โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เตือนภัยกลลวง ล้วงเงินคนแก่ !

Money2Know

เผยแพร่ 21 ต.ค. 2561 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
เตือนภัยกลลวง ล้วงเงินคนแก่ !

เสียดายว่า ละคร “ริมฝั่งน้ำ” ที่เคยเขียนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะมาต่อในสัปดาห์นี้ เพิ่งจะอวสานไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโตอะไรค่ะ เพราะประเด็นที่จะพูดถึงละครน้ำดีอย่าง “ริมฝั่งน้ำ” นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Money Care ในวันนี้เท่านั้น ดังนั้น ใครที่ไม่เคยดูละคร ก็ถือว่าไม่ได้เสียหายอะไร ยังอ่านได้โดยเฉพาะคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณ หรือรุ่นลูกรุ่นหลานที่มีผู้ใหญ่วัยเกษียณที่ต้องคอยดูแล

ต้องบอกว่า ที่ฉุกคิดและหยิบมาเขียนเป็นบทความให้ได้อ่านกันในวันนี้ มาจากบทเล็กๆ ที่แทรกในละคร ซึ่งดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร แต่เป็นเรื่องจริงในยุคโซเชียลที่ผู้ใหญ่วัยเกษียณต้องระมัดระวังกับ “เงินก้อนสุดท้าย”ในชีวิตให้มากๆ ค่ะ

ละครเรื่องนี้ เป็นละครที่ว่าด้วยการอยู่รวมกันของผู้ใหญ่วัยเกษียณ ในสถานดูแลคนชราที่ชื่อ “บ้านร่มไม้”แน่นอนว่า การเข้ามาอยู่ใน “บ้านร่มไม้” ซึ่งเป็นธุรกิจเอกชนที่นางเอกของเรื่อง “วีนัส” เป็นผู้บริหารจัดการนั้น คนที่จะเข้ามาอยู่ได้ย่อมต้องมีฐานะ มีสตางค์พอจ่าย ไม่ใช่สถานสงเคราะห์ของรัฐที่ลูกหลานหาเช้ากินค่ำพาพ่อแม่มาฝากหรือบางรายต้องใช้คำว่า“ทอดทิ้ง”ให้ภาครัฐดูแล ดังนั้น ผู้ใหญ่ในบ้านร่มไม้ จึงมีทั้งเจ้าของธุรกิจใหญ่โตที่อยากมีเพื่อนวัยเดียวกัน มีทั้งอดีตข้าราชการระดับอธิบดี มีทั้งคุณแม่ของหมอ คุณแม่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ใหญ่บางท่านที่ไม่มีลูกไม่มีหลานแต่มีเงินเก็บ มาอยู่รวมกันกับเพื่อนวัยเดียวกัน ย่อมดีกว่าอยู่บ้านเหงาๆ คนเดียว

“ริมฝั่งน้ำ” จึงเป็นละครสะท้อนสังคม “ผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นสังคมปัจจุบันได้ดี

ส่วนบทเล็กๆ ที่แทรกในละครเรื่องนี้ มาจากลูกสะใภ้ของคุณยายท่านหนึ่งที่อาศัยใน “บ้านร่มไม้” จะใช้วิธีเข้าไปคลุกคลีกับคุณย่าคุณยาย (สังเกตว่าจะเลือกเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหญิงเท่านั้น) แรกๆ ก็แกล้งโทรศัพท์คุยกับใครไม่รู้เรื่องลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนสูงๆ หลังจากนั้นเวลามาเยี่ยมแม่ผัว ก็จะใส่ทองหยองมาเต็มตัวแล้วโอ้อวดว่า เป็นทองที่ได้จากการลงทุน จากนั้นก็เริ่มชักชวนให้คุณย่าคุณยายลงทุนในทอง ครั้งแรกๆ จะบอกว่าไม่ต้องมาก ลองดูก่อนว่าได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า “ย่อมต้องได้คืนอยู่แล้ว” (แต่มารู้ทีหลังว่า เงินจริงแต่แลกกับทองปลอมทั้งนั้น) ส่วนครั้งหลังสุด ก่อนที่ลูกสะใภ้มหาภัยจะหายเข้ากลีบเมฆนั้น คุณย่าคุณยายบางท่านหมดเงินไปถึงครึ่งล้านบาท!

