โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เตือนภัยทองโคลนนิ่งระบาด ซื้อทองแท่ง ซื้อทางออนไลน์ ระวังเจอยัดไส้

Manager Online

เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 11.27 น. • MGR Online

สถาบันอัญมณีฯ ออกโรงเตือนภัย “ทองโคลนนิ่ง” ระบาด พบใช้โลหะที่มีน้ำหนักเท่าทองหรือทองเหลืองมาชุบทอง แล้วขายเป็นทอง เผยเจอบ่อยในทองคำแท่ง หลังคนนิยมซื้อเก็บ ไม่เว้นกระทั่งพระเก่า หรือการซื้อทางออนไลน์ ที่มักนำทองโคลนนิ่งมาขาย แนะตรวจสอบก่อนซื้อ ร้านค้าได้ตรารับรอง BWC หรือมีตรา Hallmark หรือไม่ แต่ถ้าเอาให้ชัวร์ ต้องส่งตรวจห้องแลปที่เชื่อถือได้

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้เริ่มมีการนำทองคำที่เรียกกันในวงการว่าทองโคลนนิ่ง ซึ่งเป็นทองคำแท้ แต่ด้านในเป็นของปลอม โดยนำเอาโลหะที่มีน้ำหนักเท่าทอง หรือใช้ทองเหลืองมาชุบทองคำแท้ๆ แล้วนำไปขายเป็นทองคำ เมื่อทำการตรวจสอบด้วยการตะไบ ก็จะเห็นว่าเป็นทองคำจริง เพราะได้ชุบไว้หนามาก หรือตรวจสอบด้วยระบบเลเซอร์ ก็ไม่สามารถยิงทะลุเนื้อทองคำลงไปจนเห็นถึงวัสดุแปลกปลอมด้านในได้

“ขณะนี้ พบมีการระบาดในส่วนของการขายทองคำแท่ง ที่มีการทำปลอมกันมาก โดยวิธีการ จะใช้แร่ทังสเตน ซึ่งปกติถูกนำไปใช้งานไฟฟ้าโดยเฉพาะไส้หลอดไฟฟ้า และการผลิตโลหะผสม นำมาทำเป็นก้อนไว้ด้านใน เพราะน้ำหนักใกล้เคียงกับทองคำ แล้วเอาไปชุบทองคำ เมื่อตรวจสอบดูผิวเผิน ก็ดูไม่ออก หรือบางทีพบใช้ตะกั่ว หรือทองเหลือง ซึ่งสีเดียวกับทองมาใช้ ทำให้ตรวจสอบได้ยาก”

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้วิธีการชุบทองกับพระพุทธรูปบูชา ที่ทำจากทองคำ แล้วนำออกขายว่าเป็นทองคำแท้ทั้งองค์ และยังพบกรณีร้านทองบางร้าน ที่นำทองคำมาขายแบบออนไลน์ ซึ่งได้ใช้วิธีการแบบนี้มาขาย ทำให้ขายทองคำได้ในราคาถูกกว่าปกติ ทำให้มีลูกค้าหลงเข้าไปซื้อกันเป็นจำนวนมาก เพราะการตรวจสอบด้วยวิธีปกติ หรือใช้เลเซอร์ส่อง ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

นางดวงกมลกล่าวว่า แนวทางการป้องกัน ผู้บริโภคจะต้องตรวจสอบก่อนซื้อทองคำว่าร้านค้าที่ซื้อนั้น เป็นร้านค้าที่ได้รับการรับรอง และมีใบรับรองซื้อด้วยความมั่นใจ (BWC) หรือไม่ หรือสินค้ามีเครื่องหมายตราสัญลักษณ์การรับรองมาตรฐาน หรือ Hallmark ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัมหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ถูกต้อง และอีกสิ่งที่ต้องสังเกต คือ หากเป็นทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ สินค้าจะมีลักษณะใหญ่ผิดปกติ เพราะวัสดุด้านในที่นำมาใช้ ไม่ใช่ทองคำและมีน้ำหนักไม่เท่าทองคำ หรือราคาถูกกว่าปกติ เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่จะลดราคาได้ถูกเกินไป

ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการตรวจสอบทองคำแท่ง หรือทองคำที่ตัวเองมีอยู่ หรือซื้อมาแล้ว สามารถนำมาตรวจสอบได้ที่ห้องแลปของสถาบันอัญมณีฯ เพราะมีระบบตรวจสอบแบบใช้คลื่นอัลตร้าโซนิก ที่สามารถตรวจสอบได้ถึงวัสดุด้านใน และสามารถตรวจสอบได้ชัดเจน 100% ซึ่งปัจจุบัน ก็มีคนนำสินค้ามาให้ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และหลายๆ กรณี พบว่า ทองคำที่เป็นสมบัติเก่าแก่ หรือสมบัติตระกูล กลับพบว่า เป็นทองคำปลอม จึงอยากเชิญชวนให้นำมาตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจในสมบัติที่มีอยู่จะดีกว่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0