกบัวนั้นย่อมไม่ได้, ยิ่ง “เต่งโต” ด้วยยิ่งแล้ว, ย่อมมีน้ำหนักถ่วงให้คล้อย. เช่นนั้น นมที่สวยตามธรรมชาติ (ไม่ใช่ฉีด) เต้าจะต้องคล้อยลงหน่อยหนึ่ง แล้วปลายเต้าช้อนหัวนมงอนขึ้นนิดๆ ดังในขุนช้าง-ขุนแผนกล่าวไว้ :-

“ขอโทษพี่เถิดเจ้าจงเอาบุญ อย่าเคืองขุ่นคั่งแค้นเฝ้าแหนหวง
นมเจ้างอนงามปลั่งดั่งเงินยวง ประโลมล่วงน้องหน่อยอย่าน้อยใจ”

นอกจากงอนขึ้นแล้ว, ยังจะต้องเบนออกจากกันอีกด้วย ดังใน“วนวัลลรี” ของ “แสงทอง” บอก :-

“พระอุรภาคซึ่งพระเต้าสตันตึง เบ่งเบนออกจากกันน้อยๆ คล้ายสาวสองพี่น้องแหนงใจกัน”.

ใช่แต่เท่านั้น ยังต้องประกอบด้วย “ฐาน”, คือฐานนมทั้งสองเต้าต้องชิดกัน ดังในสมุทรโฆษว่า :-

“สองนมชชิดวิจิตรใน     อกอาสน์แก้วโฉมเฉลา”.

ยิ่งเบียดชิดกันขนาดทัดดอกไม้ได้ยิ่งดี ดังในขุนช้าง-ขุนแผนพรรณนา :-

“ใส่ตุ้มหูซ้ายขวาระย้าย้อย เอวบางร่างน้อยนมถนัด
ดังประทุมตูมเต่งเคร่งครัด จำปาทัดถันได้ไม่ลอดทรวง”

ใน “อลิจุมพิตา” ของ “แสงทอง” ก็กล่าวสอดคล้องในข้อนี้ :-

“บัวแดงดอกเดียวสีดังโลหิต เสียบก้านอยู่หว่างหนีบแห่งความนูนของสองนม”.

นมที่เต่ง-โต โดยฐานไม่ชิดกันนั้น ก็เรียกได้ว่านมโตเท่านั้น, ไม่ใช่นมสวย (จงจินตนาการดูว่า โตชิดกับโตห่างนั้นต่างกันอย่างไร).

สรุปแล้ว นมสวยคือนมที่ตั้งเต้าตูมเต่งจนฐานนมชิดกัน และปลายเต้าคล้อยลงนิดๆ หัวนมงอนขึ้นหน่อยๆ และเบนออกจากกันน้อยๆ.

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาออนไลน์เมื่อ 24 กันยายน 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0