โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เตือน "เมาขับ” ไม่ยอมเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์เจอ 3 ข้อหา

Thai PBS

อัพเดต 01 ม.ค. 2561 เวลา 09.59 น. • เผยแพร่ 01 ม.ค. 2561 เวลา 09.59 น. • Thai PBS
เตือน

วันนี้ (1 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้โพสต์ข้อความกรณีมีภาพข่าว ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง กรณีพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้ขับขี่รถยนต์รายหนึ่ง เป่าเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ หลังขับรถยนต์เข้ามาด่านตรวจแต่ขัดขืนด้วยการไม่ยอมเป่าเครื่องวัดให้ถูกวิธี และอ้างเหตุผลต่างๆ นานกว่า 30 นาที ซึ่งจากการตรวจสอบภายในรถ พบขวดเหล้าถูกดื่มไปแล้วครึ่งขวด และต่อมาได้มีการส่งตัวชายดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น

กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอเรียนชี้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวไปฟ้องต่อศาลแขวงดอนเมืองแล้ว ปรากฏรายละเอียดดังนี้ ในคำฟ้องของพนักงานสอบสวน ได้ระบุว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหา เป็นการกระทำความผิด 1.ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุรา ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2542 มาตรา 43 (2) ซึ่งห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น โดยบทกำหนดโทษเป็นไปตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้น มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

2. ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้ทำการทดสอบผู้ขับขี่ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 142 วรรคสอง ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ โดยบทกำหนดโทษเป็นไปตาม มาตรา 154 (3) ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 142 วรรคสอง ต้องระวางปรับครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท 

ทั้งนี้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2542 มาตรา 142 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้น้ันยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้น้ันฝ่าฝืน มาตรา 43 (2) (สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นขับขี่รถในขณะเมาสุรา แม้ไม่ยอมทดสอบ)

เจอจำคุก 2 เดือน-คุมประพฤติ-ยึดใบขับขี่

โดยพนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดของชายคนดังกล่าวโดยละเอียด และได้เสนอให้ศาลพิจารณาสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งภายหลังจากศาลได้สอบคำให้การ และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษา ดังนี้ 1.จำคุก 2 เดือน และปรับ 20,000 บาท ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุรา 2.ปรับ 1,000 บาท ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน ปรับ 2 ข้อหารวม 10,500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี

นอกจากนี้ยังพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 6 เดือน นอกจากนี้ ให้คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 1 ปี, ให้บำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง, เข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับจราจร 1 ครั้ง, ห้ามออกจากที่พัก ระหว่างเวลา 22.00 น.-04.00 น. เป็นเวลา 15 วัน ทั้งนี้ได้มีการติดเครื่องติดตามบุคคลที่บริเวณข้อเท้าสำหรับคุมประพฤติจำเลยรายดังกล่าว เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัดอีกด้วย

กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงเรียนชี้แจงมายังพี่น้องประชาชนให้ทราบถึงข้อกฎหมายและโทษที่เกี่ยวข้องกับกรณีการขับรถในขณะเมาสุราและการขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานให้ทำการทดสอบ และขอรณรงค์พี่น้องประชาชนให้ช่วยกันลดอุบัติเหตุทางท้องถนนในช่วงเทศกาลโดยการ เมาไม่ขับ ไม่ขับเร็ว และปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0