มีข้อสังเกตอยู่ 3 ประการในละครที่สอดคล้องกับเรื่องจริง

หนึ่ง : มิจฉาชีพ (ซึ่งก็คือลูกสะใภ้ของคุณยายท่านหนึ่งในบ้านร่มไม้) จะเข้าหาเฉพาะ “ผู้สูงอายุหญิง” ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นแม่บ้าน ดูแลลูก ดูแลสามีมาเกือบตลอดชีวิต และจะพยายามกีดกันไม่ให้คุณย่าคุณยายไปคุยเรื่อง “ลงทุนทอง” กับคุณปู่หรือคุณตาที่เป็นนักธุรกิจ หรือเป็นข้าราชการระดับสูงที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน

สอง : มิจฉาชีพเลือกใช้ทรัพย์สินล่อใจ คือ “ทองคำ” ซึ่งเป็นทรัพย์สินยอดนิยมสำหรับผู้สูงอายุ !

และสาม : มิจฉาชีพจะใช้วิธีจูงใจด้วยการเอาผลตอบแทนสูงๆ มานำเสนอเสมอ

ดิฉันลองเข้าไปดูข้อมูลจากสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลโกงการเงินในรูปแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อแบ่งตามการศึกษา กลุ่มความรู้และฐานะแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มแรก คือกลุ่มเกษตรกรมิจฉาชีพจะนำการปลูกมันสำปะหลัง ข้าวสาร ต้นหม่อนมัลเบอร์รี่ ซึ่งเป็นสินค้าที่เกษตรกรรู้จัก คุ้นเคย ทำให้ถูกหลอกได้ง่าย และมักจะใช้กรณีฌาปนกิจสงเคราะห์มาหลอกล่อ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีความเดือดร้อนอยู่แล้ว คิดว่าเงินตรงนี้จะมาเติมเต็มชีวิตได้ ทำให้หลงเป็นเหยื่อได้

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งอยู่กับโลกอินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์ กลุ่มนี้มักจะถูกหลอกเรื่องการลงทุน เช่น หลอกลงทุนในหุ้น หุ้นต่างประเทศ สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งบางกลุ่มจะไปรู้จักธุรกิจที่เหมือนขายตรง มีการสร้างทีม แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่จะใช้แผนธุรกิจขายตรงมาใช้

และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มข้าราชการ หรือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปซึ่งมักจะถูกหลอกให้ลงทุนในทองคำในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่การซื้อทองคำที่จับต้องได้ตามปกติ เช่น การซื้อขายทองคำในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่มีกฎหมายรองรับ

ขณะที่รายงานข่าวจากสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน (สพช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า สถิติประชาชนเข้ามาร้องเรียนปัญหาแชร์ลูกโซ่ และอาชญากรทางการเงินในช่วง 7 เดือนปี2561 ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม ยังคงมีจำนวนสูงมากกว่า 200ครั้ง สร้างความเสียหายแก่ประชาชนหลายร้อยล้านบาท

ที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกหลอก จะเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาในระดับดี เป็นข้าราชการ และเป็นพนักงานบริษัทมากขึ้น ต่างจากเดิมที่ส่วนใหญ่จะผู้ถูกหลอกจะเป็นกลุ่มชาวบ้าน เนื่องจากกลุ่มมิจฉาชีพจะจูงใจด้วยการนำเสนอผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงจากการลงทุนในตลาดหุ้น สกุลเงินดิจิทัล ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความโลภจนหลงเชื่อลงทุน ที่สำคัญ ยังพบว่าวงเงินที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ความเสียหายรุนแรงมากขึ้นจากเดิมมีการถูกหลอกกันหลักหมื่นถึงแสนบาท แต่ปัจจุบันความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นตั้งแต่รายละ 1 ล้านบาท หรือถึงขนาดหลักสิบล้านบาทก็ยังมี

ตรงนี้น่าจะสอดคล้องกับความเป็นห่วงของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เคยเตือนไว้ก่อนหน้านี้ถึงพฤติกรรม “แสวงหาผลตอบแทน” หรือ Reach for Yield ไปจนถึง “ไล่ล่าผลตอบแทน” หรือ Hunt For Yield จากภาวะดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ทำให้ผู้สูงอายุที่มีสตางค์และพึ่งพาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต้องหันเหียนไปหาผลตอบแทนที่มากกว่า

พฤติกรรม “ล้วงเงินคนแก่” โดยกลลวงของมิจฉาชีพจึงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0